โบรก คาดกนง.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ปลายไตรมาส3 หรือไตรมาส4/65

โบรก คาดกนง.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ปลายไตรมาส3 หรือไตรมาส4/65

บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี ชี้เดือนมิ.ย เงินเฟ้อสูง กดดันกนง.ขึ้นดบ.0.25% กระทบดัชนีหุ้นไม่มากนัก“ตลท.”เชื่อเศรษฐกิจไทย-หุ้นไทย ยังน่าสนใจ ดึงดูดฟันด์โฟลว์ บล.เอเซียพลัส คาด ขึ้นปลายไตรมาส3 ฉุดหุ้นร่วง 88 จุด บล.กสิกรไทย ชี้ สัปดาห์หนี้มีโอกาสดัชนีปรับฐานที่ 1,610 จุด

กระทรวงพาณิชย์ประกาศตัวเลขเงินเฟ้อของไทยเดือนพ.ค.อยู่ที่ 7.1% ซึ่งสูงกว่าที่ตลาดคาด ที่5.8% และสูงสุดรอบ13 ปี 

นายกิติชาญ ศิริสุขอาชา ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์รายย่อย บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย ) กล่าวว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มปรับขึ้นต่อในช่วงเดือนมิ.ย. จากที่เดือนพ.ค.อยู่ที่ 7.1% ซึ่งสูงกว่าที่ตลาดคาดและสูงสุดในรอบ13 ปี ทำให้มีโอกาสที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงปลายไตรมาส3 หรือ ต้นไตรมาส4 ปี 2565 ที่ 0.25%

ทั้งนี้หากกนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าว เชื่อว่าจะส่งผลกระทบดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลดลงแต่เชื่อว่าจะลงไม่มาก  เพราะ การปรับขึ้นดอกเบี้ยไม่แรง

อย่างไรก็ตามจากในสัปดาห์นี้ธนาคารกลางหลายประเทศจะมีการประชุมพิจารณาอัตราดอกเบี้ย และธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)จะมีการประชุมสัปดาหหน้าขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ประกอบกับขาดปัจจัยบวกหนุน ทำให้ดัชนีหุ้นไทยสัปดาห์หนี้แกว่งตัวในทิศทางปรับตัวลง (ไซด์เวย์ดาวน์)โดยมองรับที่ 1,630 จุด หากรับไม่อยู่หลุดที่ 1,600 จุด

โบรก คาดกนง.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ปลายไตรมาส3 หรือไตรมาส4/65

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า  อัตราเงินเฟ้อไทยที่เร่งตัวสูงขึ้น   เป็นเพียงเหตุผลหนึ่งเท่านั้นในการพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ย  ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ยังต้องใช้หลายเหตุผลประกอบการพิจารณา ทั้งฝั่งดีมานด์และซัพพลาย  ใน 3 ปัจจัยหลัก คือ ศักยภาพด้านราคา (เงินเฟ้อ) ความสามารถในการเติบโต (จีดีพี) และเสถียรภาพของสถาบันการเงิน  ต้องรอติดตามต่อไป  

 อย่างไรก็ตาม มองว่า  เศรษฐกิจไทยและตลาดหุ้นไทย ยังคงน่าสนใจและมีเสน่ห์ต่อนักลงทุนต่างชาติ ทำให้เม็ดเงินไหลเข้าต่อเนื่องจาก5เดือนที่ผ่านมาซื้อสุทธิ  139,058 ล้านบาท จากที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อน้อยกว่าประเทศอื่นๆ 

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการสายงานวิจัย บล.เอเชีย พลัส กล่าวว่า  ตัวเลขเงินเฟ้อเดือน พ.ค. ออกมาถือว่าใกล้เคียงกับที่เราคาดไว้ที่ 6.6-7.7 % และคาดว่าเงินเฟ้อในเดือนมิ.ย.จะสูงกว่าเดือนพ.ค. และในช่วงที่เหลือของปีนี้ยังอยู่ระดับสูง โดยมีสาเหตุจากราคาสินค้าและบริการในปัจจุบันปรับขึ้น  จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนยังไม่มีท่าทีจะคลี่คลายลงได้ 

ทั้งนี้จากเงินเฟ้อที่อยู่ระดับสูง จะเป็นแรงกดดันให้กนง.อาจต้องเร่งพิจารณาพิจารณาขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ในช่วงปลายไตรมาส 3 หรือต้นไตรมาส 4 ปีนี้  ซึ่งจะมีผลกระทบทำให้ต้องปรับลดคาดการดัชนีปีนี้เหลือ1,722 จุด ลดลง 88 จุด จาก 1,810 จุด 

นายสรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า เรายังคงมุมมองกนง.จะพิจารณาขึ้นดอกเบี้ยในไตรมาส 4 แม้ว่าตลาดจะปรับมุมมองมีโอกาสที่กนง.ขึ้นดอกเบี้ยในไตรมาส 3  เพราะการขึ้นดอกเบี้ย ยังต้องพิจารณาปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดทิศทางเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปีนี้ คือ โครงสร้างเศรษฐกิจแท้จริงของไทย ทั้งกลุ่มค้าปลีกและการลงทุน ยังไม่ได้เติบโตดีเท่าเศรษฐกิจสหรัฐที่สามารขึ้นดอกเบี้ยได้ 

อย่างไรก็ตามดัชนีตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวลงมาวานนี้ สะท้อนตลาดรับข่าวไปแล้วส่วนหนึ่ง รวมถึงตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้เป็นการพักฐานที่ระดับ 1,610 จุด แนะนักลงทุนใช้ตั้งรับไปก่อน และยังคงมองเป้าหมายดัชนีสิ้นปีนี้ ที่1,650 จุด