TEKAปั้นพอร์ตสู่รับเหมาก่อสร้างชั้นนำ !

TEKAปั้นพอร์ตสู่รับเหมาก่อสร้างชั้นนำ !

เหยียบคันเร่งลงทุนโครงการก่อสร้าง !! ทั้งรัฐและเอกชน หลังโควิด-19 คลี่คลาย “จุดขาย” หุ้นไอพีโอน้องใหม่ “ฑีฆาก่อสร้าง” เตรียมระดมทุนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) 15 มิ.ย.นี้ “วีระศักดิ์ วานิชวัฒน์” นายใหญ่ ส่งซิกปีนี้จ่อประมูลงานอีกเพียบ

การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ เป็นหนึ่งในเครื่องยนต์กระตุ้นเศรษฐกิจ บ่งชี้ผ่านภาพรวมอุตสาหกรรมก่อสร้างที่ถูกคาดการณ์ว่า จะมีอัตราการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญใน 2-3 ปีข้างหน้า และอัตราเร่งลงทุนของภาคเอกชน หลังสถานการณ์โควิด-19 ผ่อนคลาย หลังต้องเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 มาตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างซบเซาหนัก !! 

ปัจจัยบวกดังกล่าวกำลังส่งผลดีให้ หุ้นไอพีโอน้องใหม่ บริษัท ฑีฆาก่อสร้าง จำกัด (มหาชน) หรือ TEKA ผู้รับเหมาก่อสร้างที่โดดเด่นในงานอาคารขนาดใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มโครงการคอนโดฯ รวมถึง มิกซ์ยูส , โรงแรม , ช้อปปิ้งเซ็นเตอร์ และงานอาคารสูงขนาดใหญ่ต่างๆ จากลูกค้าซึ่งเป็นดีเวลลอปเปอร์ชั้นนำของไทย

โดยเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 75 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 4.60 บาท คิดเป็น P/E ที่ประมาณ 9.91 เท่า มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1.00 บาท โดยคาดว่าจะเข้าซื้อขายวันแรก (เทรด) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) วันที่ 15 มิ.ย. 2565

“วีระศักดิ์ วานิชวัฒน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฑีฆาก่อสร้าง จำกัด (มหาชน) หรือ TEKA ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ BizWeek” ว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้างกำลังฟื้นตัว ! สะท้อนผ่านคาดการณ์การเติบโตของอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ปี 2565 ที่คาดว่าจะขยายตัวจากปีก่อน “เท่าตัว”

สะท้อนผ่านตัวเลขผลประกอบการ 3 ปีย้อนหลัง (2562-2564) มีกำไรสุทธิ 104.43 ล้านบาท 87.17 ล้านบาท และ 126.02 ล้านบาท และมีรายได้ 2,435.15 ล้านบาท 2,474.56 ล้านบาท และ1,605.04 ล้านบาท ตามลำดับ

ก่อนเข้าแผนธุรกิจ “ผู้ก่อตั้งTEKA” เล่าประวัติฉบับย่อให้ฟังว่า บริษัทก่อตั้งขึ้นในวันที่ 4 ม.ค. 2527 เริ่มต้นมาจากธุรกิจเล็ก ๆ คือ การขายวัสดุก่อสร้าง ต่อเนื่องมายังการรับงานต่อเติม ตกแต่ง ก่อสร้าง บ้าน อาคารต่าง ๆ จนในปัจจุบัน สามารถรับงานก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ อาคารสูงทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม คอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน โรงพยาบาล อาคารเรียน และ หอประชุม เป็นต้น

ดังนั้น การตัดสินใจนำบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นครั้งนี้ !! เขายอมรับว่า เพราะต้องการสร้างการเติบโตครั้งใหม่ สะท้อนผ่านเงินระดมทุนนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ และใช้ปรับปรุงประสิทธิภาพของเครื่องจักรและอุปกรณ์การก่อสร้างต่างๆ เพื่อรองรับงานก่อสร้างที่อาจเพิ่มมากขึ้นในอนาคตทั้งในด้านจำนวนโครงการและมูลค่าโครงการ

สะท้อนผ่าน ในปัจจุบันบริษัทมีงานที่กำลังรอเปิดประมูลจำนวน 20 โครงการ มูลค่ารวม 15,000 ล้านบาท รวมทั้งบริษัทมีแผนการเจาะฐานลูกค้าในอุตสาหกรรมอื่นๆ เพิ่มขึ้น เช่น ลูกค้ากลุ่มโรงพยาบาล และกลุ่มลูกค้าโรงงาน โดยเฉพาะในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ (อีอีซี) เป็นต้น 

รวมทั้งในแผนธุรกิจระยะยาว 3-5 ปีข้างหน้า (2565-2569) บริษัทมีแผนศึกษาลงทุนใน “ธุรกิจใหม่” ที่สามารถต่อยอดและสร้างการเติบโตให้บริษัทได้ในอนาคต ซึ่งจะเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทรดของโลกยุคใหม่ 

อย่างไรก็ตาม ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2564 บริษัทมีมูลค่างานในมือ (Backlog) 1,775.09 ล้านบาท หรือคิดเป็นโครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินงานจำนวน 8 โครงการ และงานบริการหลังการขายอีกจำนวนหนึ่ง และเดือนมี.ค.ที่ผ่านมาบริษัทได้รับงานเพิ่มอีก 1 โครงการ นั่นคือ โครงการ The Line Vibe ซึ่งมีลักษณะเป็นโครงการคอนโดมิเนียม โดยมีเจ้าของโครงการ คือ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) SIRI มูลค่าโครงการตามสัญญาจำนวน 478.95 ล้านบาท 

สำหรับแนวโน้มผลประกอบการปี 2565 บริษัทตั้งเป้ารายได้อยู่ที่ 2,400-2,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 และเติบโตจากปีก่อนที่ทำได้ราว 1,600 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการทยอยรับรู้รายได้จากงานในมือ (Backlog) ที่จะส่งมอบในปีนี้ประมาณ 1,770 ล้านบาท ประกอบกับบริษัทยังมีงานใหม่ที่ได้เข้ามาในช่วงไตรมาส 1 ปี 2565 อีกราว 481 ล้านบาท รวมถึงงานโครงการใหม่ๆที่เตรียมเข้ายื่นประมูลเพิ่มเติมในช่วงที่เหลือของปีอีกจำนวนมาก

ขณะที่ ในส่วนของปัญหาด้านราคาวัสดุก่อสร้างที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นนั้น ส่งผลให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นราว 3-4% ซึ่งบริษัทก็มีนโยบายที่จะลดความเสี่ยงโดยการเลือกซื้อวัสดุก่อสร้างให้รวดเร็วขึ้นหรือกำหนดภายในช่วง 4 เดือนแรกหลังตกลงทำสัญญากับลูกค้า เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านราคาวัสดุก่อสร้างที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน รวมถึงควบคุมคุณภาพและบริหารต้นทุนงานก่อสร้างให้ลดลงเพื่อสามารถสร้างผลกำไรให้ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง

สุดท้าย “วีระศักดิ์” บอกไว้ว่า การเข้าระดมทุนเนื่องจากต้องการเงินทุนเพื่อสนับสนุนแผนการเติบโตและเพื่อรองรับงานก่อสร้างที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ทั้งด้านจำนวนลูกค้า และมูลค่าโครงการที่สูงขึ้น รวมถึงใช้ในการจัดหา ซ่อมแซม และปรับปรุงประสิทธิภาพของเครื่องจักรและอุปกรณ์การก่อสร้างต่างๆ