ส่องอาคารใหม่ “สุวรรณภูมิ” ทอท.เปิดใช้พร้อมรถไฟฟ้าไร้คนขับ

ส่องอาคารใหม่ “สุวรรณภูมิ” ทอท.เปิดใช้พร้อมรถไฟฟ้าไร้คนขับ

ทอท.ปักธงเปิดใช้อาคารผู้โดยสารใหม่ “แซทเทิลไลท์” พร้อมบริการรถไฟฟ้าไร้คนขับ เม.ย.2566 ชูสถาปัตยกรรมพญาช้างเผือกหนึ่งเดียวในโลก

เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของปริมาณผู้โดยสารทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.คาดการณ์ว่าในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ จะมียอดจองการเดินทางเข้าไทยสูงถึง 50% ของปริมาณผู้โดยสารในปี 2562 และคาดว่าปีนี้จะมีผู้โดยสารเข้าไทยสูงถึง 22 ล้านคน และขยายตัวต่อเนื่องจนกระทั่งในปี 2568 จะมีปริมาณการเดินทางของผู้โดยสารกลับมาเทียบเท่าก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับปริมาณผู้โดยสารที่กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นนั้น ทอท.ได้กำหนดเตรียมเปิดให้บริการอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ "อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1" หรือแซทเทิลไลท์ ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในเดือน เม.ย.2566 เพิ่มศักยภาพของท่าอากาศยานดังกล่าวรองรับผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้นอีก 15 ล้านคน จากเดิม 45 ล้านคนต่อปี เป็น 60 ล้านคนต่อปี อีกทั้งยังช่วยเพิ่มระยะห่างให้กับผู้โดยสาร ปรับตัวต่อการเดินทางแบบวิถีใหม่ (New Normal)

สำหรับอาคารแซทเทิลไลท์ เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2 ปีงบประมาณ 2554-2560 วงเงินลงทุนกว่า 39,760 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2559 โดยมีลักษณะเป็นอาคาร 4 ชั้น พื้นที่ประมาณ 216,000 ตารางเมตร มีจำนวนประตูทางออกที่เชื่อมต่อกับหลุมจอดประชิดอาคาร 28 หลุมจอด สามารถจอดอากาศยานขนาด CODE F เช่น A380 ได้ 8 หลุมจอด และอากาศยานขนาด  CODE E เช่น Boeing 747 ได้ 20 หลุมจอด

ส่องอาคารใหม่ “สุวรรณภูมิ” ทอท.เปิดใช้พร้อมรถไฟฟ้าไร้คนขับ

โดยความโดดเด่นของอาคารผู้โดยสารแห่งนี้ ไม่ได้มีเพียงสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างครบครัน ภายใต้คอนเซ็ปต์ Sustainable Design แต่ยังเป็นอาคารผู้โดยสารที่แสดงความเป็นไทย ผสมผสานกับความทันสมัย เป็นประตูต้อนรับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะประติมากรรมพญาช้างเผือก หรือ คชสาร ขนาดสูงถึง 7 เมตรที่จัดแสดงอยู่บริเวณโถงกลางชั้น 3 ซึ่งตอกย้ำถึงความเป็นไทยจากสัตว์คู่บ้านคู่เมือง

นอกจากนี้ อาคารแซทเทิลไลท์ยังออกแบบตัวอาคารให้มีความเป็นไทยเพิ่มเติมอีก อาทิ ฝ้าอาคารใช้ลายจักสานและลายผ้าไหม เสาภายในอาคารใช้รูปแบบของตัวค้ำยันและใช้รูปทรงของพญานาค รวมไปถึงผนังภายในอาคารออกแบบด้วยลายกระเบื้องศิลาดล

ทั้งนี้อาคารเทียบเครื่องบินรองมีลักษณะเป็นอาคาร 4 ชั้น โดยแบ่งพื้นที่ใช้สอย ดังนี้  

ชั้น B2  สถานีขนส่งผู้โดยสาร (APM Station)

ชั้น B1  ชั้นลำเลียงกระเป๋าและสัมภาระ (Baggage Handling)

ชั้น GF  ชั้นลานจอดเครื่องบิน (Apron Level)  โดยชั้นนี้เป็นชั้นที่มีรถบัสรับ-ส่ง, มีโถงพักคอย และ Office ของเจ้าหน้าที่

ชั้น 2  ชั้นผู้โดยสารขาเข้า (Arrival Level)

ชั้น 3  ชั้นผู้โดยสารขาออก (Departure Level)

ชั้น 4  ชั้นบริการผู้โดยสารพิเศษ (VIP Lounges Level)

ส่องอาคารใหม่ “สุวรรณภูมิ” ทอท.เปิดใช้พร้อมรถไฟฟ้าไร้คนขับ

อีกทั้งการเปิดใช้อาคารผู้โดยสารหลังใหม่ในครั้งนี้ ทอท.ยังเปิดตัวอีกหนึ่งเทคโนโลยีใหม่สำหรับการใช้บริการท่าอากาศยานในไทย “ระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ” (Automated People Mover: APM) ซึ่งเป็นระบบรถไฟรางเบาไร้คนขับ บริการรับส่งผู้โดยสารระหว่างอาคารผู้โดยสารหลังปัจจุบันกับอาคารแซทเทิลไลท์ เป็นระยะทางเกือบ 1 กิโลเมตร ซึ่งใช้เวลาไม่เกิน 2 นาทีต่อเที่ยว โดยรถไฟรางเบานี้จะรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 210 คนต่อขบวน แบ่งเป็น 16 คนนั่ง 194 คนยืน ซึ่งจะสามารถขนส่งผู้โดยสารได้มากถึง 3,590 คนต่อชั่วโมงต่อเที่ยว

ส่องอาคารใหม่ “สุวรรณภูมิ” ทอท.เปิดใช้พร้อมรถไฟฟ้าไร้คนขับ