ส่องตัวเต็ง BTS-BEM คว้างานรถไฟฟ้าสายสีส้ม

ส่องตัวเต็ง BTS-BEM  คว้างานรถไฟฟ้าสายสีส้ม

“โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก” ถือเป็นอีกหนึ่งมหากาพย์การประมูลงานภาครัฐ หลังการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปลี่ยนเกณฑ์การประมูลกลางอากาศ ทั้งๆ ที่ขายซองเอกสารการคัดเลือกไปแล้ว

และตัดสินใจยกเลิกการประมูลเมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2564 จนเกิดเป็นคดีความฟ้องร้องในชั้นศาล ซึ่งต่อมาศาลปกครองกลางมีคำพิพากษายกฟ้อง โดยศาลมองว่าแม้การเปลี่ยนหลักเกณฑ์การประมูลจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ความเสียหายยังไม่เกิดขึ้นกับเอกชน 

รฟม. จึงเดินหน้าเริ่มต้นการประมูลครั้งใหม่ ซึ่งได้เปิดขายซองประมูลไปแล้วเมื่อวันที่ 27 พ.ค. ที่ผ่านมา ไปจนถึง 10 มิ.ย. 2565 โดยกำหนดให้ผู้สนใจยื่นซองประมูล 27 ก.ค. 2565 และจะเปิดซองข้อเสนอในวันที่ 1 ส.ค. 2565

สำหรับเกณฑ์การประมูลรอบนี้ถือว่าเข้มงวดสุดๆ ตั้งแต่คุณสมบัติที่กำหนดให้ผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีประสบการณ์เคยรับงานออกแบบก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดินด้วยหัวเจาะ สถานีใต้ดิน และทางวิ่งพร้อมรางที่ 3 แบบไม่ใช้หินโรยทาง

ขณะที่หลักเกณฑ์การคัดเลือกจะเริ่มต้นจากซองที่ 1 ข้อเสนอด้านคุณสมบัติ ประเมินแบบผ่านหรือไม่ผ่าน ซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค ประเมินแบบผ่านหรือไม่ผ่าน ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 หมวด ต้องได้คะแนนแต่ละหมวดไม่น้อยกว่า 85% และคะแนนรวมทุกหมวดไม่น้อยกว่า 90%

ซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการเงิน ดูว่าใครให้ผลประโยชน์สุทธิสูงสุดจะเป็นผู้ชนะ ทั้งนี้ หากยื่นมาเท่ากันจะกลับไปตัดสินที่คะแนนเทคนิค ซึ่งเกณฑ์การตัดสินครั้งนี้แตกต่างจากการประมูลครั้งแรก ที่ให้คะแนนด้านราคา 100% ก่อนต่อมาเปลี่ยนเงื่อนไขให้นำคะแนนเทคนิคมาพิจารณาด้วย 30% และคะแนนด้านราคาอีก 70%

ทั้งนี้ หากอิงจากการประมูลครั้งก่อน มี 2 กลุ่มเข้าแข่งขัน ได้แก่ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM จับมือบริษัทในกลุ่ม บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK และบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ซึ่งมาพร้อมกับบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC

ซึ่งรอบนี้ทาง BEM-CK ประกาศพร้อมร่วมประมูลในทุกกติกาที่รัฐกำหนด ส่วน BTS พร้อมชิงชัยด้วยเช่นกัน แต่จะมาพร้อมกับพันธมิตรกลุ่มเดิมหรือไม่นั้น ต้องขอดูรายละเอียดจากเอกสารการประมูลอย่างเป็นทางการก่อน

บล.เคทีบีเอสที มองว่า กลุ่ม BEM-CK จะเป็นตัวเก็งในการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เนื่องจาก BEM มีประสบการณ์บริหารรถไฟฟ้าใต้ดิน ขณะที่ CK เป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้างไม่กี่รายในไทยที่มีประสบการณ์งานก่อสร้างอุโมงค์รถไฟฟ้า จึงมีข้อได้เปรียบในด้านการจัดการและต้นทุน

ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้สูงที่ผู้เข้าร่วมประมูลหลักจะยังเป็นกลุ่ม BEM-CK และ BTS-STEC โดยฝ่ายวิจัยประเมินเบื้องต้นอิงสมมติฐานมูลค่าโครงการใกล้เคียงกับที่ รฟม. เปิดเผยก่อนหน้านี้ที่ 1.3 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 2 กรณี

1. กลุ่ม BEM-CK ชนะประมูล จะคิดเป็นอัพไซด์ต่อราคาเป้าหมาย BEM ราว 3 บาท และ CK 7 บาท แบ่งออกเป็นมูลค่าธุรกิจก่อสร้าง 3 บาท และส่วนเพิ่มจากการถือหุ้นใน BEM ราว 4 บาท

2. กลุ่ม BTS-STEC ชนะประมูล จะเป็นอัพไซด์ต่อราคาเป้าหมาย BTS ราว 2.50 บาท และ STEC 3 บาท

ส่องตัวเต็ง BTS-BEM  คว้างานรถไฟฟ้าสายสีส้ม

โดยฝ่ายวิจัยยังคงน้ำหนัก “กลุ่มรับเหมา” เป็น “มากกว่าตลาด” หรือ “Overweight” มองว่ากลุ่มรับเหมาจะได้รับปัจจัยบวกจากโครงการสายสีส้มเป็นอันดับแรก จากโอกาสในการเพิ่มงานในมือ (Backlog) ทั้งในกลุ่มผู้รับเหมาใหญ่และผู้รับเหมาฐานราก Top pick ได้แก่ CK แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 25.60 บาท

และกลุ่ม Ground Transport ให้น้ำหนัก “เท่ากับตลาด” หรือ “Neutral” โดย Top pick ได้แก่ BEM แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 10.20 บาท ซึ่งนอกเหนือจากประเด็นการประมูลสายสีส้ม บริษัทยังมีปัจจัยเร่งเพิ่มเติมจากสัมปทาน O&M สายสีม่วงใต้ ซึ่งคาดจะทยอยเห็นความคืบหน้าในปีนี้เช่นกัน

ด้านบล.ฟินันเซีย ไซรัส มองว่า กลุ่ม BEM-CK มีแต้มต่อผู้ประกอบการรายอื่นในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม จากจุดแข็งด้านความชำนาญงานก่อสร้าง เนื่องจาก CK มีประสบการณ์ก่อสร้างอุโมงค์และสถานีใต้ดินซึ่งเป็นงานที่แล้วเสร็จในประเทศตามที่เงื่อนไขกำหนด

โดยงานก่อสร้างสายสีส้มตะวันตกมีส่วนอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยาคล้ายกับผลงานในรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ซึ่งต้องใช้เทคนิคการออกแบบทางวิศวกรรมและวิธีการก่อสร้างชั้นสูง รวมถึงมีข้อได้เปรียบคู่แข่งต่างชาติในด้านการบริหารจัดการต้นทุน

ขณะที่บล.เอเซีย พลัส แนะนำซื้อ CK ราคาเป้าหมาย 25 บาท และ STEC ราคาเป้าหมาย 18 บาท เพราะไม่ว่ากลุ่ม BEM หรือ BTS เป็นผู้ชนะประมูล ในแง่การก่อสร้างคงแบ่งงานกันระหว่างผู้รับเหมารายใหญ่ เพียงแต่ว่าใครจะเป็นผู้รับเหมาหลักหรือผู้รับเหมาช่วงเท่านั้น