ส่อง ‘ตัวเลขจ้างงาน’ ไทยยังน่าห่วง ว่างงานระยะยาว – เสมือนว่างงานพุ่ง!

ส่อง ‘ตัวเลขจ้างงาน’ ไทยยังน่าห่วง  ว่างงานระยะยาว – เสมือนว่างงานพุ่ง!

ส่องสถานการณ์จ้างงาน และอัตราการว่างงานในไทยหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายปรับตัวดีขึ้น แต่ต้องจับตาดูตัวเลขผู้ว่างงานระยะยาวปรับตัวสูงสุดแตะ 1.7 แสนคน ส่วนผู้เสมือนว่างงาน ทำงานน้อยกว่า 4 ชั่วโมงต่อวันพุ่งแตะ 3.78 ล้านคน สะท้อนความเปราะบางในตลาดแรงงานไทย

ตัวเลขการจ้างงาน ภาวะมีงานทำของแรงงาน และตัวเลขว่างงาน ถือเป็นดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจได้อย่างหนึ่ง ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ชัดเจนการจ้างงานจะเพิ่มขึ้น ตัวเลขการว่างงานจะลดลง ทำให้สามารถคาดการณ์ถึงตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น การใช้จ่ายของแรงงานที่เพิ่มขึ้นตามรายได้ที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น

ประเทศไทยกำลังจะผ่านพ้นสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ที่สร้างผลกระทบกับเศรษฐกิจมายาวนานกว่า 2 ปี สถานการณ์การจ้างงานในไทยในขณะนี้หากดูในเบื้องต้นจะพบว่ามีแนวโน้มที่ “ดีขึ้น” กว่าช่วงที่เผชิญกับโควิด-19 อย่างมาก ซึ่งเป็นผลมาจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 การเปิดเมืองรับการท่องเที่ยว

ข้อมูลจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่รายงานภาวะสังคมไทย ไตรมาสที่ 1/2565 พบว่าการจ้างงานเพิ่มขึ้น 3% ทั้งในภาคเกษตรและภาคนอกเกษตร อัตราการว่างงานลดลงเหลือ 1.5% ต่ำที่สุดนับตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา

อย่างไรก็ตามเมื่อเจาะลึกไปยังข้อมูลบางส่วนเกี่ยวกับการจ้างงาน รวมถึงอัตราการว่างงาน ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 ยังแสดงถึงความเปราะบางของการจ้างงานในประเทศที่ยังน่าเป็นห่วงอีกหลายประเด็น ทั้งในเรื่องของจำนวนผู้ว่างงานระยะยาว และผู้เสมือการว่างงาน ได้แก่

ตัวเลขผู้ว่างงานระยะยาวพุ่งสูง

ส่อง ‘ตัวเลขจ้างงาน’ ไทยยังน่าห่วง  ว่างงานระยะยาว – เสมือนว่างงานพุ่ง!

การว่างงานระยะยาว (ว่างงานมาเป็นระยะเวลาตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป) มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น คือในไตรมาสที่ผ่านมามีจำนวนแรงงานที่ว่างงานมานานกว่า 1 ปีเป็นจำนวนทั้งสิ้น 174,900 คน เพิ่มขึ้นจากในไตรมาสก่อนหน้าที่มีจำนวนผู้ว่างงานระยะยาว 136,288 คน เพิ่มขึ้นถึง 38,612 คน และถือว่าเป็นจำนวนที่มากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2563 ที่มีการระบาดของโควิด-19 เป็นต้นมา

โดยจำนวนแรงงานที่ว่างงานในระยะยาวที่เพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับในไตรมาสที่ 3/2564 ที่มีการล็อคดาวน์จากสถานการณ์โควิดระบาดโดยในขณะนั้นมีจำนวนผู้ว่างงานระยะยาว 171,415 คน

 

ส่อง ‘ตัวเลขจ้างงาน’ ไทยยังน่าห่วง  ว่างงานระยะยาว – เสมือนว่างงานพุ่ง!

ผู้เสมือนว่างงานจำนวนสูงเกือบ 4 ล้านคน

สำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรไทยในไตรมาสที่ 1ปี 2565 พบว่าผู้เสมือนว่างงานหรือผู้ที่ทำงานน้อยกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นจากไตรมาสที่ 4/2564 ที่มีจำนวนผู้เสมือนว่างงาน 2.63 ล้านคน เพิ่มขึ้นเป็น 3.78 ล้านคน  

สำนักงานสถิติระบุด้วยว่าแรงงานกลุ่มนี้ต้องให้ความสำคัญ เนื่องจากแรงงานกลุ่มนี้แม้ไม่ตกงาน แต่ก็มีรายได้ลดลงตามชั่วโมงการทำงาน ทำให้มีรายได้ไม่ เพียงพอต่อการยังชีพทั้งครัวเรือน มีจำนวนสูงถึง 3.78 ล้านคน

ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการที่ธุรกิจพยายาม ประคับประคองธุรกิจไว้ ไม่เลิกจ้าง แต่ใช้วิธีลดเวลาทำงาน แรงงานกลุ่มนี้จึงอาจได้รับผลกระทบจากรายได้ที่ ลดลงตามชั่วโมงการทำงาน และหากเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ช้า จนส่งผลให้หลายธุรกิจต้องปิดตัวลง กลุ่มคนที่ เสมือนว่างงานก็จะเปลี่ยนสถานภาพเป็นผู้ว่างงานได้เช่นกัน

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่าการฟื้นตัวของการจ้างงานในปีนี้มีทิศทางที่ดีขึ้น แต่ยังมีความไม่แน่นอนสูงเนื่องจากเศรษฐกิจอยู่ในช่วงแรกของการฟื้นตัว ภาคธุรกิจโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ และแรงงานยังคงได้รับผลกระทบจากการหยุดชะงักของซัพพายเชน รวมทั้งผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบันที่จะกระทบกับค่าครองชีพของแรงงานด้วย