'สภาพัฒน์’เผยจ้างงานไตรมาส1ฟื้นตัว ห่วงท่องเที่ยว – เด็กจบใหม่ว่างงานสูง

'สภาพัฒน์’เผยจ้างงานไตรมาส1ฟื้นตัว ห่วงท่องเที่ยว – เด็กจบใหม่ว่างงานสูง

สศช.แถลงภาวะสังคมไตรมาส 1/65 การจ้างงานฟื้นตัว 3% อัตราว่างงานลดต่ำลงเหลือ 1.53% ต่ำสุดตั้งแต่เผชิญปัญหาโควิด-19 รับการจ้างงานยังมีประเด็นน่าเป็นห่วงทั้งในส่วนของแรงงานในภาคท่องเที่ยว เด็กจบใหม่ยังตกงานสูง

วันนี้ (23 พ.ค.) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะสังคมไตรมาส 1/2565 สถานการณ์แรงงานมีแนวโน้มดีขึ้น การจ้างงานที่ขยายตัวได้ดีทั้งในและนอกภาคเกษตร ชั่วโมง การทำงานปรับตัวเพิ่มขึ้น การว่างงานในภาพรวมมีแนวโน้มลดลง เช่นเดียวกับการว่างงานในระบบที่ลดลง

 สถานการณ์แรงงานไตรมาสหนึ่ง ปี 2565 ภาพรวมการจ้างงานมีจำนวนทั้งสิ้น 38.7 ล้านคน เพิ่มขึ้น 3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการเพิ่มขึ้นทั้งในและนอกภาคเกษตรกรรม โดยการจ้างงาน


ภาคเกษตรกรรม มีจำนวน 11.4 ล้านคน เพิ่มขึ้น 3% จากการเพิ่มการผลิตสินค้าเกษตรในกลุ่มพืชสำคัญ

ส่วนนอกภาคเกษตรกรรมมีการจ้างงาน 27.3 ล้านคน เพิ่มขึ้น 3%

โดยสาขาที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ได้แก่ สาขาการผลิต เพิ่มขึ้น 2.6% จากอัตราการใช้กำลังการผลิตที่สูงสุดในช่วง COVID-19 และการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง สำหรับสาขาการขายส่ง/ขายปลีก และสาขาการขนส่ง/เก็บสินค้า ขยายตัวได้ 5.8% และ 16.2% ตามลำดับ

ขณะที่ สาขาก่อสร้าง และสาขาโรงแรม ภัตตาคาร มีการจ้างงานลดลง 1.1% โดยการลดลงของจ้างงานสาขาโรงแรมภัตตาคาร ส่วนหนึ่งเกิดจากการระบาดของ COVID-19 ที่รุนแรงขึ้นในไตรมาสหนึ่ง ปี 2565 ประกอบกับนักท่องเที่ยวต่างชาติยังมีจำนวนไม่มาก โดยมีเพียง 5 แสนคน จากปกติที่มี 9 - 10 ล้านคน ชั่วโมง

การทำงานปรับตัวดีขึ้นทั้งในภาพรวมและภาคเอกชนที่ 40.8 และ 43.8 ชั่วโมง/สัปดาห์ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ยังต่ำกว่าช่วงก่อน COVID-19

ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากผู้เสมือนว่างงานที่ในไตรมาสหนึ่งปี 2565 มีจำนวนถึง 3.8 ล้านคน ขณะที่ผู้ทำงาน 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ขึ้นไป หรือกลุ่มทำงานล่วงเวลามีแนวโน้มดีขึ้นแต่ยังต่ำกว่าช่วงปกติ โดยมีจำนวนผู้ทำงานล่วงเวลา 5.7 ล้านคนในไตรมาสหนึ่ง ปี 2565 จากช่วงปกติประมาณ 6-7 ล้านคน

การว่างงานปรับตัวดีขึ้น โดยผู้ว่างงานมีจำนวนทั้งสิ้น 6.1 แสนคน ลดลงจาก 7.6 แสนคนในช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงจาก 6.3 แสนคนในไตรมาสก่อนหน้า หรือคิดเป็นอัตราการว่างงานที่ 1.53% ต่ำที่สุดในช่วง COVID-19 เช่นเดียวกับการว่างงานในระบบที่ลดลงต่อเนื่อง โดยผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน มีจำนวน 305,765 คน คิดเป็นอัตราการว่างงานในระบบที่ 2.7%

อย่างไรก็ตาม มีประเด็นที่น่าสนใจ คือผู้ว่างงานที่ ไม่เคยทำงานมาก่อนยังคงเพิ่มขึ้น โดยมีจำนวน 2.6 แสนคน เพิ่มสูงขึ้น 5.2 %จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สวนทางกับผู้ว่างงานที่มีประสบการณ์ทำงานที่เริ่มปรับตัวลดลง

 ผู้ว่างงานระยะยาวยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยมีจำนวนถึง 1.7 แสนคน และ การว่างงานในกลุ่มแรงงานที่จบการศึกษาสูงยังอยู่ในระดับสูง

อัตราการว่างงานของผู้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษาอยู่ที่ 3.1%

ส่วนประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไป ได้แก่ 

1.การฟื้นตัวของการจ้างงานภาคท่องเที่ยว โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังมีจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับก่อน COVID-19 ขณะที่นักท่องเที่ยวไทยแม้จะมีแนวโน้มดีขึ้นจากโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐ แต่สัดส่วนรายจ่ายยังไม่สามารถชดเชยการหายไปของรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ จึงต้องให้ความสำคัญกับการเปิดประเทศและดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศให้มากที่สุด

2. ผลกระทบของการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าต่อค่าครองชีพของแรงงาน และการจ้างงานเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2564 จากราคาน้ำมัน และปัจจัยการผลิตในสินค้าบางชนิดที่เพิ่มขึ้น จะส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของแรงงาน รวมทั้งอาจกระทบต่อการจ้างงานในภาคเกษตรกรรมจากราคาปุ๋ยที่แพงขึ้น และการจ้างงานสาขาขนส่งจากต้นทุนราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น

3. การหามาตรการแก้ไขปัญหาการว่างงานระยะยาวและการว่างงานของผู้จบการศึกษาใหม่ ที่ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง