TDRI ชู 3 แนวทางสางปมควบรวม ‘ทรู-ดีแทค’

กสทช.จัดประชุมรับฟังความเห็นกรณีการควบรวมบริษัททรู-ดีแทค ครอบคลุมทุกมิติ โดยวันนี้เป็นการรับฟังความคิดเห็นด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมืองซึ่งเป็นไปตามโรดแมปที่วางไว้

สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เปิดให้เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวงจำกัด (Focus Group) ต่อกรณีการรวมธุรกิจระหว่าง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คแซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง

ประธานอนุกรรมการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์กรณีการรวมธุรกิจฯ ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ระบุ การรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม เป็นการรวบรวมข้อมูลและความคิดเห็นที่เกี่ยวข้อง โดย กสทช.ยังไม่มีธงว่าจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ควบรวมกิจการ กสทช.จะมีดุลพินิจได้ต่อเมื่อมีข้อมูล ข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายที่ครบถ้วนแล้ว หลังจากรับฟังข้อมูลครบถ้วนรอบด้าน จึงจะเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาต่อไป ซึ่งสิ่งสำคัญคือกระบวนการต้องครบถ้วนชัดเจน มีเหตุผล มีส่วนร่วม โปร่งใส ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไรสังคมจะยอมรับ

ด้านประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ระบุ บริษัทที่ขอควบรวมจากรายงานของที่ปรึกษาการเงินของบริษัทไม่ได้พิสูจน์ให้เห็นว่ามีประโยชน์เกิดขึ้นจริงต่อผู้บริโภค มีการอ้างประโยชน์แต่ไม่ได้พูดถึงทางเลือกอื่นๆในการทำให้เกิดประโยชน์ดังกล่าว ในขณะที่ไม่ได้มีการพิสูจน์ว่าจะสามารถขจัดความเสี่ยงจากการควบรวมที่มีต่อผู้บริโภคได้อย่างไร

TDRI มีข้อเสนอที่มีต่อการควบรวมกิจการทรู-ดีแทค 3 แนวทาง คือ แนวทางแรกไม่ควรให้ควบรวมกิจการ หากดีแทคต้องการออกจากตลาดโทรคมนาคมไทยก็ควรขายกิจการให้กับผู้ประกอบการรายใหม่ แต่ไม่ใช่การขายให้ 2 รายใหญ่คือ ทรู และ AIS เพราะผู้ให้บริการรายใหญ่ของไทยไม่ควรลดต่ำกว่า 3 ราย แนวทางที่ควรจะเป็นที่ดีที่สุดสำหรับผู้บริโภคและสาธารณะคือการไม่อนุญาตให้ควบรวม

แนวทางที่สอง คือการควบรวมภายใต้การกำหนดเงื่อนไขที่เข้มงวดมากๆ โดยนำคลื่นความถี่คืนกลับมาและเปิดประมูลใหม่ เพื่อให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ ซึ่งมองว่าวิธีนี้ยังไม่ตอบโจทย์อย่างแท้จริง เพราะแม้ผู้ประกอบการรายใหม่ได้คลื่นมาประกอบกิจการก็ยังแข่งขันได้ยาก เนื่องจากกลไกในการทำการตลาดยังมีข้อจำกัดอยู่มาก

แนวทางสุดท้ายคือ ควบรวมแล้วส่งเสริมผู้ให้บริการที่ไม่มีเครือข่ายมาใช้เครือข่ายเสมือน หรือเอ็มวีเอ็นโอ ซึ่งเป็นการให้บริการเคลื่อนที่แบบไม่มีโครงข่าย ซึ่งไม่ใช่ทางเลือกที่ดีต่อผู้บริโภค เพราะฉะนั้นทางเลือกที่ดีที่สุดหากบริษัททั้ง 2 ไม่สามารถพิสูจน์ประโยชน์ว่าเกิดขึ้นได้จริง และไม่สามารถหักล้างได้ว่าไม่มีความเสี่ยงต่อผู้บริโภคจากการผูกขาดได้ ทางเลือกที่ดีที่สุดของ กสทช.การไม่อนุญาตให้ควบรวม

สำหรับการเปิดรับฟังความคิดเห็นเป็นไปตามมติที่ประชุม กสทช.ที่เห็นชอบแผนงาน (Roadmap) กรณีการรวมธุรกิจระหว่างทรูกับดีแทค โดยแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์เรื่องดังกล่าว จำนวน 4 คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย คณะอนุกรรมการด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง คณะอนุกรรมการด้านเทคโนโลยี และคณะอนุกรรมการด้านเศรษฐศาสตร์ โดยหลังจากจบงานการรับฟังความคิดเห็นสำนักงาน กสทช. ยังเปิดรับความคิดเห็นจากภาคส่วนผ่านช่องทางออนไลน์ สามารถส่งความเห็นมาได้ภายในวันที่ 29 พ.ค. 2565 คาดว่าจะสรุปการรับฟังความคิดเห็นทั้งหมดนำเข้าสู่การพิจารณาได้ในอีก 2-3 สัปดาห์