ก.ล.ต.จับมือ สผ.ดึงธุรกิจตลาดทุนลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ก.ล.ต.จับมือ สผ.ดึงธุรกิจตลาดทุนลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ก.ล.ต.จับมือ สผ.ดึงธุรกิจในตลาดทุนร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ชี้หากไม่ปรับรูปแบบการทำธุรกิจที่ลดการทำลายสิ่งแวดล้อมจะกลายเป็นความเสี่ยงต่อธุรกิจ หลังประเทศขนาดใหญ่เริ่มใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีมาเป็นแรงกดดันในการผลิต และส่งออกสินค้า

วันนี้ (26 พ.ค.)ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเกี่ยวกับการส่งเสริมและผลักดันการดำเนินงานของภาคธุรกิจเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ระหว่าง สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต.กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ ถือเป็นหมุดหมายที่สำคัญจริงๆ ที่จะผลักดันให้ตลาดทุนไทย บริษัทจดทะเบียน และผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนสามารถมีคำสัญญา และปฏิบัติอย่างจริงจังที่จะดำเนินธุรกิจเพื่อปล่อยก๊าซเรือนกระจก ถือเป็นเป็นหนึ่งในแผนพัฒนาตลาดทุนไทยที่วางเป้าหมายในเรื่องความยั่งยืนในการทำธุรกิจ โดยได้รับความร่วมมือจาก สผ.

“การลงนามดังกล่าวจะแสดงถึงความร่วมมือที่เข้มแข็งในการผลักดันให้ภาคธุรกิจมีความรู้ เข้าใจ ตระหนักถึงความสำคัญในการประกอบธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาลที่เคารพต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านนโยบายและการกำหนดกลยุทธ์ รวมถึงประเมินความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อลดผลกระทบเชิงลบในการดำเนินธุรกิจ”

ขณะเดียวกัน ก็สร้างผลลัพธ์เชิงบวก ที่จะเพิ่มขีดแข่งขันในระดับสากล ตลอดจนความร่วมมือนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันเป้าหมายของประเทศในการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ใน 2065 และเสริมสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้มีความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจสังคม และสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการพัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืน

“ก.ล.ต.มีหน้าที่กำกับดูแลตลาดทุน และพัฒนาอีโคซิสเต็มที่เกื้อหนุนตลาดทุนไทยให้มีความยั่งยืน เราตระหนักว่า ทำคนเดียวไม่ประสบความสำเร็จได้แน่ จะต้องบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง”

นายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการ สผ.กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ เป็นก้าวย่างเพื่อผลักดันให้ตลาดทุนไทยมีความเข้าใจ และดำเนินธุรกิจที่นำไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำได้

เขากล่าวว่า คำถามที่หลายคนถามเสมอว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน และไทยมีบทบาทอย่างไร หลังจาก corp26 หลังจากที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศเจตนารมณ์ในการที่ไทยจะเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 จะมีการยกระดับเป้าหมายการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของเราในปี 2030 เป็นที่ 40%

“หลังจากที่ประเทศผู้นำได้ประกาศเรื่องดังกล่าว ทำให้ทิศทางของโลกในการควบคุมอุณหภูมิอยู่ที่ประมาณ 1-8 องศาเซลเซียล ขณะที่ เป้าหมายของไทย คือ 1.6-1.7 องศาเซลเซียส ชี้ให้เห็นว่า ไทยกำลังก้าวย่างไปมากกว่าค่าเฉลี่ยของโลกในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อนำไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ”

เขากล่าวว่า เป็นเรื่องจำเป็นที่ภาคธุรกิจจะต้องการปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หากเราเริ่มเร็วจะกลายเป็นโอกาส แต่ถ้าเริ่มช้าจะกลายเป็นความเสี่ยงที่ตลาดทุนต้องรองรับ เพราะแรงกดดันที่เกิดขึ้นไม่ได้หยุดนิ่ง แต่หมุนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นแรงกดดันจากภายนอกในเรื่องของการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ระบบภาษี ยกตัวอย่าง ทางอียูกำลังจะใช้ในปี 2566 ใน 5 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งไทยมีสินค้าที่เกี่ยวข้องอยู่ 2 รายการ คือ เหล็ก และเหล็กกล้า และอะลูมิเนียม

“ถ้าไทยไม่หมุนตัวเองในการปรับเปลี่ยนบริบทตัวเองให้เร็ว จะมีแรงกดดันจากคนอื่นมาบังคับเรา ขณะที่ วันนี้เห็นข่าวเรื่องการเลือกตั้งในออสเตรเลีย พรรคแรงงานชนะ และนายกรัฐมนตรีท่านใหม่ประกาศปฏิบัติการที่จะต่อสู้ และหยุดสงครามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้ได้ เพราะออสเตรเลียพึ่งพาฟอสซิลค่อนข้างเยอะ แต่วันนี้ เขาเปลี่ยนบริบท อาจกระทบต่อตลาดทุนไทยในบางส่วนที่ธุรกิจเกี่ยวข้อง”

ทั้งนี้ สผ.มีบทบาทหน้าที่เป็นผู้ประสานงานกลางอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราต้องทำเป้าหมายและแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งในช่วง 5 ปีจะมีความท้าทายที่มากขึ้น

 

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์