จุดพลุ "เปิดประเทศเต็มรูปแบบ" 1 มิ.ย. ไฮซีซันดึงต่างชาติพุ่งเดือนละ 1 ล้านคน

จุดพลุ "เปิดประเทศเต็มรูปแบบ" 1 มิ.ย.  ไฮซีซันดึงต่างชาติพุ่งเดือนละ 1 ล้านคน

ท่องเที่ยวรับสัญญาณบวก "เปิดประเทศเต็มรูปแบบ 1 มิ.ย.65" ททท.ปรับคาดการณ์ใหม่ 5 เดือนโลว์ซีซั่น พ.ค.-ก.ย. ดึงต่างชาติเที่ยวไทย 5 แสนคนต่อเดือน ไฮซีซันพุ่ง 1 ล้านคนต่อเดือน ดันยอดรวมปี 65 แตะเป้า 7-10 ล้านคน ฟื้นรายได้ 50%

จากไทม์ไลน์ “เปิดประเทศเต็มรูปแบบ 1 มิ.ย.2565” การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้จัดประชุมเรื่องการเปิดรับนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทยแบบเต็มรูปแบบ วานนี้ (23 พ.ค.) เพื่อทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวในการเตรียมความพร้อมร่วมกัน และสื่อสารเกี่ยวกับเป้าหมาย แนวโน้มการฟื้นตัว และภาพรวมแนวทางการทำตลาดตลอดปี 2565 ของ ททท.เพื่อเจาะนักท่องเที่ยวคุณภาพ โดยเฉพาะในช่วง 8 เดือนที่เหลือ หวังกระตุ้นรายได้รวมภาคท่องเที่ยวให้กลับมาทวงบัลลังก์พระเอกเศรษฐกิจไทยอีกครั้ง

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า แนวโน้มการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือน พ.ค.นี้ดีขึ้นต่อเนื่อง นับตั้งแต่รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าราชอาณาจักร ยกเลิกระบบ Test & Go มีจำนวนผู้เดินทางจริงทางอากาศตั้งแต่วันที่ 1-21 พ.ค.2565 จำนวน 367,449 คน หรือเฉลี่ยวันละ 20,000 คน แบ่งเป็นนักท่องเที่ยวประเภทไม่กักตัว 367,074 คน และประเภทกักตัว (AQ) 375 คน

โดย นักท่องเที่ยวจากประเทศที่เดินทางเข้าไทยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ

1.สิงคโปร์ 45,961 คน

2.อินเดีย 34,582 คน

3.มาเลเซีย 16,410 คน

4.เวียดนาม 14,003 คน

5.กัมพูชา 13,917 คน

 

++ โลว์ซีซั่นหวัง 5 แสนคนต่อเดือน

จากแนวโน้มการฟื้นตัวดังกล่าว ทำให้ ททท.ปรับคาดการณ์ว่าในช่วงโลว์ซีซั่น 5 เดือน ตั้งแต่ พ.ค.-ก.ย. จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยไม่น้อยกว่า 5 แสนคนต่อเดือน สูงกว่าเป้าหมายก่อนหน้านี้ที่ตั้งไว้ 3 แสนคนต่อเดือน โดยมาจากตลาดระยะใกล้ เช่น อินเดีย ซึ่งไม่ต้องกักตัวขากลับ รวมถึงตะวันออกกลาง และประเทศที่มีพรมแดนติดกับไทยซึ่งอนุญาตให้มีการเดินทางทางบก

ส่วนช่วงไฮซีซั่นซึ่งตรงกับไตรมาส 4 ตั้งแต่ ต.ค.-ธ.ค.นี้ จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่า 1 ล้านคนต่อเดือน จากตลาดระยะไกลทั้งยุโรปและสหรัฐ ทั้งนี้ ททท.หวังว่าจะเห็นสัญญาณบวกจากลูกค้าตลาดหลักอื่นๆ เช่น นักท่องเที่ยวจีน ว่าจะเริ่มกลับมาเที่ยวไทยปลายปีนี้ และเข้ามาจำนวนพอสมควรตั้งแต่เทศกาลตรุษจีนปี 2566 เป็นต้นไป

 

++ รายได้ท่องเที่ยวโอกาสสูงฟื้น50%

เมื่อรวมกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติช่วง 4 เดือนแรก ม.ค.-เม.ย. ที่มียอดตุนไว้แล้ว 4.44 แสนคน ททท.ประเมินว่าแนวโน้มตลอดปี 2565 มีโอกาสเป็นไปได้สูงที่จะไปถึงเป้าหมายดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทย 7-10 ล้านคน ขณะที่ตลาดนักท่องเที่ยวไทยตั้งเป้า 160 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้รวมการท่องเที่ยวปี 2565 ที่ 1.5 ล้านล้านบาท คิดเป็นการฟื้นตัว 50% เมื่อเทียบกับปี 2562 ก่อนเจอวิกฤติโควิด-19

“ททท.ตั้งเป้าหมายการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวไทยปี 2565 เห็นโรงแรมที่พักทั่วประเทศมีอัตราการเข้าพัก 50% สูงกว่าค่าเฉลี่ย 28% ซึ่งเป็นจุดวิกฤติที่ทำให้โรงแรมที่พักได้จุดคุ้มทุน พร้อมฟื้นอัตราการขนส่งผู้โดยสาร (Load Factor) ให้ได้ไม่น้อยกว่า 70% ภายใต้การฟื้นตัวของปริมาณที่นั่งผู้โดยสาร (Capacity) ของเที่ยวบินในประเทศที่ 50% เมื่อเทียบกับปี 2562 ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อทริป ตั้งเป้านักท่องเที่ยวต่างชาติใช้จ่ายอยู่ที่ 62,580 บาท โดยในช่วงไตรมาส 1 ปีนี้พบว่าใช้จ่ายเฉลี่ยสูงถึง 77,000 บาท ส่วนนักท่องเที่ยวไทยตั้งเป้าที่ 4,100 บาท”

ก่อนจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในปี 2566 สร้างรายได้รวมการท่องเที่ยว 2.4 ล้านล้านบาท คิดเป็นการฟื้นตัว 80% จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 20 ล้านคน ฟื้นตัว 50% เมื่อเทียบกับยอดเกือบ 40 ล้านคนเมื่อปี 2562 และมีนักท่องเที่ยวไทยใกล้เคียงปี 2562 จำนวน 172 ล้านคน-ครั้ง

 

++ สธ.เปิดเวทีรับฟังเอกชนท่องเที่ยว 16 มิ.ย.

นายศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด ททท. กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงคมนาคม และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จะเป็นโต้โผเปิดเวทีสำคัญ รับฟังความคิดเห็นจากตัวแทนสมาคมหรือหน่วยงานผู้ประกอบการภาคท่องเที่ยว บริการ ร้านอาหาร ขนส่ง และอื่นๆ โดยจะจัดในรูปแบบไฮบริด (ทั้งออนไซต์และออนไลน์) รวม 3 ครั้งภายในเดือน มิ.ย.-ก.ค.นี้ ครั้งแรกคือวันที่ 16 มิ.ย. ที่กรุงเทพฯ ส่วนครั้งที่ 2 และ 3 จะจัดที่ จ.นครราชสีมา และสุวรรณภูมิตามลำดับ

“ข้อดีของการจัดงานนี้ จะเป็นการถกถึงอนาคตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการร่วมกัน ว่ายังมีข้อติดขัดเรื่องใดบ้าง เช่น การจัดเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติ (หรือที่รู้จักกันในชื่อ ค่าเหยียบแผ่นดิน) อัตราคนละ 300 บาท รวมถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงานท่องเที่ยวและบริการ และอื่นๆ”

 

++ ลงทะเบียนไทยแลนด์พาสได้ QR Code ทันที

ด้านสรุปผลการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เมื่อวันที่ 20 พ.ค.2565 เกี่ยวกับการปรับมาตรการป้องกันโรคสำหรับการเดินทางเข้าราชอาณาจักร เริ่ม 1 มิ.ย.2565 เป็นต้นไป ระบุว่า ผู้เดินทางที่ไม่ได้รับวัคซีน หรือได้รับวัคซีนไม่ครบ สามารถแสดงผล Pro-ATK หรือ RT-PCR ภายใน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง, ยกเลิกการกักตัว ในกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีน หรือได้รับวัคซีนไม่ครบ และไม่มีผลตรวจ โดยเมื่อเดินทางมาถึง สามารถตรวจ Pro-ATK เมื่อถึงสนามบิน

เฉพาะ “ผู้เดินทางต่างชาติ” ยังต้องลงข้อมูลในระบบไทยแลนด์พาส (Thailand Pass) อยู่ แต่ปรับรูปแบบเพื่อความสะดวก ได้แก่ คงเหลือข้อมูลที่จำเป็น 3 ส่วน คือ หลักฐานวัคซีนหรือผลตรวจ ประกัน และข้อมูลหนังสือเดินทาง ทั้งนี้จะมีการออก QR Code ทันทีเมื่อลงทะเบียนเสร็จ โดยไม่มีการรออนุมัติ และสายการบินตรวจสอบเอกสารต่างชาติที่ปรากฏตามหน้า QR Code (วัคซีน หรือ ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ) และออกบอร์ดดิ้งพาส (Boarding Pass)

นอกจากนี้ ศบค.ยังได้ปรับแนวทางการจัดการผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง (HRC : High Risk Contact) ไม่ต้องกักตัว โดยให้สังเกตอาการตนเอง 10 วัน พร้อมเพิ่มเติมพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว (พื้นที่สีฟ้า) และอนุญาตเปิดสถานประกอบการในเศรษฐกิจภาคกลางคืน เช่น สถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ฯลฯ เริ่ม 1 มิ.ย.นี้ โดยเปิดบริการไม่เกิน 24.00 น. และจำหน่าย-บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่เกิน 24.00 น.

 

++ เฝ้าระวัง“ฝีดาษลิง”ระบาดในยุโรป

นายยุทธศักดิ์ ผู้ว่าการ ททท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้านการระบาดของเชื้อฝีดาษลิงในยุโรป หลังจากเริ่มมีการประกาศให้กักตัวในบางประเทศ เช่น เบลเยี่ยม ให้ผู้ติดเชื้อกักตัว 21 วัน ทาง ททท.คงต้องติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะมาตรการจากกระทรวงสาธารณสุข อย่างไรก็ตามยังไม่อยากให้ตื่นตระหนกจนเกินไป เพราะลักษณะการติดเชื้อไม่ได้ติดง่าย ต้องเป็นการสัมผัสใกล้ชิด โดยขณะนี้เท่าที่ทราบยังไม่มีการระบาดของเชื้อฝีดาษลิงในประเทศไทย แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังในส่วนนี้ต่อไป