เปิดเรียน - ทำงาน - โควิดคลี่คลาย แรงหนุนพาหุ้น BEM พ้นจุดต่ำ

เปิดเรียน - ทำงาน - โควิดคลี่คลาย แรงหนุนพาหุ้น BEM  พ้นจุดต่ำ

บรรยากาศการใช้ชีวิตการเรียน - การทำงาน และการเดินทางกลับมาอีกครั้ง หลังจากมาตรการผ่อนคลายโควิดบวกกับตัวเลขยอดติดเชื้อไปในทิศทางที่ดีขึ้น  บวกกับการเตรียมเปิดสถานบันเทิงผับ บาร์  คาราโอเกะ 1 มิ.ย. นี้ ส่งผลทำให้การเดินทางกลับมาคึกคักมากขึ้น

        สถานการณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับการท่องเที่ยวของไทยที่มีสัญญาณดีขึ้นตั้งแต่เปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ 1 พ.ค. 2565 ที่ผ่านมา ส่งผลทำให้ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)เปิดเผยตัวเลขนักท่องเที่ยว  ช่วงม.ค. - 18 พ.ค. อยู่ที่ 1 ล้านราย  เทียบช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 5 แสนคน

      โดย ททท.ตั้งเป้าปีนี้ นักท่องเที่ยวต่างชาติเป็น 7 ล้านคน ทำรายได้เข้าประเทศ 1.07 ล้านล้านบาท แผนการเบื้องต้นคือ พ.ค.- ก.ย.2565 เดือนละ 3 แสนคน และเข้าสู่ไฮซีซั่น ต.ค.- ธ.ค.2565 อีกเดือนละ 1 ล้านคน

ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวที่ดีขึ้นกว่าปี 2564 และการกลับมาใช้ชีวิตปกติทำให้กลับมาเห็นภาพที่ชินตา “จราจรที่ติดขัด”  จำนวนรถบนท้องถนนแออัด  แม้จะมีสถานการณ์ราคาน้ำมันแพงเป็นประวัติการณ์ราคาน้ำมันเบนซินทะลุ 50 บาทต่อลิตร

         ปัจจัยดังกล่าวจึงหนุนทำให้การใช้ถนน และการขนส่งกลับมาฟื้นตัว หนึ่งในนั้นมีการโฟกัสที่ บริษัท  ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ  จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ซึ่งราคาหุ้นยังปรับตัวขึ้นไม่มาก และยังมีอัพไซด์เทียบกับกลุ่มหุ้นธีมเปิดเมือง

        BEM เป็นผู้บริหารเดินรถไฟฟ้า จากปัจจุบันเป็นผู้เดินรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล หรือสายสีน้ำเงิน  ช่วงหัวลำโพง – บางซื่อ  และส่วนต่อขยายหลักสอง – ท่าพระ  รวมถึงสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่ – บางซื่อ และมีลุ้นกับการได้สัมปทานรถไฟฟ้าสายสีส้ม รวมทั้งสายสีม่วงใต้ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง

นอกจากนี้ยังบริหารทางพิเศษ  ภายใต้ทางพิเศษศรีรัช  ทางพิเศษสายศรีรัช - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ  และทางพิเศษ อุดรรัถยา   ช่วงโควิดที่ผ่านมา การใช้บริการลดลงต่ำจนทำตัวเลขต่ำสุด จนเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวปลายปี 2564 จากอัตราการใช้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน  2 แสนเที่ยวคนต่อวัน จากช่วงก่อนโควิดแตะที่ 4-5 แสนเที่ยวคนต่อวัน และลดฮวบลงไปต่ำกว่า 1 แสนเที่ยวคนต่อวัน ช่วงมาตรการล็อกดาวน์

        หากตั้งแต่ปี 2565 ตัวเลขการใช้บริการเดือนม.ค. อยู่ที่  1.74 แสนเที่ยวคนต่อวัน  เดือนก.พ. อยู่ที่  1.99  แสนเที่ยวคนต่อวัน  และเดือนมี.ค. 1.90 แสนเที่ยวคนต่อวัน  บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ดีบีเอส วิคเคอร์ (ประเทศไทย) มีมุมมองธุรกิจทางด่วนและรถไฟฟ้ากำลังฟื้นตัว โดยในเดือนพ.ค.ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเพราะ 1.โรงเรียนเปิดเทอม 2. ทยอยกลับไปทำงานออฟฟิศ 3. มี Event มากขึ้น  และ 4. นักท่องเที่ยวต่างชาติทยอยกลับเข้ามา

           ขณะที่ด้านผู้บริหาร BEM เชื่อมั่นว่าปริมาณการใช้ทางด่วนกลับไประดับ 90% ของก่อนโควิด โดยอยู่ที่ 1.1 ล้านเที่ยวคนต่อวัน  (+13%  MoM, +65%YoY)   ส่วนการใช้รถไฟฟ้ากลับไปที่ 93% ของก่อนโควิดที่ 2.8 แสนเที่ยวคนต่อวัน (+56%MoM, +211%YoY) และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเมื่อประกาศให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น

        โดยคาดการณ์กำไรสุทธิไตรมาส 2 ปี 2565  เติบโตดีทั้ง  YoY และ QoQ ส่วนทั้งปี 2565 คาดว่ากำไรสุทธิจะโตก้าวกระโดด  +119%YoY  เพราะการใช้ทางด่วนและรถไฟฟ้าฟื้นตัวเร็ว และเติบโตได้ต่อในปี 2566 ที่ +58%YoY

       คาดว่ามีโอกาสที่จะได้บริหารเดินรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ซึ่งเชื่อมต่อกับสายสีน้ำเงินที่ BEM บริหารเดินรถอยู่ โดยจะขาย TOR เดือนพ.ค.นี้ และผู้สนใจยื่นประมูลเดือนก.ค. 2565 ประกาศผู้ชนะประมูลเดือนก.ย. 2565   ซึ่งเรื่องนี้เป็นอีก Catalyst ของ BEM ในระยะสั้น

         ทั้งนี้ยังไม่ได้สะท้อนไว้ในประมาณการและราคาพื้นฐาน ส่วนสายสีม่วงส่วนขยาย ด้านใต้ได้เซ็นสัญญาไปแล้วเมื่อ 11 พ.ค. 2565  และกำลังอยู่ระหว่างก่อสร้าง ซึ่ง BEM มีโอกาสได้บริการส่วนใต้   เพราะปัจจุบันบริหารสายสีม่วงเหนืออยู่แล้ว

         โดยคงคำแนะนำซื้อให้ราคาพื้นฐาน 10 บาท ทั้งนี้ในระยะยาวบริษัทมีโอกาสได้งานเข้ามาเพิ่ม เช่น มอเตอร์เวย์M7, M8, M9 งานรถไฟรางคู่ เป็นต้น และมีเงินปันผลรับที่ดีจาก บริษัท ซีเคพาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKP , บริษัท ทีทีดับบลิว จำกัด (มหาชน) หรือ TTW