"จุรินทร์" นั่งประธานประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปก 19-22 พ.ค.นี้

"จุรินทร์" นั่งประธานประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปก 19-22 พ.ค.นี้

"จุรินทร์" นั่งประธานประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปก 19-22 พ.ค.นี้ เดินหน้าดันเปิดเจรจาเอฟทีเอ ลั่นถ้าสำเร็จ จะเป็นเอฟทีเอใหญ่สุดในโลก พร้อมดัน “ โมเดล BCG ” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาค ย้ำสมาชิกทุกประเทศยืนยันเข้าร่วมที่กรุงเทพฯ เว้นจีน 

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า วันที่ 19-22 พ.ค.นี้ กระทรวงพาณิชย์ จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีการค้ากลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก เอ็มอาร์ที) ที่กรุงเทพฯ โดยตนจะเป็นประธานการประชุม สำหรับประเด็นสำคัญที่ไทยจะผลักดันในฐานะเจ้าภาพ คือ การขับเคลื่อนการเดินหน้าจัดทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เอเปก (FTAAP) ระหว่างสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ ซึ่งสมาชิกหารือกันมานานแล้ว แต่ยังไม่เกิดขึ้นได้จริง  

“หากไทยสามารถผลักดันการจัดทำได้สำเร็จ จะกลายเป็นเอฟทีเอที่มีขาดใหญ่ที่สุดในโลก เพราะทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ มีประชารวมกัน 2,900 ล้านคน คิดเป็น 38% ของประชากรโลก มีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศรวมกัน 52 ล้านล้านดอลลาร์ (1,768 ล้นล้านบาท) คิดเป็น 62% ของจีดีพีโลก และมูลค่าการค้าระหว่างกันจะเพิ่มขึ้น 200-400%”  

นอกจากนี้ ไทยยังจะขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือBCG(บีซีจี โมเดล) ที่เป็นวาระแห่งชาติของไทย ให้กลายเป็นโมเดลเศรษฐกิจของภูมิภาค ที่จะนำมาใช้พัฒนาเศรษฐกิจ ขับเคลื่อนผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) และขนาดย่อม (เอ็มเอสเอ็มอี) ให้กลายเป็นฐานรากสำคัญในการขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจของไทยและเอเปกต่อไปอย่างยั่งยืน เพราะเป็นโมเดลที่จะทำให้ภาคการผลิต ตั้งแต่เศรษฐกิจฐานราก เดินหน้าไปสู่การผลิตทั้งสินค้าและบริการ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นไปตามการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) 

 ขณะเดียวกัน ไทยจะหารือสองฝ่าย (ทวิภาคี) กับทั้งสหรัฐฯ รัสเซีย แคนาดา ญี่ปุ่น และจีนฮ่องกงด้วย โดยการประชุมครั้งนี้ ทุกประเทศยืนยันที่จะเดินทางมาเข้าร่วมที่กรุงเทพฯ ยกเว้นจีน ที่จะประชุมผ่านออนไลน์ เพราะจีนมาตรการซีโร่ โควิด จึงไม่สะดวกที่จะเดินทางออกนอกประเทศ สำหรับสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ ประกอบด้วย ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี จีน จีนฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ จีนไทเป ไทย สหรัฐฯ และเวียดนาม