โจทย์หิน ททท. ฝ่า "โดมิโน่ เอ็ฟเฟ็กต์" รักษาสมดุลรายได้ "ไทยเที่ยวไทย"

โจทย์หิน ททท. ฝ่า "โดมิโน่ เอ็ฟเฟ็กต์"  รักษาสมดุลรายได้ "ไทยเที่ยวไทย"

การกอบกู้และรักษาสมดุลรายได้ “ตลาดท่องเที่ยวในประเทศ” คือหนึ่งในโจทย์ใหญ่ของ "ททท." นับตั้งแต่วิกฤติโควิด-19 ปิดกั้นกระแสการเดินทาง จากที่เคยครองสัดส่วน 1 ใน 3 ของรายได้รวมท่องเที่ยวไทย 3 ล้านล้านบาทเมื่อปี 2562 ทั้งยังพรากตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติจนเสียศูนย์!

ตลาด “ไทยเที่ยวไทย” จึงเป็นน้ำบ่อใหญ่! ที่ผู้ประกอบการมุ่งหน้าตักตวง เมื่อคนไทยตระหนักว่าต้องอยู่ร่วมกับโควิด-19 เริ่มออกมาใช้ชีวิต เดินทางท่องเที่ยวกันอีกครั้ง หลังสถานการณ์การระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนคลี่คลายดีขึ้น

ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ความท้าทายของการทำตลาดท่องเที่ยวในประเทศช่วงครึ่งหลังปี 2565 ได้รับผลกระทบเป็น “โดมิโน่ เอ็ฟเฟ็กต์” (Domino Effect) จากสถานการณ์ “เงินเฟ้อ” ที่เกิดจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาน้ำมันแพงขึ้นต่อเนื่อง กระทบต่อค่าใช้จ่ายในการขับรถท่องเที่ยว (Road Trip) ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน อาจทำให้คนไทยคิดว่าควรเก็บเงินไว้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวันก่อน มองการท่องเที่ยวเป็นตัวเลือกรองลงมา แต่คงไม่ได้กระทบมากนัก เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ได้เที่ยวกันมาพักใหญ่จากวิกฤติโควิด-19 เกิดความอัดอั้น และต้องการความถี่ในการท่องเที่ยวมากขึ้น

ส่วนตลาด “คนไทยเที่ยวต่างประเทศ” ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง มองว่าเป็นอีกหนึ่งความท้าทายในช่วงครึ่งปีหลัง เพราะปัจจุบันหลายๆ ประเทศเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวมากขึ้น ททท.ต้องหาทางทำให้คนกลุ่มนี้ยังคงเดินทางเที่ยวเมืองไทย ด้วยการนำเสนอแหล่งท่องเที่ยวใหม่ เพราะคนไทยที่ไปเที่ยวต่างประเทศล้วนอยากได้ประสบการณ์ท่องเที่ยวที่แตกต่าง 

โดยข้อมูลจากบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ระบุว่าปัจจุบันผู้เดินทางเข้าประเทศไทยเป็นคนไทยราว 30% สะท้อนว่าบางส่วนเริ่มออกไปเที่ยวต่างประเทศกันแล้ว

แม้การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนจะกระทบต่อความเชื่อมั่นด้านการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงไตรมาส 1/2565 แต่ยังถือว่าภาพรวมฟื้นตัวดี มีจำนวนคนไทยเที่ยวในประเทศ 29,697,727 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้น 73% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2564 และเพิ่มขึ้น 17% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2564 ส่วนรายได้ไตรมาส 1/2565 อยู่ที่ 135,335 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 53% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2564 และเพิ่มขึ้น 62% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า สินค้าหรือเส้นทางท่องเที่ยวที่โดดเด่น เกี่ยวข้องกับ “ศรัทธาและความเชื่อ” และ “เวิร์กเคชั่น” (Workation) หรือเที่ยวไปด้วยทำงานไปด้วย

 

ขณะที่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา เห็นกราฟผงกหัวขึ้นชัดเจน ทั้งรายได้สะพัด อัตราการเข้าพัก และจำนวนคนเดินทาง โดยมีนักท่องเที่ยวไทยเดินทางตลอดเดือน เม.ย.กว่า 10 ล้านคน โรงแรมในบางพื้นที่มีอัตราการเข้าพักกลับมาเท่าปี 2562 ก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 แล้ว โดยเฉพาะช่วงหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ (13-17 เม.ย.) ททท.ประเมินว่ามีรายได้สะพัดมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ 11,000 ล้านบาท

เมื่อเห็นแรงส่งที่ดี ททท.จึงเดินหน้าขยายผลความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร ทั้งสายการบิน ขนส่ง โรงแรมที่พัก ร้านค้า ร้านอาหาร ร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึก ตลอดทั้งผู้ประกอบการค้าปลีกที่มีมาตรฐานด้านสุขอนามัยอย่างเคร่งครัด ในการส่งเสริมการเดินทางของนักท่องเที่ยวไทย 

โดยคาดว่าตลอดปี 2565 จะส่งเสริมให้เกิดการเดินทางได้ไม่น้อยกว่า 160 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 656,000 ล้านบาท

มุ่งเน้นการสร้างประสบการณ์เพื่อตอบโจทย์ความคาดหวังของนักท่องเที่ยว ด้วยการพลิกโฉมการท่องเที่ยวของไทยให้เป็นไปอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ภายใต้แคมเปญ “เที่ยวเมืองไทย Amazing ยิ่งกว่าเดิม” นำเสนอการท่องเที่ยวผ่านประสบการณ์ที่มีคุณค่า ผ่านแนวคิด “เปลี่ยน Catalogue สินค้า เป็น Menu ประสบการณ์” ด้วยสร้างแรงบันดาลใจในการเดินทางท่องเที่ยวของแต่ละภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ “เสน่ห์วันวานเมืองเหนือ” ภาคกลาง “Trendy C2 ภาคกลาง” ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ “หลงรักแผ่นดินถิ่นอีสาน” ภาคใต้ “หรอยแรงแหล่งใต้” และภาคตะวันออก “สบ๊ายสบายภาคตะวันออก”

นอกจากนี้ ททท.จะผลักดันแนวทางในการส่งเสริมการท่องเที่ยว “เมืองรอง” และการท่องเที่ยว “ชุมชน” อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างการกระจายรายได้สู่จังหวัดท่องเที่ยวเมืองรอง ด้วยการนำเสนอ Local Experience เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้สนใจมาสัมผัสประสบการณ์จากพื้นที่โดยตรง โดยใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่และส่งเสริมภาพลักษณ์ของแต่ละจังหวัดหรือพื้นที่ พร้อมกับการรักษาธรรมชาติ สนับสนุนการมีส่วนร่วมของนักท่องเที่ยว ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในการส่งเสริม “การท่องเที่ยวที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม” ลดขยะและของเสียให้มากที่สุด (Zero Waste) เพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

รวมทั้งจะมีการ “ปรับภาพลักษณ์” อุตสาหกรรมท่องเที่ยว กระตุ้นการใช้จ่าย และขยายฐานตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ใช้จ่ายสูงและกลุ่มที่มีความสนใจเฉพาะ โดยมุ่งเชื่อมโยงการท่องเที่ยวไปยังอุตสาหกรรมบริการที่มีคุณภาพสูง ได้แก่ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และการท่องเที่ยวเชิงจิตวิญญาณ