‘สกพอ.’กางแผนพัฒนา ยกระดับ ‘ศก.ชุมชน’อีอีซี

‘สกพอ.’กางแผนพัฒนา ยกระดับ ‘ศก.ชุมชน’อีอีซี

เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นต้นแบบในการพัฒนาเชิงพื้นที่เพื่อสร้างเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทย โดยที่ผ่านมามีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานทั้งด้านโลจิสติกส์และดิจิทัล การให้สิทธิประโยชน์จูงใจการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย

ทั้งนี้ ภารกิจของอีอีซีในระยะต่อไปจะขยับไปที่การลงพื้นที่และพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ตามเป้าหมายหลักที่ต้องการสร้างสภาพแวดล้อมด้านเศรษฐกิจ สังคม และความเป็นอยู่ที่ดีให้ประชาชนในพื้นที่

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ร่วมกับมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (มูลนิธิ สวค.) จัดสัมมนาวิชาการ EEC Macroeconomic Forum ในหัวข้อ“EEC x เศรษฐกิจชุมชน: ก้าวหน้าไปด้วยกันอย่างยั่งยืน”เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2565 เน้นเชิญกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีพลังในการผลักดันการพัฒนาด้านชุมชนโดยมีผู้สนใจเข้าร่วมฟังกว่า 200 คน

คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สกพอ. กล่าวว่า ภารกิจในระยะต่อไปของอีอีซีที่สำคัญคือการสร้างสภาวะแวดล้อมของชุมชนที่ดี ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดในพื้นที่อีอีซีโดยในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ในระยะแรก อีอีซีได้มีโครงการจิตอาสาร่วมกับสาธารณสุขเพื่อช่วยเหลือพื้นที่เสี่ยงในชุมชนต่างๆ อาทิ บ้านฉาง มาบตาพุด ปลวกแดง

จนกระทั่งสถานการณ์เริ่มกลับสู่ภาวะปกติ ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา อีอีซีจึงได้มีการทำสัญญาความร่วมมือกับสถาบันการเงินของรัฐ 7 แห่ง เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ประชาชนกลับมาดำเนินธุรกิจต่อได้ ทั้งยังช่วยผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง อาทิ โครงการสินเชื่อเพิ่มสภาพคล่องดอกเบี้ยต่ำของธนาคารออนสิน วงเงิน 2 แสนบาท โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่มีเงื่อนไขว่าต้องเป็นการใช้เพื่อดำเนินธุรกิจที่มีอยู่เดิม รวมทั้งสินเชื่ออื่นๆ เพื่อผู้ประกอบการรายย่อย รายใหญ่ และผู้ส่งออก

นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่ดำเนินการร่วมกับชุมชนอีกหลายโครงการ อาทิ โครงการเสริมสร้างพลังและการมีส่วนร่วมของกลุ่มพลังสตรี เด็กและเยาวชน ในการดูแลและเฝ้าระวังการจัดการทรรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โครงการบัณฑิตอาสาพัฒนาชุมชนเพื่อดึงให้กลุ่มเด็กรุ่นใหม่กลับมาเป็นกำลังหลักในการทำงานและแก้ปัญหาร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ธัชพล กาญจนกูล รองเลขาธิการ สกพอ. กล่าวว่า การนำโมเดลของการพัฒนาเศรฐกิจชุมชนที่สำคัญ มุ่งเป้าไปที่การสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน สร้างอาชีพและโอกาสในการมีงานทำ รวมทั้งกำหนดหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลการพัฒนาชุมชน เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี

ยกตัวอย่าง ภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น 5-6% ต่อเดือน ที่อาจทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Stagflation) หากเศรษฐกิจโตไม่ทันตามอัตราเงินเฟ้อ การที่สหรัฐใช้นโยบายการเงินด้วยการปรับอัตราดอกเบี้ย ปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ ราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี ซึ่งจะส่งผลกระทบกับการดำเนินชีวิตของผู้คนอย่างมากในอนาคต

ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนำไปสู่แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ยุคใหม่ ที่เรียกว่า Sharing Economy และการสร้างเศรฐกิจแบบสมดุล โดยเน้นให้มีการแบ่งปันและจัดสรรทรัพยากรเพื่อความเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำ เช่นเดียวกับการให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจชุมชน

‘สกพอ.’กางแผนพัฒนา ยกระดับ ‘ศก.ชุมชน’อีอีซี สำหรับแนวคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนของอีอีซี ได้นิยามความหมายว่า เป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการผลิต การบริโภค การจำหน่าย สินค้าในท้องถิ่น โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนในการร่วมกันคิดร่วมกันทำและร่วมเป็นเจ้าของเศรษฐกิจโดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น

โดยกำหนดแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน 5 สร้าง ประกอบด้วย 1.สร้างความรู้ โดยการสร้างความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา สถาบันการเงิน และจัดตั้ง EEC Incubation Center เพื่อเป็นศูนย์ความรู้ในการธุรกิจแก่ประชาชนอาทิ การบริหารจัดการ การตลาด การออกแบบสินค้า และการหาเงินทุนเพื่อการผลิต

 2.สร้างอาชีพ โดยการร่วมกับเอกชนในการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน จัดตั้ง EEC Enterprise เป็นหน่วยงานที่ช่วยผลักดันและปิดจุดอ่อนของการดำเนินธุรกิจ อาทิ การขยายช่องทางการตลาดและการจำหน่ายสินค้า การบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ การจัดหาวัตถุดิบที่เหมาะสม และการส่งเสริมให้เข้าถึงนักลงทุน แหล่งเงินทุน และการระดมทุนในรูปแบบต่างๆ

 3. สร้างรัฐสวัสดิการ เน้นเรื่องสุขภาพ โดยมีโครงการที่ดำเนินการแล้วบางส่วน อาทิ โรงพยาบาลปลวกแดง ประกันรายได้เกษตรกร หรือ EFC ประกันรายได้ทุเรียน พร้อมหาตลาดส่งออก

4. สร้างเครือข่าย ร่วมกับกองทุนหมู่บ้าน และกรมพัฒนาชุมชน เพื่อสร้างเครือข่ายของวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่อีอีซีทั้งหมด

5.สร้างการเข้าถึงสถาบันการเงิน เป็นส่วนที่ได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว ด้วยการลงนามในสัญญาความร่วมมือกับ 7 สถาบันการเงิน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการ นอกจากนี้ อยู่ในระหว่างการพัฒนา EEC Virtual Banking เป็นรูปแบบการให้บริการผ่านระบบออนไลน์ ให้ประชาชนที่ไม่สามารถเดินทางไปธนาคารได้รับบริการผ่านระบบออนไลน์

ทั้งนี้ การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนมีขั้นตอนในการดำเนินการ ตั้งแต่การลงพื้นที่เพื่อสำรวจความต้องการของพื้นที่ เพื่อนำมาออกแบบ Conceptual Design ของการพัฒนาพื้นที่ แล้วนำแนวคิดที่ได้ไปรับฟังความคิดเห็นของคนในพื้นที่ด้วย จากนั้นจึงนำมาพัฒนาในเชิงโครงการ ยกตัวอย่าง โครงการโอลด์ทาวน์ นาเกลือ ที่คาดว่าจะสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการในพื้นที่เพิ่มขึ้น 4 เท่า