ผ่าหุ้น “อีสท์วอเตอร์-วงษ์สยาม” ขาใหญ่ชิงท่อน้ำ “อีอีซี” 2.5 หมื่นล้าน

ผ่าหุ้น “อีสท์วอเตอร์-วงษ์สยาม” ขาใหญ่ชิงท่อน้ำ “อีอีซี” 2.5 หมื่นล้าน

ผ่าโครงสร้าง-ส่องผู้ถือหุ้น "อีสท์วอเตอร์" - "วงษ์สยามก่อสร้าง" 2 เอกชน "ขาใหญ่" ปมร้อนชิงโครงการประมูลท่อน้ำส่งน้ำอีอีซี ก่อน "คลัง" สั่งสอบด่วน ขีดเส้นเสร็จใน 10 วัน

โครงการบริหารและดำเนินกิจการท่องส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นอีกหนึ่งโครงการร้อนที่กำลังถูก “ฝ่ายค้าน" เก็บข้อมูลเตรียมนำไปอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล

เนื่องจากถูก “พิเชษฐ สถิรชวาล” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) อดีตผู้ก่อตั้งและอดีตผู้บริหารบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ “อีสท์วอเตอร์” ออกมาเคลื่อนไหวผ่านสื่อว่า การประมูลครั้งนี้อาจมีความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้น โดยกล่าวหาว่ามีการ “ล็อกสเปก” ส่งผลให้ “อีสท์วอเตอร์” พ่ายแพ้ในการประมูลครั้งนี้

ขณะที่ผู้ชนะการประมูล บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ถูกกรมธนารักษ์ หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงการคลัง เลื่อนการเซ็นสัญญาออกไปจากกำหนดการเดิม 3 พ.ค.2565 ท่ามกลางการตื่นตัวของ “บิ๊กรัฐบาล” นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม สั่งการให้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้โดยด่วน

ทำให้เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2565  อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ลงนามคำสั่งที่ สส 3/2565 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงการบริหารจัดการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก (อีอีซี) มี “อรหันต์” ทำหน้าที่คณะกรรมการตรวจสอบรวม 10 ราย นำโดย วิจักษณ์ อภิรักษ์นันท์ชัย ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง เป็นประธานกรรมการ ที่เหลือประกอบด้วย ระดับผู้บริหาร และข้าราชการผู้เชี่ยวชาญจากกรมธนารักษ์ โดยต้องดำเนินการตรวจสอบใน 3 ประเด็น ได้แก่ 

1.ตรวจสอบกระบวนการคัดเลือกว่าเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

2.ตรวจสอบทางกายภาพระบบห่อส่งน้ำ สถานีสูบน้ำ และสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์ในการส่งมอบและรับมอบ โดยมิให้เกิดผลกระทบต่อการจัดทำระบบสาธารณูปโภคและหรือผู้ใช้น้ำ

3.พิจารณาข้อมูลปริมาณน้ำที่ส่งให้แก่ผู้ใช้น้ำ เปรียบเทียบกับลักษณะทางกายภาพของท่อส่งน้ำว่ารายได้ที่นำส่งเป็นไปอย่างเหมาะสมหรือไม่เพียงใด

ที่สำคัญขีดเส้นให้รายงานผลแก่กระทรวงการคลังทราบภายในวันที่ 20 พ.ค. 2565 ข้อเท็จจริงเหล่านี้คงต้องรอกระบวนการสอบสวนต่อไป

สำหรับ 2 เอกชนที่เข้าร่วมการประมูลท่อส่งน้ำอีอีซีครั้งนี้ คือ “อีสท์วอเตอร์” และ “วงษ์สยามก่อสร้าง” ต่างเป็น “ยักษ์ใหญ่” ในแวดวงธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง “ระบบประปา” ระดับชาติ 

แต่ละรายเป็นอย่างไร กรุงเทพธุรกิจ สืบค้นข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบรายละเอียด ดังนี้ 

บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2519 ทุนปัจจุบัน 630 ล้านบาท ตั้งอยู่ กทม. วัตถุประสงค์ที่ส่งงบการเงินปีล่าสุด บริการรับเหมาก่อสร้างระบบประปา,ชลประทาน ปรากฏชื่อ นายอนุฤทธิ์ เกิดสินธ์ชัย และนางสาวสุชานุช เกิดสินธ์ชัย เป็นกรรมการ

บริษัทนำส่งรายชื่อผู้ถือหุ้นล่าสุดเมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2564 มีอนุฤทธิ์ เกิดสินธ์ชัย ถือหุ้นใหญ่สุด 74.5238% นางสาวสุชานุช เกิดสินธ์ชัย ถือ 25.0317% นางสาว วรนุช เกิดสินธ์ชัย ถือ 0.3889% นางสาว วลัยพันธ์ เกิดสินธ์ชัย ถือ 0.0556%

นำส่งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2563 มีสินทรัพย์รวม 1,614,812,737 บาท หนี้สินรวม 367,773,026 บาท มีรายได้รวม 1,356,097,991 บาท รายจ่ายรวม 1,292,468,249 บาท ดอกเบี้ยจ่าย 792,272 บาท เสียภาษีเงินได้ 15,928,972 บาท กำไรสุทธิ 46,908,497 บาท

สำหรับนายอนุฤทธิ์ เกิดสินธ์ชัย กรรมการและผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด พบว่า เป็นกรรมการบริษัทอีกอย่างน้อย 5 แห่ง ได้แก่ บริษัท ข้าวกรุ๊ป จำกัด ทำธุรกิจการบริการด้านอาหารในภัตตาคาร/ร้านอาหาร บริษัท ทีพีเอ แอสเซ็ท จำกัด ทำธุรกิจโรงแรม รีสอร์ทและห้องชุด บริษัท ลิตเติ้ล คอร์นเนอร์ จำกัด ทำธุรกิจการบริการด้านอาหารในภัตตาคาร/ร้านอาหาร บริษัท เมเวธเธอร์ กรุ๊ป จำกัด ทำธุรกิจกิจกรรมของบริษัทโฮลดิ้งที่ไม่ได้ลงทุนในธุรกิจการเงินเป็นหลัก และบริษัท เอสทีพี อาร์แอนด์ดี วอเตอร์ เวอร์ค จำกัด ทำธุรกิจการติดตั้งระบบประปาและระบายน้ำ

บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา (2558-2565) โดยเฉพาะการประปาส่วนภูมิภาค อย่างน้อย 12 สัญญา (เท่าที่ตรวจสอบพบ) รวมวงเงิน 5,098 ล้านบาท 

ส่วน “อีสท์วอเตอร์" ก่อนหน้านี้คือ “รัฐวิสาหกิจ” ถูกจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2535 มีการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) รัฐวิสาหกิจภายใต้กระทรวงมหาดไทย ถือหุ้นใหญ่สุด 100% ต่อมาเมื่อปี 2540 ได้จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พร้อมกับเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 1,000 ล้านบาท โดย กปภ.ถือหุ้นเหลือแค่ 40% ทำให้ “อีสท์วอเตอร์” ในปัจจุบันมิใช่ “รัฐวิสาหกิจ” แต่เป็นเพียงบริษัทมหาชนที่หน่วยงานรัฐถือหุ้นใหญ่เท่านั้น (เอกชนที่เป็นรัฐวิสาหกิจต้องมีหน่วยงานรัฐถือหุ้นเกิน 51%) 

“อีสท์วอเตอร์” จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2539 ทุนปัจจุบัน 1,663,725,149 บาท วัตถุประสงค์ที่ส่งงบการเงินปีล่าสุด จำหน่ายน้ำดิบจำหน่ายน้ำประปา

ปรากฏชื่อกรรมการ ดังนี้ นางอัศวินี ไตลังคะ ประธานคณะกรรมการบริษัท นายเชิดชาย ปิติวัชรากุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และกรรมการ นายเมลวิน จอห์น มอญเดฮาร์ แทน กรรมการ นายบำรุงศักดิ์ ฉิ่งวังตะกอ กรรมการ นายเอกชัย อัตถกาญน์นา กรรมการ นายสุรชัย เชื้อแพ่ง กรรมการ พล.ร.อ.พิเชฐ ตานะเศรษฐ กรรมการ นายวีริศ อัมระปาล กรรมการ นายมงคล วัลยะเสวี กรรมการ นายหลักชัย พัฒนเจริญ กรรมการ นายสุรชัย ขันอาสา ประธานคณะกรรมการตรวจสอบ นายชาติชาย อุทัยพันธ์ กรรมการตรวจสอบ พล.ร.อ.สุชีพ หวังไมตรี กรรมการตรวจสอบ และ นายสุรพัฒน์ มาลัย กรรมการตรวจสอบ

รายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ 10 ลำดับแรก ได้แก่ การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ถือ 40.20% MANILA WATER (THAILAND) COMPANY LIMITED ถือ 18.72% การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ถือ 4.57% บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด ถือ 4.14%  

นาย มิน เธียรวร ถือ 2.34% STATE STREET EUROPE LIMITED ถือ 1.14% บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ถือ 0.86% นาย นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ถือ 0.60% UBS AG LONDON BRANCH ถือ 0.43% นาย วิชิต รักสุจริต ถือ 0.41%

นำส่งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2564 (สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2564) มีสินทรัพย์รวม 23,688.87 ล้านบาท หนี้สินรวม 12,261.91 ล้านบาท รายได้รวม 4,726.73 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,061.60 ล้านบาท

“อีสท์วอเตอร์” เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา (2558-2565) อย่างน้อย 80 โครงการ รวมวงเงินอย่างน้อย 363.62 ล้านบาท