ส่องวิถีชีวิตชุมชน“EEC” เพิ่มมูลค่าศก.ด้วยดิจิทัล

ส่องวิถีชีวิตชุมชน“EEC”  เพิ่มมูลค่าศก.ด้วยดิจิทัล

อย่างที่ทราบกันว่า เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ถูกกำหนดให้เป็นศูนย์กลางการลงทุนสำคัญของประเทศ ซึ่งได้รับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภครองรับการพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจและการลงทุนจากภาคเอกชน

ขณะเดียวกัน ประชาชนในพื้นที่ก็เริ่มให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างรายได้ทดแทนธุรกิจรูปแบบเดิมที่กำลังเลือนหายไปตามกาลเวลา

เช่นเดียวกับประชาชนในชุมชนปากน้ำประแส จังหวัดระยอง ชุมชนเก่าแก่ที่เคยเป็นเมืองท่าสำคัญของภาคตะวันออก เมืองที่เคยรุ่งเรืองและสร้างความมั่งคั่งให้กับคนในพื้นที่ด้วยกิจการประมงพาณิชย์ แต่ปัจจุบัน กิจการประมงพาณิชย์ของชุมชนซบเซาลง อีกทั้งคนรุ่นใหม่หันไปประกอบอาชีพอื่น และย้ายไปทำงานในเมือง ทำให้ไม่มีผู้สืบทอดกิจการ

ชุมชนและเทศบาลตำบลปากน้ำประแสจึงได้ร่วมกันพัฒนาสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานของชุมชน เพื่อปรับตัวสู่การเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีจุดเด่นในเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติริมน้ำ ชายฝั่งทะเลอันอุดมสมบูรณ์ วิถีชีวิตแบบดั้งเดิม และเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ พร้อมวางแผนพัฒนาและออกแบบกิจกรรมการท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในชุมชน ผ่านโครงการอนุรักษ์ประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตชุมชนบ้านเก่าริมน้ำประแสด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล จากความร่วมมือของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตชาใบขลู่และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ชมรมบ้านเก่าริมน้ำประแส เทศบาลตำบลปากน้ำประแส และ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ผ่านการนำเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่นด้วยเทคโนโลยี Augmented Reality (AR) เพื่อสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ในยุค New Normal

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตชาใบขลู่และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ พร้อมด้วยชมรมบ้านเก่าริมน้ำประแส และเทศบาลตำบลปากน้ำประแสร่วมกันรวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของชุมชน โดยมี depa ทำหน้าที่ให้คำปรึกษา และเสนอแนวทางการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล จัดทำแผนบริหารจัดการเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน ตลอดจนเชื่อมโยงให้เกิดการจับคู่ธุรกิจระหว่างชุมชนกับผู้ประกอบการดิจิทัล

โดยโครงการอนุรักษ์ประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตชุมชนบ้านเก่าริมน้ำประแสด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เปิดให้นักท่องเที่ยวดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน ‘Visit Prasae’ เพื่อชมภาพ AR ที่บอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการทำประมงของชุมชนตามจุดท่องเที่ยวสำคัญ ขณะเดียวกันยังสามารถนับจำนวนนักท่องเที่ยวผ่านการใช้แอปพลิเคชัน ก่อนนำข้อมูลมาใช้ประกอบการวิเคราะห์การวางแผนส่งเสริมการท่องเที่ยวในอนาคต

จากการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2564 พบว่า โครงการอนุรักษ์ประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตชุมชนบ้านเก่าริมน้ำประแสด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล สามารถสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน ทั้งร้านค้า ร้านอาหาร โฮมสเตย์ และบริการอื่น ๆ เพิ่มขึ้น เฉลี่ย 3% ต่อปี คิดเป็นมูลค่า 596,000 บาท จากการที่นักท่องเที่ยวเดินทางมาสัมผัสประสบการณ์การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ในชุมชนเพิ่มขึ้น และยังสามารถสืบสาน รักษาประวัติศาสตร์ด้านการทำประมง รวมถึงวิถีชีวิตของคนรุ่นเก่าให้คงอยู่ด้วยการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้รูปแบบใหม่แก่เยาวชน คนในชุมชน และผู้สนใจ มากกว่า 3,500 คน

โครงการดังกล่าวเกิดจากการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนในทุกกระบวนการ โดยมีกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีหัวใจรักบ้านเกิดเป็นผู้นำการขับเคลื่อนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อสืบสานและรักษาประวัติศาสตร์ด้านการทำประมงของชุมชนให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับบริบทการเรียนรู้ของคนในปัจจุบัน โดยดำเนินการร่วมกับคนในชุมชนที่มีข้อมูลประวัติศาสตร์ ประเพณี และวัฒนธรรม ร้อยเรียงแนวคิด ความรู้ และความร่วมมือจนเกิดเป็น Visit Prasae ซึ่งทั้งหมดนับเป็นการปรับตัวเพื่อพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนในยุคปัจจุบัน