"จุรินทร์"เปิดเงื่อนไขการค้าใหม่สู่กลไก“ซีโร่ คาร์บอน”

"จุรินทร์"เปิดเงื่อนไขการค้าใหม่สู่กลไก“ซีโร่ คาร์บอน”

“จุรินทร์”รับภาคส่งออกไทยเผชิญ 2 แรงท้าทาย ทั้งภูมิรัฐศาสตร์เปลี่ยน -กติกาใหม่ลดปล่อยก๊าซ กางแผนหนุนธุรกิจ“บีซีจี” พาณิชย์ เปิดสินค้าปลอดคาร์บอนครองตลาดโลก 30% “คลัง”เร่งแผนภาษีหนุนเงื่อนไขการค้าใหม่หันให้ความสำคัญความยั่งยืน

โลกกำลังเข้าสู่หัวเลี้ยวหัวต่อทั้งทางสังคม สุขภาพ สิ่งแวดล้อม ซึ่งทั้งหมดกำลังจะกลายเป็นเงื่อนไขทางการค้าใหม่ที่ประเทศผู้เล่นในเวทีการค้าโลกอย่างไทย ที่มีสัดส่วนรายได้หรือจีดีพีมาจากการค้าระหว่างประเทศสูงถึง 70% ต้องเร่งปรับตัวเพื่อใช้การเปลี่ยนแปลงกำลังจะเกิดขึ้นนี้เป็น“โอกาส” แทนที่ จะปล่อยให้กติกาการค้าโลกใหม่กลายเป็น“อุปสรรค” ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงมีแผนที่จะสร้างโอกาสจากสถานการณ์แห่งการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ 

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “Thailand’s Strategy สู่ความยั่งยืนในเวทีโลก” จัดโดย หนังสือพิมพ์“ฐานเศรษฐกิจ” วานนี้ (11 พ.ค.2565) ว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับวิกฤติสงครามการค้า ,โควิด-19 และสงครามในยูเครน ซึ่งถือว่าเป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติที่หลายประเทศต้องเจอ ทั้งนี้ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจทำให้หน่วยงานที่ประเมินและคาดการณ์เศรษฐกิจ เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยจากเดิม 4.4% เป็น 3.6% ส่วนการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 2.6% เท่านั้น

ทั้งนี้ ในปัจจุบันเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากปัญหาการสู้รบในยูเครนกระทบต่อห่วงโซ่การผลิต ทำให้วัตถุดิบ อาหาร และอาหารสัตว์ขาดแคลน และราคาพลังงานมีความผันผวนมาก นอกจากนั้นยังเกิดปัญหาเงินเฟ้อ บางประเทศต้องเผชิญปัญหามากจนต้องเปลี่ยนรัฐบาลเมื่อเทียบกับประเทศไทยแล้วยังถือว่าไทยยังได้รับผลกระทบน้อย

โดยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ มีเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญ 3 – 4 เรื่องโดยการส่ออกยังเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย หลังจากที่ในปี 2564 ที่ผ่านมาการส่งออกขยายตัว 17.1% สร้างรายได้เข้าประเทศรวมกว่า  8.5 ล้านล้านบาท  ส่วนในปี 2565 คาดว่าการส่งออกจะขยายตัวได้เพิ่มเติมในแง่มูลค่าที่คาดว่าจะทำได้ถึงประมาณ 10 ล้านล้านบาท โดย 3 เดือนแรก การส่งออกสามารถทำรายได้เข้าประเทศแล้วกว่า 2.4 ล้านล้านบาท และในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมามูลค่าการส่งออกเดือนเดียวสูงถึง 9.2 แสนล้านล้านบาท สูงสุดในรอบ 30 ปี

ในปี 2565 คาดว่าการส่งออกจะขยายตัวได้เพิ่มเติมในแง่มูลค่าที่คาดว่าจะทำได้ถึงประมาณ 10 ล้านล้านบาท โดย 3 เดือนแรก การ

ส่งออกสามารถทำรายได้เข้าประเทศแล้วกว่า 2.4 ล้านล้านบาท และในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมามูลค่าการส่งออกเดือนเดียวสูงถึง 9.2 แสนล้านล้านบาท สูงสุดในรอบ 30 ปี

ส่วนเครื่องยนต์อื่นๆทางเศรษฐกิจในปีนี้จะมีเรื่องของการท่องเที่ยวจะเข้ามาเป็นตัวช่วยในการส่งออกทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวมากขึ้น รวมทั้งการลงทุนภาครัฐที่รอในเรื่องของงบประมาณที่จะเข้าสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้เกิดการลงทุนที่ต่อเนื่องต่อไป

นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า แม้ในปัจจุบันการส่งออกจะสามารถผลักดันเศรษฐกิจของประเทศได้ แต่จะมีความท้าทายใหม่ๆที่จะเข้ามาทำให้การส่งออกยากมากขึ้น เนื่องจากปัจจัยความท้าทายใน 2 เรื่องที่มาจากผลกระทบภายนอกประเทศ ได้แก่

ทางแยกการค้าโลกสองขั้ว

1.การแบ่งขั้วของการเมืองและการเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์ในโลกที่ทำให้ โลกที่จะถูกบังคับแบ่งขั้วแบ่งค่ายมากขึ้น และจะกระทบกับการส่งออก และการค้าระหว่างประเทศ จากผลกระทบของสงครามในยูเครน และการที่เริ่มเข้ามามีบทบาทของหลายประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตเร็ว 

ทั้งนี้ต้องจับตา“ภูมิภาคชินเดีย” คือจีน (China) และอินเดีย (India) เนื่องจากมีประชากรสองประเทศจำนวนมาก และจะมีบทบาททางเศรษฐกิจมากขึ้นในเวทีโลก ประเด็นนี้จะมองข้ามไม่ได้ และประเทศไทยต้องอยู่รอดในการแบ่งฝักฝ่ายทั้งสองข้าง ประเทศไทยต้องเดินให้ถูกและเป็นจับมือผนึกกับอาเซียนเพื่อสร้างอำนาจต่อรอง

2.เงื่อนไขการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี จะมีบทบาทมากขึ้นโดยเฉพาะการออกกฎกติกาในการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การประกาศแผนการปฏิรูปสีเขียวและมาตรการทางภาษีของสหภาพยุโรป(EU) หรือ EuropeanGreen Dealทำให้เกิดกลไกการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน หรือ Carbon border Adjustment Mechanism (CBAM) ซึ่งประเทศที่ทำการค้า ส่งออกสินค้าไปยังสหภาพยุโรปต้องผ่านกฎข้อนี้ และ EU ประกาศว่าอีก 4 ปี 2026 ข้างหน้าจะมีการเก็บภาษีคาร์บอน อย่างน้อย 5 รายการ ได้แก่ เหล็ก ซีเมนต์ อะลูมิเนียม ปุ๋ย และบริการไฟฟ้า โดยเหล็กเราส่งออกไปยุโรปถึง 68% และอะลูมิเนียมนั้นไทยส่งออกไปถึง 32% ในยุโรป นอกจากนั้นอนาคตยุโรปจะมีการเก็บเพิ่มอีก 2 – 3 ชนิด ได้แก่ เม็ดพลาสติกผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เช่น แอมโนเนีย เป็นต้น

นอกจากนั้นตลาดการค้าขนาดใหญ่ของไทยอีกแห่ง เช่น สหรัฐจะมีการเก็บภาษีคาร์บอน ในสินค้าที่มีการปล่อยคาร์บอนสูงในการผลิต เช่น ปิโตรเคมี เหล็ก ซีเมนต์ และ สินค้าในหมวดก๊าซธรรมชาติ ปิโตรเลียม และถ่านหิน ซึ่งจะกระทบกับการผลิตทั้งอุตสาหกรรมการเกษตร การผลิตในอุตสาหกรรม รวมทั้งภาคการบริการ ซึ่งประเทศไทยต้องเตรียมพร้อมที่จะรับการปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์นี้ และเป็นกติกาการค้าโลกใหม่ที่การส่งออกต้องเผชิญ

ไทยพร้อมรับกติกาการค้าโลก

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ประเทศไทยได้ประกาศจุดหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมีเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (ซีโร่คาร์บอน)ในปี 2065 ซึ่งถือว่าอยู่ในกลุ่มกลางๆในการประกาศเป้าหมายการลดคาร์บอนไดออกไซด์

โดยกระทรวงพาณิชย์ ได้มีการเตรียมความพร้อมโดยให้ความสำคัญ ในเรื่องยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต หรือเกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด ซึ่งได้ดูรูปแบบจากประเทศญี่ปุ่นในการทำให้สินค้าเกษตรของไทยสามารถตอบโจทย์ของตลาดโลกที่ต้องการการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่วแวดล้อมตั้งแต่ต้นทางการปลูกถึงการเก็บเกี่ยว รวมทั้งการส่งออกสินค้าเพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้

นอกจากนั้นกระทรวงยังมีการแยกหมวดสินค้าที่เป็นสินค้าแบบ BCG หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy), เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) โดยเฉพาะเพื่อสร้างโอกาสทางการตลาด และมีการแยกผลิตภัณฑ์ BCG ออกมา สามารถส่งเสริมการส่งออกที่เน้น BCG ได้เป็นมูลค่าสูงถึง 3.8 พันล้านบาท มากกว่าเป้าหมาย 5 เท่า และมีการส่งเสริมผู้ประกอบการในสาขานี้รวม 1,351 ราย โดยมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายเช่น อาหารทางการแพทย์ อาหารแห่งอนาคต และอาหารที่เป็นเทรนด์เช่นการทำ plant based โดยจับมือกับภาคเอกชนในการทำตลาด โดยใช้นโยบายรัฐหนุนเอกชนนำ โดยให้ภาครัฐส่งเสริมการส่งออกและทำตลาดสินค้า โดยใช้ทูตพาณิชย์เป็นกลไกหนึ่งในการหาตลาดส่งออกในการเชื่อม อำนวยความสะดวก เพื่อให้เกิดการส่งออกเพิ่มขึ้น

BCGโลกกินส่วนแบ่งตลาด30%

นายนัทพงษ์ จิระเลิศพงษ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกล่าวว่าในอนาคตตลาดส่งออกของไทยต้องมุ่งไปสู่การเป็นตลาดที่ต้องการสินค้าที่ลดการปล่อยคาร์บอนได้มากขึ้นโดยตลาดนี้คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30% ของตลาดทั้งหมด และมีโอกาสที่จะขยายไปถึง 50% ได้ตามจำนวนสินค้าที่คู่ค้าจะกำหนดเพิ่มขึ้นในอนาคต

ทั้งนี้ปัจจุบันในเรื่องของ Carbon Barrier to trade ที่กระทบกับประเทศไทยในสัดส่วนของ 5 สินค้าซึ่งตรงกับเกณฑ์ของ CBAM หรือใกล้เคียงกัน ใน 5 กลุ่มสินค้า รวมเป็นสัดส่วน 47.59% ของการส่งออกสินค้าในกลุ่มนี้ หรือคิดเป็นมูลค่า 7.4 หมื่นล้าน แบ่งเป็นสินค้าในกลุ่มอียู มูลค่า 6,890 ล้านบาท สหรัฐวงเงินรวม 38,736 ล้านบาท ญี่ปุ่น 14,687 ล้านบาท และจีน มูลค่าการส่งออกสินค้าในหมวดนี้รวม 13,696 ล้านบาท และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต

“ทุกธุรกิจและอุตสาหกรรมต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้เกิดขีดความสามารถในการแข่งขัน มาตรการทางภาษีต่างๆจะมากำหนดให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ภาคเอกชนจะมีส่วนสำคัญในการปรับเปลี่ยน โดยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะทำให้ธุรกิจ และประเทศสามารถแข่งขันได้”

เร่งแผนภาษีหนุนโตยั่งยืน 

นายณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต กรมสรรพสามิตกล่าวว่ากรมสรรพสามิตรอยู่ระหว่างศึกษาการจัดเก็บภาษี ใน 5 สินค้า ที่เกี่ยวข้องกับมาตรการ CBAM ซึ่ง 5 สินค้าสำคัญนั้นเป็นสินค้าที่ไทยได้มีการส่งออก ประกอบด้วย ซีเมนต์ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ปุ๋ย และไฟฟ้า ซึ่งสหภาพยุโรป จะเริ่มเก็บภาษีดังกล่าวอย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2569

สำหรับมาตรการ CBAM คือ มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป โดยการกำหนดราคาสินค้านำเข้าบางประเภทเพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เข้ามาในกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป

นอกจากนี้ กรมฯยังอยู่ระหว่างการศึกษาการลดภาษีเครื่องจักรหรืออุปกรณ์นำเข้าที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ลดการใช้พลังงาน เพื่อจูงใจให้ภาคอุตสาหกรรมปรับเปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์หรือเครื่องจักร และในปี 2593 จะมีการจัดเก็บภาษี เช่น ถ่านหิน รวมทั้ง NGV มากขึ้น เพราะมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ในปริมาณสูง ซึ่งเป็นปัญหาหลักที่เกิดขึ้น

ปี 2569ปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์

โดยในอนาคตจะมีการนำคาร์บอนเครดิตมาใช้ กล่าวคือ หากจะมีการปล่อยก๊าซคาร์บอน จะต้องมีการซื้อคาร์บอนเครดิต เพื่อมาถัวเฉลี่ยการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ รวมทั้ง จะมีการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ปี 69 ในส่วนของอัตราภาษีไฮบริด และปลั๊กอินไฮบริด ให้มีความแตกต่างกัน เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น

“คาร์บอนเครดิต เป็นสิ่งจำเป็นที่เราต้องปรับและต้องเปลี่ยน หากวันนี้เราไม่ทำอนาคตก็จะถูกทำให้ต้องปรับจากต่างประเทศผ่านมาตรการทางภาษีหรือมาตรการกีดกันทางการค้า ดังนั้น หากเราทำก่อนก็จะทำให้เราปรับตัวได้ก่อน”

สำหรับการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต เพื่อจูงใจให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาคอุตสาหกรรม และครัวเรือนลดการใช้พลังงานและลดการปล่อยคาร์บอนฯ เช่น การเพิ่มอัตราการจัดเก็บภาษีน้ำมันดีเซล ที่ในอดีตมีอัตราการจัดเก็บต่ำกว่าน้ำมันเบนซิน แต่เนื่องจากมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนสูงกว่า กรมฯจึงมองว่า อัตราภาษีน้ำมันดีเซลควรจะเทียบเท่าหรือมากกว่าน้ำมันเบนซิน ทำให้ปัจจุบันอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 6 บาทต่อลิตร