SMEs กับระเบิดเวลา NPL ที่จะต้องเผชิญ (จบ)

SMEs กับระเบิดเวลา NPL ที่จะต้องเผชิญ (จบ)

การแก้ไขหนี้เสียตามภาวะปกติที่เคยทำมาคงไม่สามารถนำมาใช้ได้ กับหนี้เสียที่เกิดจากปัญหาโควิด 19 ถ้าไม่สุมหัวคิดมาตรการที่เหมาะสม ระเบิดเวลา NPL จะทำให้ธุรกิจต่าง ๆ ล้มละลาย ลามเป็นปัญหาสังคมอย่างแน่นอน

จากการสัมมนาระหว่าง “เครดิตบูโรกับสมาชิก” เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2565 เปิดเผยข้อมูลผลกระทบจากโควิด 19 ทำให้ภาระหนี้ของธุรกิจและประชาชนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ลูกหนี้ที่เป็นบุคคลธรรมดา ภายใต้ "รหัสบัญชี” ที่สะท้อนประเภทหนี้ของแต่ละกลุ่ม หากเป็นรหัส 010 ถือเป็นลูกหนี้ปกติ ไม่มีการค้างชำระหนี้ ขณะที่ลูกหนี้รหัสบัญชี 020 เป็นลูกหนี้ที่ค้างชำระเกิน 90 วัน เป็นหนี้ NPL รหัสบัญชี 021 เป็นลูกหนี้ค้างชำระเกิน 90 วัน เป็นกลุ่มลูกหนี้ NPL ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไม่ปกติ ออกแบบมาเพื่อให้สถาบันการเงิน หรือเจ้าหนี้ สามารถแยกบัญชีสินเชื่อที่ให้กับลูกหนี้ว่าบัญชีใดมีหนี้คงค้างเกินกว่า 90 วัน ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 ซึ่งก่อนสิ้นปี 2562 เป็นลูกหนี้ที่ไม่มีการค้างชำระหนี้ จำนวน 2.3 ล้านบัญชี คิดเป็นหนี้ NPL ถึง 2 แสนล้านบาท เฉลี่ยต่อบัญชีประมาณ 8 หมื่นบาท เป็นกลุ่มลูกหนี้ที่ต้องได้รับการช่วยเหลือจากมาตรการพิเศษที่แตกต่างกว่าเดิม

ลูกหนี้ที่เป็นกลุ่มเอสเอ็มอีนิติบุคคล ภายใต้นิยามของ สสว.คือเอสเอ็มอีรายย่อย (Micro) ที่มีรายได้ต่ำกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี และเอสเอ็มอีขนาดย่อมที่มีรายได้ไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อปี และเอสเอ็มอีขนาดกลางที่มีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาทต่อปี มีสินเชื่อในระบบรวม 3.93 ล้านล้านบาท จำนวน 286,300 นิติบุคคลยอดหนี้ที่เป็นหนี้เสีย 3.2 แสนล้านบาท คิดเป็น 7.9 % เป็นกลุ่มที่ได้รับการปรับโครงสร้างหนี้ถึง 2.9 แสนล้านบาท และยังคงเป็นยอดหนี้เสียสะสมถึง 2.7 แสนล้านบาท 

จาก 5 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ ธุรกิจขายส่งและขายปลีกการซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ 1.15 แสนล้านบาท การผลิต 9.58 หมื่นล้านบาท กลุ่มก่อสร้าง 2.48 หมื่นล้านบาท อสังหาริมทรัพย์ 2.68 หมื่นล้านบาท ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร 1.42 หมื่นล้านบาท เป็นกลุ่มที่มีการปรับโครงสร้างหนี้สูงสุด จากยอดปรับโครงสร้างหนี้ของเอสเอ็มอีทั้งหมด 2.9 แสนล้านบาท ที่น่าเป็นห่วงคือลูกหนี้เอสเอ็มอีที่ค้างชำระไม่เกิน 90 วัน หรือกลุ่ม SM จำนวน 1.1 แสนล้านบาท ที่มีการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว โดยเป็นลูกหนี้ในกลุ่มขายส่งและการขายปลีกซ่อมรถยนต์และจักรยานยนต์ 3.1 หมื่นล้านบาท ภาคการผลิต 2.1 หมื่นล้านบาท อสังหาริมทรัพย์ 1 หมื่นล้านบาท ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร 8.9 พันล้านบาท และการก่อสร้าง 1.29 หมื่นล้านบาท

ลูกหนี้กลุ่ม SM จะไหลกลับเป็นหนี้ปกติถ้าเศรษฐกิจฟื้นตัวซึ่งเกิดได้ยากมากในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ผมเป็นห่วงว่าลูกหนี้กลุ่มหนี้จะกลายเป็นลูกหนี้ที่ค้างชำระเกินกว่า 90 วัน กลายเป็นลูกหนี้ NPL เพิ่มขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศไทยฟื้นตัวช้า และต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงมาก ปัญหาเงินเฟ้อจากราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้มาตลอด เช่นการแก้หนี้เดิม โดยให้ความช่วยเหลือผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ ณ 31 ม.ค. 2565 มีลูกหนี้ได้รับการช่วยเหลือ 4.83 ล้านบัญชี คิดเป็นยอดหนี้ที่ได้รับการช่วยเหลือ 3.19 ล้านบาท ด้านการให้สินเชื่อใหม่ ตามโครงการให้ความช่วยเหลือผ่านสินเชื่อฟื้นฟู (Soft loan) มีผู้ได้รับการช่วยเหลือแล้ว 126,996 ราย คิดเป็นยอดหนี้ที่ได้รับการอนุมัติ 299,593 ล้านบาท ขณะที่โครงการพักทรัพย์พักหนี้มีธุรกิจที่ได้รับการช่วยเหลือ 309 ราย รวมเป็นเงิน 41,211 ล้านบาท ณ 21 มี.ค.2565 โครงการสินเชื่อฟื้นฟู ช่วยเหลือไปแล้ว 49,209 ราย รวมเป็นเงินที่ช่วยเหลือ 161,393 ล้านบาท 

ขณะที่คลินิคแก้หนี้ มีการช่วยเหลือ 72,151 บัญชี สถาบันการเงิน นอนแบงก์ ได้ให้ความช่วยเหลือ ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้รวม 1.69 ล้านบัญชี แบงก์รัฐ 3.14 ล้านบัญชีรวมบัญชีที่ได้รับการปรับโครงสร้างแล้ว 4.38 ล้านบัญชี คิดเป็นภาระหนี้ที่ได้รับการช่วยเหลือแล้ว 3.19 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นการช่วยเหลือจากสถาบันการเงินและนอนแบงก์ 1.99 ล้านบาทแบงก์รัฐ 1.20 ล้านบาท 

ดูจากสถิติต่าง ๆ ที่นำเสนอ จำนวน NPL น่าจะลดลงหากมาตรการต่าง ๆ ช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้ที่ถูกต้อง แต่ NPL ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เสียงบ่นจากผู้ประกอบการที่เดือดร้อนแต่ไม่ไดรับการช่วยเหลือ ลูกหนี้ที่ได้รับการช่วยเหลือ เป็นลูกหนี้ที่ไม่เดือดร้อนจริง เป็นเพียงการประชาสัมพันธ์การแก้หนี้ของสถาบันการเงินเพื่อโชว์ตัวเลขกับรัฐบาล เป็นสิ่งที่จะต้องนำมาทบทวนแก้ไขอย่างจริงจัง

การแก้ไขหนี้เสียตามภาวะปกติที่เคยทำมาคงไม่สามารถนำมาใช้ได้ กับหนี้เสียที่เกิดจากปัญหาโควิด 19 ถ้าไม่สุมหัวคิดมาตรการที่เหมาะสม ระเบิดเวลา NPL จะทำให้ธุรกิจต่าง ๆ ล้มละลาย ลามเป็นปัญหาสังคมอย่างแน่นอน คงมีข่าวการฆ่าตัวตายเกิดขึ้นเป็นรายวัน ในอนาคตอันใกล้ครับ....