8 Big Move สู่การเป็น "Tech Hub" ของไทยในทัศนะของซีอีโอ "เครือซีพี"

8 Big Move สู่การเป็น "Tech Hub" ของไทยในทัศนะของซีอีโอ "เครือซีพี"

ซีอีโอ "เครือซีพี” ชี้โลกและไทยเผชิญความท้าทายใหม่ เสนอ 8 Big Move นำไทยสู่ยุค 5.0 พร้อมเดินหน้าสู่การเป็น "ศูนย์กลางเทคโนโลยีของภูมิภาค" (Tech Hub)

โลกปัจจุบันกำลังเผชิญความท้าทายยิ่งใหญ่ 6 ประการ หนึ่ง สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แม้จะเข้าสู่ New Normal แต่ยังต้องปรับตัวอีกพอสมควร สอง อัตราเงินเฟ้อขั้นรุนแรง หรือ Hyper Inflation ที่เกิดจากนโยบายการอัดฉีดเศรษฐกิจของทั่วโลกส่งผลให้เกิดอุปสงค์ด้านการบริโภคสูงขึ้นด้วย ขณะที่ภาวะตึงเครียดของ Geopolitical นำมาสู่ความท้าทายข้อที่สามคือเศรษฐกิจโลกที่แบ่งเป็น 2 ขั้วมากขึ้น

สี่ ภาวะโลกร้อน หรือ Climate Change ซึ่งส่งผลต่อทั้งโลกต้องหันกลับมาแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ให้ได้ โดยที่ประชุมระดับรัฐมนตรีของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ (G7) และผู้นำ G 20 ต้องหันกลับมาแก้ไขปัญหานี้ให้ได้ โดยการตั้งเป้าหมาย Net Zero ขึ้นมา

ห้า การเปลี่ยนผ่านด้านเทคโนโลยีดิจิทัล หรือ Digital Transformations ซึ่งถูกตั้งเป็นความหวังว่าการเปลี่ยนผ่านนี้จะเข้ามาช่วยบรรเทาและตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นข้างต้นได้ ยกเว้นปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitic) และความท้าทายข้อสุดท้าย คือ เรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ โดยใช้ Inclusive Capital สร้างผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจที่สามารถลดความเหลื่อมล้ำได้ด้วย ความท้าทายทั้ง 6 ข้อนี้เป็นสิ่งที่กำลังขับเคลื่อนโลกอยู่ในปัจจุบัน

ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ พูดถึง Digital Transformation หรือการเปลี่ยนด้วยเทคโนโลยี ว่ามุมมองความมั่งคั่งของในแต่ละยุคสมัยเปลี่ยนไปจากยุคที่ทองคำมีค่ามากที่สุดขับเคลื่อนเปลี่ยนมาสู่ยุคของพลังงานที่น้ำมันมีค่ามากที่สุด จนถึงปัจจุบันอยู่ในยุคแห่งเทคโนโลยีซึ่งเทคโนโลยีและทรัพย์สินดิจิทัล /AI มีค่ามากที่สุด พร้อมกันนี้ซีอีโอเครือซีพีเสนอแนวทางในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีของภูมิภาคอีกด้วย

เศรษฐกิจ หรือ ความมั่งคั่งในแต่ละยุคสมัยเปลี่ยนไป ในอดีตทองคำจะถูกอ้างอิงเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุด ยุคต่อมาเป็นยุคของพลังงาน สิ่งที่มีค่ามากที่สุดคือพลังงานและน้ำมัน หรือ อาจจะเรียกว่า Black Gold ปัจจุบันอยู่ในยุคแห่งเทคโนโลยี หรือ เรียกได้ว่า  New Gold สิ่งที่มีค่ามากที่สุดคือ เทคโนโลยี และ ทรัพย์สินดิจิทัล / AI

“ปัจจุบันภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไป โลกจะใช้สินทรัพย์ใดมาอ้างอิงความมั่งคั่งแม้กระทั่งดอลลาร์สหรัฐฯ ที่เคยผูกติดกับน้ำมันซึ่งเป็นพื้นฐานทางเศรษฐกิจของทั้งโลกเริ่มสั่นคลอน จากการลดใช้น้ำมัน ซึ่งอาจจะเลิกใช้ในอีก 30 ปีข้างหน้า โดยหันไปใช้พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานน้ำ เปลี่ยนมาเข้าสู่ยุคของความมั่นคงใหม่ หรือ ยุค 5.0 คือ เทคโนโลยี เช่น ปัญญาประดิษฐ์ ดังนั้นเทคโลยีจึงเป็นจุดของการเติบโตของเศรษฐกิจใหม่ (New Growth) และการแข่งขันใหม่ ดังนั้นยุคจากนี้ไปการต่อสู้และการแข่งขันด้านเทคโนโลยีจะเป็นตัวชี้วัดว่าประเทศใดจะได้ขึ้นเป็นผู้นำโลก

Thailand Big Move ก้าวต่อไปประเทศไทยสู่ยุค 5.0

ซีอีโอ "เครือซีพี" บอกว่าการนำหรือขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ยุค 5.0 สิ่งสำคัญคือเรื่องการสร้างระบบนิเวศ หรือ Ecosystem ซึ่งเป็นประเด็นเชิงนโยบายเพื่อจะต้องเสริมศักยภาพทางด้านการแข่งขันทางด้านเทคโนโลยีและขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมั่งคั่ง เพราะหนีการแข่งขันด้านนี้ไปไม่ได้ ทั้งนี้ได้เสนอให้ประเทศไทยก้าวสู่ยุค 5.0 ด้วย 8 การขับเคลื่อนสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่

Big Move แรก คือ การวางตำแหน่งประเทศไทย เป็นศูนย์กลางแห่งเทคโนโลยี หรือ Tech Hub ในระดับภูมิภาค โดยหนึ่งในนโยบายที่จะสนับสนุนไทยในด้านนี้คือ การเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมรถยนต์ไปสู่ EV เป็นต้น เพราะไม่ได้มาแค่เรื่องของรถยนต์ แต่มาพร้อมอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ เทคโนโลยีแบตเตอรี่ เทคโนโลยีพลังทดแทน รวมทั้งระบบโครงสร้างพื้นฐานหรือคลาวด์เทคโนโลยี เพื่อต่อยอดไปสู่เทคโนโลยีอื่นๆ ทั้ง AI และ IoT มีความจำเป็นต่อระบบการดำเนินธุรกิจหรือแม้กระทั่งที่อยู่อาศัยในอนาคต ดังนั้นการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่เทคโนโลยีนี้ได้เร็วที่สุด

Big Move ที่ 2 คือการ พัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งและการเงินของภูมิภาค หรือ Logistic & Financial Hubs กุญแจสำคัญคือ รถไฟไทย-จีน ถ้าสำเร็จจะเชื่อมโยงให้ EEC สำเร็จตามไปด้วย ประเทศไทยจะกลายเป็นศูนย์กลางการขนส่ง ซึ่งสิ่งที่จะตามมาคือการเป็น Trade Hub ที่เชื่อมตลาดไทย จีน และอาเซียน เข้าด้วยกัน และอาจเชื่อมต่อไปถึงอินเดีย เกิดเป็น Thailand Link ที่จะส่งผลให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการเงินและเศรษฐกิจขนาดใหญ่

Big Move ที่ 3 คือการทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางความมั่นคงทางอาหาร หรือ Food Security Hub  โดยการส่งเสริมและพัฒนาภาคเกษตรดั้งเดิมให้ก้าวสู่การเป็น Agro Smart Industry ก็จะสามารถยกระดับภาคเกษตรในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันมีความสำเร็จเฉพาะปศุสัตว์ ภาคพืชผลที่สำเร็จยังมีน้อย มีเพียงอ้อยที่พัฒนาเป็นเกษตรอุตสาหกรรมได้สำเร็จ จุดนี้ต้องแก้ไขปรับปรุง รวมถึงการทำชลประทาน เพื่อไม่ให้ไทยสูญเสียโอกาสการเป็นฮับในด้านความมั่นคงทางอาหารของโลก

Big Move ที่ 4 คือ การเตรียมพร้อมเรื่องคน หรือ People Readiness ในการก้าวสู่ยุค 5.0 ที่เป็นยุคแห่งเทคโนโลยี คนคือหัวใจสำคัญ การเตรียมความพร้อมแรกของเรื่องนี้คือการสร้างแรงงานในอนาคต(Future Workforce) ให้มีทักษะด้านดิจิทัลในระดับ4 จำนวน 3.5 ล้านคน (ทักษะด้านดิจิทัลมี 4 ระดับ ได้แก่  ระดับ 0 ไม่มีทักษะด้านดิจิทัล คือ แรงงานที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล ระดับที่ 1 ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับชีวิตประจำวัน ระดับที่ 2 ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับการทำงานได้ สามารถใช้ดิจิทัลเพื่อการทำงานได้ อาทิ การใช้ โปรแกรมหรือซอฟแวร์ (เช่น Microsoft Offices) การใช้อินเทอร์เน็ตเป็นตัวกลางในการทำงาน เช่น การส่งอีเมล์หรือ การประชุมออนไลน์ หรือการทำธุรกิจหรือร้านค้าออนไลน์ เป็นต้น) ระดับที่ 3 ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลทักษะระดับสูงสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลขั้นสูงได้ อาทิ การเขียน โปรแกรม และการบริหารจัดการระบบความปลอดภัยของคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต) ขณะที่คนไทยมีทักษะด้านเทคโนโลยีและดิจิทัลยังมีอยู่ในจำนวนน้อย โดยประเทศไทยเรามีต่ำกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ ของแรงงานทั้งหมด ขณะที่เกาหลีใต้หรือสิงคโปร์อยู่ที่ประมาณ 7-8 เปอร์เซ็นต์ ของแรงงานทั้งหมด ส่วนมาเลเซียมีเป้าหมายภายใน 3 ปีข้างหน้าจะต้องมีแรงงานที่มี digital skill ระดับ 4 เป็นจำนวนถึง 10 เปอร์เซ็นต์ 

การเตรียมเรื่องคนที่สำคัญอีกเรื่องของประเทศไทย คือ การสนับสนุนและส่งเสริมสตาร์ทอัพไทย โดยตั้งเป้าหมายให้ไทยมีสตาร์ทอัพจำนวน 20,000 คนภายใน 5 ปี จะส่งเสริมผลักดันให้เกิดนวัตกร วิศวกร ผู้ที่มีความคิดเป็นเจ้าของกิจการ ฯลฯ เป็นจำนวนถึง 1,000,000 คน (สตาร์ทอัพ 1 รายจะสามารถจ้างงานได้ 50 คน) ซึ่งจะกลายเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนสร้างการเปลี่ยนแปลงสู่ยุค 5.0 ทั้งนี้ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ไฟเขียวยกเว้นภาษี Capital Gain Tax 0% เพื่อช่วยดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติ (VC) เข้ามาลงทุนในสตาร์ทอัพไทยเพื่อพลิกโฉมประเทศเป็นเทคฮับของภูมิภาค

ข้อเสนออีกประการในเรื่องการเตรียมพร้อมเรื่องคน คือการการปฏิรูปการศึกษา ทั้งนี้เพราะโจทย์ที่สำคัญคือการสร้างคนที่มีทักษะดิจิทัล 3.5 ล้านคน การปฏิรูปการศึกษาจึงสำคัญ แนวทางหนึ่งที่น่าสนใจคือการสร้างเด็กไทยให้มีทักษะด้านดิจิทัลตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งจะผลักดันให้ครูเปลี่ยนบทบาทจาก Instructor หรือ Center Knowledge มาสู่ participator นำไปสู่การปฏิรูปได้

Big Move ที่ 5 คือ การพัฒนา Smart City, Smart Town และ Smart Village เป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ที่สร้างให้เกิด “เศรษฐกิจใหม่” หรือการสร้างเศรษฐกิจให้มีมูลค่าสูงขึ้น และ Productivity ที่สูงขึ้น คือการสร้างตลาดที่สามารถสร้างอีก 10-20 อุตสาหกรรมให้เกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน 

“ทำไมเราได้ยินข่าวว่าประเทศนั้นจะย้ายเมืองใหม่ จะสร้างเมืองใหม่ ล่าสุดได้ยินว่า ซาอุดิอาระเบียจะสร้างเมืองใหม่แข่งกับดูไบ ในเรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของเมืองใหม่ แต่คือการลงทุนในเศรษฐกิจใหม่ โครงสร้างพื้นฐานใหม่ smart town, smart village ที่สามารถจะสร้างสรรค์ ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ความปลอดภัย สุขภาพที่ดี ความเป็นอยู่ที่ดี การเข้าถึงงาน การท่องเที่ยว ถ้ามีนโยบายเรื่องนี้อย่างชัดเจน และมีการลงทุนก็เท่ากับเราได้เปลี่ยนแปลง หรือ transform ประเทศของเราให้ก้าวหน้า” ศุภชัย กล่าว

Big Move ที่ 6 คือ World Political Neutrality ภาวะการเมืองที่เศรษฐกิจพยายามแบ่งเป็น 2 ขั้ว ไทยต้องยืนอยู่ตรงกลาง ทำหน้าที่ประสานประโยชน์ให้ทุกฝ่ายได้ ไทยและภูมิภาคก็จะได้ประโยชน์ ซึ่งขณะนี้ไทยดำเนินการได้ดีแล้ว

Big Move ที่ 7 คือ เรื่องของ State Transformation ข้าราชการระดับบริหารต้องมีรายได้สูงกว่าเอกชน เพื่อดึงดูดคนเก่งเข้าสู่ระบบราชการ นอกจากนี้ข้าราชการจะต้องมีทักษะทางด้านเทคโนโลยี เพื่อช่วย Empower ให้แก่เอกชนและประชาชน และสร้างความโปร่งใส่ ดังนั้นเมื่อ 2 เรื่องนี้เกิดขึ้นควบคู่กันจะเห็นเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัลโดยธรรมชาติ

Big Move ที่ 8 คือ Thailand Sustainable Dream หรือ ความยั่งยืน ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยสู่ยุค 5.0 สิ่งสำคัญคือต้องผสมผสานกับความยั่งยืน โดยจะต้องก้าวให้ถึงเป้าหมายในการเป็น Net-Zero, Zero-Waste, Zero- poverty , Zero-Crime  และ Zero Unemployment หรือว่าง่ายๆ คือ 100% Security

"สิ่งเหล่านี้ถ้าเราตั้งเป้าหมายร่วมกัน ก็จะสร้างความฝันร่วมกันที่มองว่าประเทศไทยเราจะไปในจุดไหน"