จับตาดีลแสนล. "ทรูควบดีแทค" ปลายทางจบที่ "ศาลตัดสิน"!

จับตาดีลแสนล. "ทรูควบดีแทค" ปลายทางจบที่ "ศาลตัดสิน"!

กสทช. จัดโฟกัสกรุ๊ป ยกแรก ต่อกรณีการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ 1 กลุ่มภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เอไอเอส ฟาดแรง ย้ำ กสทช ไม่ทำหน้าที่ตัวเอง เตรียมจัดหนักฟ้องศาลปกครอง!!

 9 พ.ค.สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นายศุภัช ศุภชลาศัย กสทช.ด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวเปิดการประะชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวงจำกัด (โฟกัส กรุ๊ป) ต่อกรณีการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ 1 กลุ่มภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง

ควรส่งเสริมไม่ใช่ลดผู้เล่น

ศรัณย์ ผโลประการ หัวหน้าฝ่ายงานธุรกิจสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ในฐานะผู้บริหาร บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็น) มีความเห็นว่า ว่าไม่ใช่การคัดค้านการควบรวม แต่เนื่องจากการควบรวมครั้งนี้ จะก่อให้เกิดผลกระทบไม่ใช่แค่เอไอเอสแต่จะกระทบทั้งอุตสาหกรรมโทรคมนาคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมุมของผู้บริโภคดังนั้น บริษัทจึงต้องการความชัดเจนของกระบวนการทำงานของ กสทช.ในการพิจารณาการควบรวมอย่างโปร่งใส เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและข้อกฎหมายที่กำกับดูแล เพื่อป้องกันมิให้เกิดผลกระทบต่อทุกด้านอย่างรอบคอบที่สุด
 

อีกทั้ง เอไอเอสมีความเห็นว่ากสทช. ในฐานะผู้กำกับดูแล ควรส่งเสริมให้มีการแข่งขันกันในตลาด ไม่ควรดำเนินการใดๆ ที่จะเป็นการลดการแข่งขัน ซึ่งที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ การลดจำนวนผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดจาก 3 รายเหลืออยู่เพียง 2 ราย ก่อให้เกิดสภาวะตลาดผูกขาดแบบ Duopoly ที่มีรายใหญ่ที่มีอำนาจเหนือตลาดเหลืออยู่เพียงสองรายอย่างถาวร แม้ กสทช. จะออกมาตรการเฉพาะใดๆ มาก็ตาม แต่ไม่สามารถเยียวยาหรือแก้ไขกลับคืนให้สภาวะตลาดกลับมามีสภาพการแข่งขันเหมือนดังเช่นปัจจุบันก่อนการยินยอมให้ควบรวมได้

ดังนั้น กสทช. จึงต้องแสดงให้เห็นถึงความชัดเจนในการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ โดยพิจารณาเรื่องนี้อย่างโปร่งใส เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันมิให้เกิดผลกระทบต่อทุกด้านอย่างรอบคอบที่สุด
 

จี้กสทช.หามาตรการเยียวยา

เขา กล่าวว่า นอกจากนี้ การประมูลคลื่นความถี่ในแต่ละครั้ง กสทช. ได้มีการกำหนดเพดานการถือครองคลื่น (spectrum cap) ว่าผู้รับใบอนุญาตแต่ละรายสามารถเข้าประมูลคลื่นความถี่ได้ไม่เกินกี่ชุดที่กำหนดไว้ และผู้เข้าประมูลแต่ละรายต้องไม่มีความเกี่ยงโยงกัน เช่น บริษัทแม่ลูกกันหรืออยู่ในเครือเดียวกัน ทั้งนี้ เพื่อมิให้คลื่นความถี่ถูกถือครองโดยคนกลุ่มเดียวกัน (หรือถูกกินรวบ)

ความแต่ในกรณีนี้เมื่อทั้ง 2 รายต่างคนต่างประมูลแล้วมารวมกันทีหลัง ทำให้เกิดการรวมคลื่นอยู่ในมือของคนกลุ่มคนเดียวกัน กฎ กติกาของการประมูลที่ตั้งไว้ จึงไม่มีผลใช้บังคับได้จริง และทำให้ เอไอเอสเสียโอกาสจากการแสวงหาคลื่นถี่ซึ่งมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใสและสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการจัดสรรคลื่นความถี่ พร้อมกับเห็นความสำคัญของมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดในช่วงแรกที่ต้องรีบการจัดหาคลื่นความถี่มาให้บริการให้ได้มากที่สุด เพื่อพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลของประเทศ รวมถึงคุณภาพบริการ ภายใต้กฎและกติกา รวมถึงไม่ได้รับความเป็นธรรม

“เมื่อทั้ง 2 รายควบรวมกันก็จะเป็นการถือครองคลื่นความถี่ที่เกินกว่าหลักเกณฑ์กำหนดไว้ของรายอื่นได้ โดยไม่ต้องเข้าประมูลด้วยตนเอง ซึ่งหาก กสทช. ยินยอมให้ทั้ง 2 รายควบรวมกันกสทช. ก็ควรมีการเยียวยาความเสียหายให้แก่เอไอเอสด้วย ดังนั้น เพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นของบริษัท หากเอไอเอสไม่ได้รับความเป็นธรรมก็อาจจะมีการฟ้องร้องต่อศาลปกครองต่อไป”

กสทช.มีอำนาจเต็มที่ตามกม.

นอกจากนี้ นายศรันย์ กล่าวอีกว่า กสทช. มีอำนาจและหน้าที่ในการพิจารณาสั่ง “อนุญาต” หรือ “ไม่อนุญาต” การควบรวมธุรกิจของผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 มาตรา 27 (11) และพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 มาตรา 21 ที่บัญญัติไว้ว่า การประกอบกิจการโทรคมนาคม นอกจากต้องอยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าแล้ว ให้คณะกรรมการกำหนดมาตรการเฉพาะตามลักษณะการประกอบกิจการโทรคมนาคมมิให้ผู้รับใบอนุญาตกระทำการอย่างใดอันเป็นการผูกขาด หรือลด หรือจํากัดการแข่งขันในการให้บริการกิจการโทรคมนาคม 

ได้แก่ (2) การถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน โดยกรณีนี้ ทรูและดีแทคได้มีการยื่นรายงานการควบรวมตามข้อ 5 (1) ของประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการควบรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2561 ซึ่งตามข้อ 9 ของประกาศดังกล่าวยังระบุว่า การรายงานตามข้อ 5 ให้ถือเป็นการขออนุญาตจาก กสทช. ตามข้อ 8 ของประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรการป้องกันมิให้มีการกระทำอันผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 กสทช. มีอำนาจในการสั่งห้ามการควบรวมนี้ได้ หากเข้าข่ายเป็นการผูกขาด ลดหรือจำกัดการแช่งขัน

ส่วนผลกระทบต่อการแข่งขันตามหลักเศรษฐศาสตร์ เมื่อผู้ให้บริการรายใหญ่เหลือเพียง 2 ราย ธรรมชาติของตลาดที่มีผู้เล่นน้อยราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดโทรคมนาคมซึ่งเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานครอบคลุมประชากรทั้งประเทศแล้วในขณะนี้ การแข่งขันย่อมน้อยลง ซึ่งจากเดิมมี 3 ราย ต่างมีการแข่งขันอย่างเข้มข้น ทำให้ผู้ใช้บริการมีทางเลือกที่หลากหลาย ดังนั้นเมื่อเหลือ 2 รายก็ย่อมมีแนวโน้มที่อัตราหรือจำนวนค่าใช้บริการอาจเพิ่มขึ้นหรือคงเดิม ไม่ลดลงหรือหลากหลายเหมือนกับในช่วงระยะเวลาที่มี 3 รายแข่งกัน

คู่ค้าประสานเสียงหนุนควบรวม

ขณะที่ในเวทีประชาพิจารณ์ เสียงส่วนใหญ่ จากผู้ประกอบการและสมาคมในอุตสาหกรรม เห็นด้วยกับการควบรวมทรู-ดีแทค โดยผู้ประกอบการรายย่อย หรือ ลูกตู้ กล่าวว่า การเหลือผู้ประกอบการ 2 ราย ทำให้ไม่ต้องค้างสต็อกสินค้า ที่สำคัญสัญญาณ 5จีของดีแทคก็ไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ขณะที่ตัวแทนจากสมาคมฯมีความเห็นว่า การควบรวมนั้นจะทำให้มีบริษัทที่มีผู้ถือหุ้นเป็นคนไทยและทำให้บริษัทคนไทยแข็งแกร่งขึ้น ส่วนประเด็นเรื่องราคาค่าบริการไม่น่าเป็นประเด็นเพราะกสทช.ควบคุมราคาได้ดีอยู่แล้ว นอกจากนี้การมีเจ้าของเป็นคนไทยข้อมูลของคนไทยจะได้นำมาจัดเก็บในประเทศไทย ไม่ต้องนำออกไปเก็บบนคลาวด์ของต่างชาติ เป็นต้น

เจษฎา ศิวรักษ์ หัวหน้าฝ่ายรัฐกิจและธุรกิจสัมพันธ์ บริษัท อีริคสัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า หน้าที่ของกสทช.คือการเป็นผู้กำกับด้านเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องของกฎหมายเพียงอย่างเดียว ทำอย่างไรให้จีดีพีของประเทศเพิ่มขึ้น เจตจำนงค์ในการกำกับดูแลคือให้เกิดการแข่งขันและเป็นธรรม ซึ่งตีความหมายได้ 2 แบบ คือ การกำกับดูแลด้วยมาตรฐานให้เท่ากันแต่ไม่อาจเท่าเทียมได้เพราะรายเล็กจะไม่สามารถเข้ามาในตลาดได้ หรือ อีกแบบ คือ การกำกับดูแลด้วยมาตรฐานไม่เท่ากันเพื่อช่วยให้รายเล็กสามารถเข้ามาแข่งขันได้อย่างเท่าเทียม ทุกวันนี้ประเทศไทยมีผู้ใช้บริการ 5จียังไม่ถึง 5% ของจำนวนประชากร เราควรเร่งการลงทุนเพื่อยกระดับประเทศแบบเกาหลีใต้ได้หรือไม่