Fed ขึ้นดอกเบี้ย กระทบคนอเมริกันอย่างไร?

Fed ขึ้นดอกเบี้ย กระทบคนอเมริกันอย่างไร?

ผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) คณะกรรมการมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% ถือว่าเป็นการปรับขึ้นมากที่สุดในรอบ 2 ทศวรรษ การขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ กระทบคนอเมริกันอย่างไร? ติดตามได้จากบทความนี้

คืนวันที่ 4 พฤษภาคม 2022 เป็นวันที่นักลงทุนทั่วโลกต่างรอฟังผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ซึ่งในท้ายที่สุดคณะกรรมการได้มีมติในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% ตามที่ตลาดคาด ถือว่าเป็นการปรับขึ้นมากที่สุดในรอบ 2 ทศวรรษ อีกทั้ง ยังมีการเปิดเผยแผนการลดงบดุล (QT) โดยจะมีการปรับลดจำนวน $47,500 ล้าน ต่อเดือน ในช่วง 3 เดือนแรก เริ่มต้น 1 มิถุนายน 2022 และหลังจากนั้นจะปรับลดเดือนละ $95,000 ล้าน ต่อเดือน ซึ่งใกล้เคียงกับที่ตลาดคาดเช่นกัน

ทั้งนี้ แน่นอนว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้มีผลต่อตลาดหุ้นเป็นอย่างมาก แต่หากพิจารณาในมุมกว้างกว่านั้น จะเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นว่า การขึ้นดอกเบี้ยของ Fed นั้น มีอีกหลายมิติที่ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็น ต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายในภาคธุรกิจที่ต้องแบกรับมากขึ้น หรือผลกระทบต่อประชาชนชาวอเมริกันที่มีภาระดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย บทความฉบับนี้จะเผยให้เห็นในอีกแง่มุมหนึ่งว่า นอกจากตลาดหุ้นแล้ว การขึ้นดอกเบี้ยจะกระทบต่อคนอเมริกันในด้านใดบ้าง และเหตุใดจึงมองว่าดอกเบี้ยอาจไม่ขึ้นแรงอย่างที่คิด

ดอกเบี้ยบ้านจะต้องปรับขึ้นตาม กระทบความต้องการซื้อบ้านในสหรัฐฯ

ย้อนกลับไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ภาวะดอกเบี้ยต่ำ ประกอบกับ จำนวนบ้านในสต็อกที่พร้อมขายที่อยู่ในระดับต่ำ ทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์เกิดการแข่งขันอย่างร้อนแรง ผู้ที่ต้องการซื้อบ้านต้องเผชิญกับราคาที่ปรับตัวสูงขึ้นราว 15% YoY (ข้อมูลจากสมาคมนายหน้าค้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2022) รวมถึงการแข่งขันประมูลซื้อบ้านกันอย่างดุเดือด แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เป็นปัญหากับวงการอสังหาริมทรัพย์เท่าไรนัก เนื่องจากความต้องการซื้อยังคงมากกว่าความต้องการขาย

หลังจาก Fed ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยอย่างชัดเจนในช่วงปลายปี 2021 ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของดอกเบี้ยบ้าน (Mortgage rates) หลักๆ จะปรับขึ้นไปในทิศทางเดียวกับพันธบัตรสหรัฐฯ ล่าสุด 30-year fixed-rate mortgage ในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตัวสะท้อนอัตราดอกเบี้ยการกู้ซื้อบ้านระยะยาวได้เป็นอย่างดี ปรับขึ้นสู่ระดับ 5.27% (ข้อมูล ณ วันที่ 5 พฤษภาคม 2022) เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันเมื่อปีที่แล้วที่ 2.96% ถือว่ามีการปรับขึ้นอย่างมาก จนเริ่มจะมีผลต่อการตัดสินใจในการซื้อบ้านของคนอเมริกัน

Fed ขึ้นดอกเบี้ย กระทบคนอเมริกันอย่างไร?

ภาพแสดงตัวเลขยอดขายบ้านใหม่ในสหรัฐฯเริ่มชะลอตัวลงหลังดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านเริ่มปรับขึ้น (%MoM)

ธนาคารปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากช้ากว่าดอกเบี้ยนโยบายเสมอ

การปรับขึ้นดอกเบี้ยของ Fed อาจจะเป็นข่าวร้ายสำหรับผู้ซื้อบ้าน ในทางกลับกันก็เป็นข่าวดีสำหรับผู้ที่หลงไหลในการฝากเงินกับธนาคาร เนื่องจากดอกเบี้ยเงินฝากนั้น โดยมากก็จะปรับตัวเพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกับ Fed ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยเงินฝากในสหรัฐฯ ก็ปรับเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ทำให้จำนวนเงินฝากในธนาคารปรับเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากอดีตก็ทำให้เห็นว่าธนาคารมักจะปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากช้ากว่าดอกเบี้ยนโยบายเสมอ เนื่องจากจะได้รับส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยรับและจ่ายมากขึ้น ซึ่งตรงนี้ก็อาจจะดีกับธนาคาร แต่นั่นหมายความว่า ประชาชนจะต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ได้รับดอกเบี้ยจากเงินฝากเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเท่านั้น

ดอกเบี้ยบัตรเครดิตจะสูงขึ้น กระทบต่อการใช้จ่าย

การปรับขึ้นของดอกเบี้ยนั้น โดยมากมักจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับอัตราดอกเบี้ยรายปีของบัตรเครดิต ซึ่งนั่นก็จะกระทบโดยตรงต่อผู้ที่ยังมียอดหนี้ค้างชำระ เนื่องจากจะต้องจ่ายดอกเบี้ยรายเดือนที่มากขึ้น จนผู้ใช้อาจจะตัดสินใจชำระหนี้ทั้งหมดเพื่อหลีกเลี่ยงภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น และอาจจะกระทบต่อการติดสินใจในการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตอีกด้วย ซึ่งนั่นจะส่งผลกระทบโดยตรงไปยังรายได้ที่เป็นดอกเบี้ยของผู้ให้บริการบัตรเครดิต และอาจชะลอการบริโภคของประชาชนได้อีกด้วย ดังนั้น ประเด็นนี้ถือว่าเป็นอีกหนึ่งโจทย์ใหญ่ของ Fed เนื่องจากการบริโภคนั้นมีส่วนสำคัญอย่างมากในการเติบโตของ GDP สหรัฐฯ

Fed ขึ้นดอกเบี้ย กระทบคนอเมริกันอย่างไร?

ภาพแสดงตัวเลขยอดค้าปลีกในสหรัฐฯเริ่มมีทิศทางชะลอตัวลง (%MoM)

ชาวอเมริกันจำนวน 40 ล้านคน จะต้องจ่ายดอกเบี้ยของหนี้เพื่อการศึกษาเพิ่มขึ้น

กลุ่มสุดท้ายที่ได้รับผลกระทบนั่นก็คือ กลุ่มผู้กู้เงินเพื่อการศึกษา (Student Loans) โดยดอกเบี้ยของเงินกู้ประเภทนี้จะแตกต่างกันตรงที่ อัตราดอกเบี้ยจะถูกกำหนดเป็นรอบๆ ซึ่งจะพิจารณาในทุกๆ 1 ปี ตามผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ที่ถูกประมูลในเดือนพฤษภาคมของทุกปี ล่าสุด รัฐบาลได้ประกาศหยุดคำนวณดอกเบี้ยสะสม และให้ผู้กู้บางรายพักชำระหนี้รายเดือนได้ เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ซึ่งมีผลตั้งแต่เดือนมีนาคม 2020 ถึง สิงหาคม 2022

ดังนั้น กลุ่มนี้อาจจะไม่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยในทันที แต่ในท้ายที่สุดก็จะต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นในรอบพิจารณาถัดไป ซึ่งถ้าหากระหว่างนี้มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่สูง กลุ่มผู้กู้เงินเพื่อการศึกษาก็จะต้องเผชิญกับภาระดอกเบี้ยที่สูงขึ้นมากในระยะข้างหน้า ซึ่งนั่นก็จะสร้างภาระรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น จนอาจจะจำเป็นต้องลดค่าใช้จ่ายในด้านอื่นๆ ลง จากสถิติพบว่าประชาชนกว่า 40 ล้านคน กู้เงินเพื่อการศึกษา โดยกลุ่มผู้กู้อายุระหว่าง 35-49 ปี มียอดหนี้รวมมากที่สุด เป็นวัยที่เริ่มมีกำลังซื้อสูง ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสหรัฐฯ

Fed ขึ้นดอกเบี้ย กระทบคนอเมริกันอย่างไร?

ภาพแสดงจำนวนผู้กู้เงินเพื่อการศึกษาในสหรัฐฯ ระหว่างปี 2007-2020

จากเรื่องราวทั้งหมดที่ได้หยิบยกขึ้นมานั้น ก็น่าจะทำให้ทุกท่านทราบถึงผลกระทบของการขึ้นดอกเบี้ยในมุมกว้างมากขึ้น ซึ่งทุกสิ่งก็ล้วนแล้วแต่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของ Fed ทั้งสิ้น

ทั้งนี้ ยังมีอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญที่จะต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดก็คือ อัตราเงินเฟ้อ ที่เป็นต้นตอของการปรับขึ้นดอกเบี้ยในรอบนี้ ซึ่งนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า อัตราเงินเฟ้อ น่าจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้วในช่วงไตรมาส 1 และจะค่อยๆ ชะลอลงตั้งแต่ ไตรมาส 2 เป็นต้นไป หากเป็นเช่นนั้นจริง ก็จะยิ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนเพิ่มขึ้นว่า Fed อาจจะไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยตามที่เคยตั้งใจไว้

Source: Bloomberg,WSJ,nerdwallet,tradingeconomic & educationdata

ข้อมูล บทความ บทวิเคราะห์และการคาดหมาย รวมทั้งการแสดงความคิดเห็นทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้ทำขึ้นบนพื้นฐานของแหล่งข้อมูลที่ดีที่สุดที่ได้รับมาและพิจารณาแล้วเห็นว่า น่าเชื่อถือ แต่ทั้งนี้ไม่อาจรับรองความถูกต้อง ความสมบูรณ์ แท้จริงของข้อมูลดังกล่าว ความเห็นที่แสดงไว้ในรายงานฉบับนี้ได้มาจากการพิจารณาโดยเหมาะสมและรอบคอบแล้ว และอาจเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งล่วงหน้าแต่อย่างใด บทความ บทวิเคราะห์ และการคาดหมายทั้งหลายที่ปรากฏ อยู่ในรายงานฉบับนี้เป็นการนำไปใช้โดยผู้ใช้ยอมรับความเสี่ยงและเป็นดุลยพินิจของผู้ใช้แต่เพียงผู้เดียว

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บลจ.ทิสโก้ หรือ TISCO Contact Center โทร. 0 2633 6000 กด 4, 0 2080 6000 กด 4 และ tiscoasset หรือแอปพลิเคชัน TISCO My Funds