สมาคมโฆษณาฯ เตือน! เอเยนซี งานครีเอทีฟเป็นเลิศ ต้องมาพร้อมจรรยาบรรณที่ดี

สมาคมโฆษณาฯ เตือน! เอเยนซี งานครีเอทีฟเป็นเลิศ ต้องมาพร้อมจรรยาบรรณที่ดี

สมาคมโฆษณา กูรูการตลาด รวมพลังกระตุกคนแวดวงการตลาด เอเยนซี คนทำงานครีเอทีฟ ต้องทำการตลาดอย่างรับผิดชอบมากขึ้น การสร้างสรรค์คอนเทนท์ที่เป็นเลิศ ต้องมาพร้อมจรรยาบรรณด้วย และอยู่บนพื้นฐานของความสร้างสรรค์ ไม่ดูถูก ดูหมิ่น หรือ ย่ำยี คนอื่นๆ ให้แบรนด์ดูมีมลทินติดตัว

ประเด็นร้อนแวดวงการตลาด เอเยนซี ที่ทำให้แบรนด์เละ! ข้ามวันข้ามคืน หนีไม่พ้นกรณี #แบนลาซาด้า (Lazada) หลังปล่อยให้ “นาราเครปกะเทย” อินฟลูเอนเซอร์สร้างสรรค์คอนเทนท์เพื่อโปรโมทแคมเปญดับเบิ้ลเดย์ 5.5

แต่พลันโพสต์คลิปออกไปบนสื่อสังคมออนไลน์ กระแสตอบรับ “เชิงลบ” ล้นหลาม ผู้บริโภคจำนวนมากเดือด! จนต้องประกาศตอบโต้แบรนด์ที่ปล่อยให้คอนเทนท์ทีไม่เหมาะสมถูกเผยแพร่ออกมาด้วยการ #แบนลาซาด้า

เมื่อเกิดวิกฤติกระทบแบรนด์ การแก้ปัญหาไม่ได้เกิดขึ้นทันที จนทำให้ปัญหาขยายวงกว้างเป็นประเด็นร้อนแรง เพราะเนื้อหาบางส่วนกระทบความรู้สึกของผู้บริโภคหลายฝ่าย

ภายหลังเพจเฟซบุ๊กของ “Intersect Design Factory” ของ บริษัท อินเตอร์เซคท์ ดีไซน์ แฟคทอรี่ จำกัด ได้ออกมาโพสต์ข้อความว่าได้รับมอบหมายจากลาซาด้าให้ประสานงาน ติดต่อทำคลิปเพื่อโปรโมทแคมเปญการตลาด ดับเบิ้ลเดย์ โดยมี “นาราเครปกะเทย” เป็นหนึ่งในลิสต์อินฟลูเอนเซอร์ร่วมด้วย เมื่อเกิดปัญหาทางบริษัทได้ขออภัยกับสิ่งที่เกิดขึ้น และพร้อมระงับการเผยแพร่คลิปทันที

บทเรียนความผิดพลาดทางการตลาด เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าให้ได้เรียนรู้ แต่ดูเหมือนนักการตลาดจะไม่นำพา เพราะท่ามกลางเอเยนซี แบรนด์ออกมาขอโทษถึงสิ่งที่เกิดขึ้น แต่อินฟลูเอนเซอร์ ยังตอบโต้ ตั้งใจจะสร้างคอนเทนท์ที่แรงกว่าชิ้นที่เผยแพร่

จากกรณีที่เกิดขึ้นทางสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทยได้ออกแถลงการณ์ เพื่อสะกิดให้เอเยนซี บรรดาคนทำงานสร้างสรรค์มีสำนึกรับผิดชอบมากขึ้น

โดยสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย ระบุว่า ตามที่เป็นข่าวเหตุการณ์สร้างปัญหาและความรู้สึกเชิงลบจากการกระทำเกี่ยวกับงานโฆษณาสื่อสารการตลาดหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการใช้ภาพ เสียง หรือคำพูดที่ไม่เหมาะสม ผ่านช่องต่างๆ ทั้งสื่ออิเล็กโทรนิค โซเชียลมีเดียหรือสื่อปกติทั่วไปนั้น สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทยพร้อมด้วยเพื่อนสมาชิกมีความเป็นห่วงต่อเหตุการณ์ดังกล่าวที่จะบั่นทอนเกียรติและศักดิ์ศรี ความเชื่อมั่น ความน่าเชื่อถือที่มีต่อภาพรวมของธุรกิจและบุคลากรในอุตสาหกรรมโฆษณา สมาคมฯจึงขอแสดงจุดยืนดังต่อไปนี้

สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย สนับสนุนการทำงานด้านการสื่อสารการตลาด โฆษณา ประชาสัมพันธ์ทุกรูปแบบที่มีความคิดสร้างสรรค์อันเป็นเลิศพร้อมด้วยจรรยาบรรณที่ดี บนหลักการพื้นฐานจรรยาบรรณวิชาชีพโฆษณา ทั้ง 3 ส่วน อันได้แก่

1.การโฆษณาทุกชิ้นต้องถูกกฎหมาย มีเกียรติ ซื่อสัตย์ และนำเสนอความจริง

2.การโฆษณาไม่ควรมีความขัดแย้งกับศีลธรรมอันดีและระเบียบสังคม ในการสร้างสรรค์งานโฆษณา ควรกระทำด้วยการตระหนักถึงการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม และอยู่ภายใต้หลักของการแข่งขันที่ยุติธรรม ที่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปในวงการธุรกิจ

3.การโฆษณาต้องไม่ทำให้สาธารณชนเกิดความรู้สึกไม่มั่นใจในการโฆษณา

การกระทำใดๆที่ปราศจากความรับผิดชอบ ยุยงต่อต้านสังคม ไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ดูหมิ่นบุคคลหรือกลุ่มบุคคล แสดงรูปแบบใดๆของการเหยียดหรือเลือกปฎิบัติ ถือเป็นการกระทำที่ปราศจากรสนิยมและความตั้งใจอันดี สร้างความเสียหายต่อวิชาชีพ สังคมและผู้บริโภคมีสิทธิพิจารณาความเหมาะสมที่จะยุติการสนับสนุนต่อไป ผู้ทำหน้าที่ผลิตชิ้นงานหรือบริษัทตัวแทนโฆษณา ตลอดจนนักการตลาดผู้ทำหน้าที่บริหารจัดการกิจกรรมการตลาดของแบรนด์และผลิตภัณฑ์ สมควรจะแสดงความรับผิดชอบอย่างเปิดเผยและจริงใจโดยทันที

นอกจากนี้ เมธี จารุมณีโรจน์ กรรมการบริหาร บริษัท แบรนด์อะฮอลิก จำกัด ที่ปรึกษาด้านธุรกิจและการสร้างแบรนด์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ดึงสติคนในแวดวงการตลาดดังนี้

การตลาด กับ ความรับผิดชอบของนักการตลาด จากประเด็นร้อนที่เกิดขึ้น ซึ่งเมื่อได้เช็คตัว content แล้ว ทำให้คิดตามว่า การทำงานด้านการตลาดในปัจจุบันนี้ เจ้าของแบรนด์ มีความละเอียดอ่อน หรือ กระบวนการ ขั้นตอนในการติดตามงานมากน้อยแค่ไหน และ ใส่ใจ กับ ความเหมาะสมของ content ที่อาจมีผลกระทบต่อแบรนด์ได้อย่างไรบ้าง

ทั้งนี้ ระยะหลังๆ จะเห็นว่า เมื่อเกิดความผิดพลาดกับ content จะเห็นเพียงแถลงการณ์จากเอเยนซี ผู้รับผิดชอบโครงการจัดหา influencer โดยที่ทางแบรนด์เหมือนไม่มีการแถลงการณ์ใดๆ จนทำให้ตั้งคำถามถึงความรับผิดชอบของเจ้าของแบรนด์อยู่ตรงไหน และ จำเป็นหรือไม่ ที่ต้องแสดงจุดยืนต่อสังคมให้ชัดเจน

"ในการทำการตลาด เรามักจะถูกสอนให้ยึดถึงความเหมาะสม และ สร้างสรรค์ หากคนทำแบรนด์ คนสร้าง content คือ คนที่สร้างสรรค์ เพื่อผู้บริโภค การสร้างงานสื่อสาร ก็ควรอยู่บนพื้นฐานของความสร้างสรรค์ ไม่ดูถูก ดูหมิ่น หรือ ย่ำยี คนอื่นๆ ให้แบรนด์ดูมีมลทินติดตัว"

ทั้งนี้ จากประสบการณ์การทำงาน กับ Influencer หลายๆ รายที่ผ่านมา เคยได้เห็นและมีการแชร์งานให้ ลูกค้าได้เห็น ผ่านเอเยนซี เพื่อให้ได้ input ในความเหมาะสม ดังนั้น ไม่ควรแปลกใจ ว่าแบรนด์จะปฏิเสธความรับผิดชอบกับ content แบบนี้ไม่ได้ เพราะมันคือ ความรับผิดชอบของนักการตลาด ที่พึงมีเสมอ พร้อมกับทิ้งท้ายแฮชแท็ก #ResponsibleMarketer