สรรพากร เดินหน้ารีดภาษีข้ามชาติ ดันเป็นแหล่งรายได้ใหม่เข้ารัฐ

สรรพากร เดินหน้ารีดภาษีข้ามชาติ ดันเป็นแหล่งรายได้ใหม่เข้ารัฐ

“สรรพากร” เดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี เพิ่มแหล่งรายได้ใหม่เพิ่มเงินเข้ารัฐ รับศึกษาเก็บภาษีหุ้น ชี้มีหลายโมเดล รออธิบดีคนใหม่เคาะประกาศจัดเก็บ พร้อมศึกษาเก็บภาษีข้ามชาติ 2

     นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า ที่ผ่านมาสรรพากรหาแนวทางในการหาแหล่งจัดเก็บรายได้ใหม่ หนึ่งในนั้นคือ การเก็บภาษีขายหุ้น

     ที่ล่าสุดมีการศึกษาไว้หมดแล้ว แต่จำเป็นต้องดูจังหวะเวลาให้เหมาะสม ภายใต้หลายโมเดลที่สรรพากรมีการศึกษามาจากข้อมูลหลายด้าน ซึ่งต้องรออธิบดีสรรพากรคนใหม่เข้ามาสานต่อเรื่องดังกล่าว

     โดยที่ผ่านมาประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีการยกเลิกการเก็บกำไรจากการซื้อขายหุ้น หรือ แคปปิตอล เกน มาเป็นเวลานานต่างกับหลายประเทศที่เริ่มมีการพัฒนาและกลับมาพัฒนาช่องทางในการเก็บภาษีจากแคปปิตอลเกนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม แนวทางการเก็บภาษีภาษีหุ้น ก็ต้องพิจารณาควบคู่ไปกับภาษีธุรกิจเฉพาะที่เก็บอยู่ในปัจจุบันด้วย

      “สรุปแล้วภาษีหุ้น ต้องดูไทม์มิ่งที่เหมาะสม โมเดลแรกที่ง่ายที่สุดคือการยกเลิกการยกเว้นการเก็บภาษีหุ้น ซึ่งวันนี้มีหลายโมเดลที่สรรพากรร่วมศึกษา บนข้อมูลของนักลงทุนรายย่อย จากข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ ที่อยู่ในผลการศึกษาด้วย"

เล็งเก็บภาษีบริษัทข้ามชาติ

      อย่างไรก็ตาม การหาแหล่งรายได้ใหม่ หรือการขยายฐานภาษี ที่ทำไปแล้ว คือ การออกกฎหมายจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการบริการอิเล็กทรอนิกส์ จากแพลตฟอร์มต่างชาติ (VAT for Electronic Service: VES)

      ที่ให้บริการกับผู้ใช้บริการในไทย ทำให้สามารถเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม จากบริษัทต่างชาติ ที่มาให้บริการในประเทศ ในช่วง 6 เดือนแรก 4.2 พันล้านบาท

     โดยปีนี้ตั้งเป้าทั้งปีที่ 5 พันล้านบาท ซึ่ง 6 เดือนแรกก็ถือว่าเกือบถึงเป้าหมายที่สรรพากรตั้งไว้แล้ว ฉะนั้นปีนี้ก็น่าจะมีฐานรายได้ใหม่ให้กับประเทศไทย ประมาณ 1หมื่นล้านบาท

       ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บได้ในช่วงที่ผ่านมานี้ จะไม่แค่เป็นฐานรายได้ แค่ฐานภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่จะฐานภาษีใหม่ ที่เป็นรายได้ใหม่ๆให้กับกรมสรรพากรได้ในอนาคต

      ซึ่งขณะนี้ ที่อยู่ในแผน สรรพากรอยู่ระหว่างการศึกษา ร่วมกับ 139 ประเทศทั่วโลก เพื่อเจรจา เพื่อเก็บภาษีบริษัทข้ามชาติสำหรับบริษัทข้ามชาติ ที่มาให้บริการในประเทศต่างๆ จากเดิม ที่ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ ให้กับประเทศนั้น ที่ให้บริการ บริษัทเหล่านี้จะต้องปันกำไรมาให้กับประเทศที่ให้บริการเหล่านั้น ร่วมถึงไทยด้วย

     จากการเข้ามาให้บริการแพลตฟอร์มต่างๆของบริษัทต่างชาติ ดังนั้นบริษัทเหล่านี้ ต้องปันกำไร มาให้ประเทศผู้ใช้บริการ

     ซึ่งการเจรจากับ องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD)คาดว่า น่าจะเสร็จสิ้นปี 2566 และคาดจะเริ่มมีผลบังคับใช้ได้ปี 2567 ซึ่งไม่เพียงเป็นแหล่งรายได้ใหม่ให้กับประเทศไทยเท่านั้น แต่เพื่อสร้างความเป็นธรรมด้วย เพราะผู้ประกอบการต่างชาติเหล่านี้ ที่เข้ามาให้บริการในไทย ไม่เคยเสียภาษี ให้กับประเทศไทย วันนี้ไทยมีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ระยะข้างหน้า จะมีภาษีเงินได้

6เดือนเก็บภาษีธุรกิจข้ามชาติแล้ว 4.2 พันล้าน

     “สิ่งที่ตกลงเบื้องต้น คือ บริษัทข้ามชาติ ที่มีกำไรเกิน 2หมื่นล้านยูโร จะต้องปันกำไร ส่วนเกิน 10% จะต้องปันมาให้กับประเทศที่ใช้บริการเช่นไทยด้วย โดยกำหนดให้แบ่งส่วนเกิน 25% มาแบ่งให้ประเทศต่างๆ ซึ่ง 6 เดือนที่ผ่านมา สรรพากรมีการเก็บภาษีกับบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาให้บริการในไทยแล้ว 4.2 พันล้านบาทหากคิดย้อนกลับมาเป็นรายได้ผู้ประกอบการก็ราว 6 หมื่นล้าบาท เหล่านี้ต้องนำกลับไปเป็นบริษัทข้ามชาติ ส่วนจะปันกำไรมาเท่าไหร่ยังบอกไม่ได้ เพราะต้องมาดูว่าจะปันจากตัวเลขไหน เช่นอาจแบ่งตามจำนวนสมาชิก แบ่งตามยูเซอร์เป็นต้น”

      อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีการโยกย้ายจนไปนั่งเป็น อธิบดีกรมสรรพสามิตนั้น เป็นเรื่องปกติ ซึ่งก็พร้อมทำงาน เพราะไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็เชื่อว่า สามารถทำงานได้ เพราะมีเป้าหมายสำคัญ คืออยากให้ที่นั่น มีความยั่งยืน เช่นเดียวกันกรมสรรพากร ที่เป็นแหล่งรายได้สำคัญในอนาคตของประเทศ

     สำหรับ 4 ปี ที่ผ่านมา สรรพากรนำกลยุทธ์ Digital Transformation มาปรับเปลี่ยนกระบวนงานให้ทันสมัย นำข้อมูลขนาดใหญ่มาวิเคราะห์เพื่อวางกลยุทธ์จัดเก็บภาษี รวมถึงนำนวัตกรรม และเทคนิคการบริหารงานยุคใหม่ ทำให้การดำเนินงานและการให้บริการประชาชนในช่วงวิกฤตโควิด-19 ไม่ได้ส่งผลกระทบมากนักยังส่งผลดีให้กรมสรรพากรได้รับรางวัลมากมายมาตลอด 3 ปีอย่างต่อเนื่อง