เปิดยอดขาย-เช่านิคมฯ ครึ่งแรกปี 65 ชี้ "อีอีซี" เป็นทำเลทอง

เปิดยอดขาย-เช่านิคมฯ ครึ่งแรกปี 65 ชี้ "อีอีซี" เป็นทำเลทอง

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เผยยอดขาย-เช่า นิคมฯ ครึ่งแรกปีงบประมาณ 2565 โต 31.7% เผยนักลงทุนจากญี่ปุ่นยังครองแชมป์อันดับหนึ่ง โดยมีพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นทำเลทองดึงดูดนักลงทุน

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2565 (ต.ค.64 - มี.ค.65) กนอ.มียอดขาย-เช่าพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม จำนวน 785.33 ไร่ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 31.70% โดยเป็นผลจากความเชื่อมั่นในโครงการขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานหลักในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 และโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 

ซึ่งทั้ง 4 โครงการมีความก้าวหน้าการก่อสร้างและส่งมอบพื้นที่โครงการต่อเนื่องชัดเจน รวมถึงการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ประเทศไทยทำได้เป็นอย่างดี ขณะที่แนวโน้มของเศรษฐกิจโลกก็ปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน จึงทำให้นักลงทุนตัดสินใจจอง/ชื้อ/เช่าที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม ทั้งนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน และนิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ.ดำเนินการเอง

โดยยอดการขาย/เช่านิคมฯ ในพื้นที่อีอีซี มีจำนวน 669.73  ไร่ และนอกพื้นที่อีอีซี จำนวน 115.60 ไร่ มีการแจ้งเริ่มประกอบกิจการ และใบขออนุญาตส่วนขยาย 40 ราย เกิดการจ้างงาน 17,905 คน มูลค่าการลงทุนรวม 6 เดือน 59,872 ล้านบาท

ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกปรับตัวอยู่ร่วมกับโควิด-19 ได้เพิ่มขึ้น ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาเดินหน้าได้ รวมถึงการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม ซึ่ง กนอ.เองมีการคาดการณ์ไว้ว่า ในปีนี้จะมีเม็ดเงินลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสูงถึง 177,000 ล้านบาท โดยเฉพาะการลงทุนในพื้นที่อีอีซีจะปรับตัวเพิ่มขึ้น จึงตั้งเป้ายอดขาย/เช่า พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในปี 2565 ไว้ที่ ประมาณ 1,770 ไร่ ซึ่งมากกว่าปีที่ผ่านมา

โดยพิจารณาการลงทุนปีนี้ที่คาดว่ามีปัจจัยบวกเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการญี่ปุ่นในประเทศไทย หรือจากองค์กรส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) ซึ่งพบว่านักลงทุนชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่มั่นใจการลงทุนในประเทศไทย โดยมีจำนวนถึง 40-50% ที่ตั้งใจขยายการลงทุนต่อในประเทศไทย และอีก 30% ยังคงมีแผนการลงทุนเดิม เนื่องจากมีความมั่นใจในโครงสร้างพื้นฐานหลักในพื้นที่อีอีซีที่เดินหน้าอย่างชัดเจน” นายวีริศ กล่าว

ปัจจุบัน กนอ.มีพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ประมาณ 180,082 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ที่นิคมอุตสาหกรรมดำเนินการเอง ประมาณ 37,724 ไร่ และเป็นพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน ประมาณ 142,358 ไร่ มีพื้นที่ขายและให้เช่า ประมาณ 118,667 ไร่ โดยเป็นพื้นที่ขาย/ให้เช่าแล้ว ประมาณ 92,174 ไร่ และยังคงมีพื้นที่คงเหลือสำหรับขาย/ให้เช่าอีกประมาณ 26,493 ไร่ มีมูลค่าการลงทุนสะสม ประมาณ 5.51 ล้านล้านบาท มีโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมประมาณ 5,098 โรง และมีการจ้างงานรวมทั้งสิ้น ประมาณ 907,172 คน

โดยกลุ่มอุตสาหกรรม 5 อันดับแรก ได้แก่
1) อุตสาหกรรมยานยนต์และการขนส่ง 11.40% 
2) อุตสาหกรรมเหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะ 10.65%
3) อุตสาหกรรมยาง พลาสติก และหนังเทียม 9.58%
4) อุตสาหกรรมปุ๋ย สี และเคมีภัณฑ์ 8.84%
5) อุตสาหกรรมเครื่องยนต์ เครื่องจักร และอะไหล่ 8.52% 

ทั้งนี้ นักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นยังคงครองแชมป์ให้ความสนใจมาลงทุนมากเป็นอันดับหนึ่งถึง 40% รองลงมา คือ นักลงทุนจากประเทศจีน 20% และนักลงทุนจากอเมริกา อังกฤษ และเนเธอร์แลนด์ 10%

สำหรับภาพรวมการลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมภายใต้การกำกับดูแลของ กนอ.ทั้งนิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ.ดำเนินการเอง และนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน ปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้น 66 แห่ง และท่าเรืออุตสาหกรรม 1 แห่ง ใน 16 จังหวัด เป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ.ดำเนินการเอง 14 แห่ง และนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน 46 แห่ง (โดยเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ยังไม่เปิดดำเนินการ 6 แห่ง)