สัญญาณดีมานด์การบินฟื้น ท้าทายพลังงานดันค่าโดยสารพุ่ง

สัญญาณดีมานด์การบินฟื้น ท้าทายพลังงานดันค่าโดยสารพุ่ง

กพท.ประเมินหลังปลดล็อค Test & Go 1 พ.ค.นี้ อุตสาหกรรมการบินจ่อฟื้นตัวภายใน 1 เดือน คาดตลาดเอเชียปรับตัวเดินทางกลุ่มแรก พร้อมเปิดสถิติการขนส่งไตรมาส 1 ผู้โดยสารขยายตัว 28.6% หลังประชาชนเริ่มรับมือโควิด ขณะที่แอร์ไลน์แห่เปิดเส้นทางบินเพิ่ม

อุตสาหกรรมการบินที่เผชิญพิษโควิด-19 มากที่สุดตลอด 2 ปีที่ผ่านมา แต่ปีนี้ สัญญาณการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมนี้ เริ่มเห็นความชัดเจน จากรายงานของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ระบุถึงสถิติการขนส่งทางอากาศในช่วงไตรมาส 1 /2565 ว่า ภาพรวมจำนวนผู้โดยสารในไตรมาสที่ 1 มีจำนวนทั้งสิ้น 11.26 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2.5 ล้านคน สอดคล้องกับปริมาณเที่ยวบินในไตรมาสที่ 1 มีจำนวนทั้งสิ้น 108,987 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 21,277 เที่ยวบิน

สุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยว่า ตามนโยบายรัฐบาลที่เตรียมจะปรับมาตรการยกเลิกระบบ Test & Go สำหรับผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไทย ทำให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ ไม่ต้องตรวจโควิดด้วย RT-PCR เหลือเพียงการตรวจคัดกรองด้วยชุดตรวจโควิด Antigen Test Kit หรือ ATK เป็นมาตรการที่จะส่งผลบวกต่อภาคท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมการบินโดยตรง เพราะผู้โดยสารจะสามารถเดินทางเข้าไทยได้คล่องตัวมากขึ้น

“ภาพรวมหลังวันที่ 1 พ.ค.นี้ การเดินทางน่าจะดีขึ้นมาก เพราะผู้โดยสารส่วนใหญ่น่าจะเดินทางได้เกือบเหมือนปกติก่อนโควิด-19 ระบาด มีเพียงต้องลงทะเบียนและตรวจสอบเอกสาร COVID-19 Vaccination Certificate เท่านั้น แต่จะดีขึ้นมากแค่ไหนอย่างไร ต้องรอดูจำนวนเที่ยวบินที่จะขออนุญาตเข้ามาหลังจากนี้ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาประมาณ 1 เดือน เพราะปกติสายการบินต้องใช้เวลาในการทำตลาดระยะหนึ่ง”

อย่างไรก็ดี จากการประเมินตลาดคาดว่าภายหลังปลดล็อกเงื่อนไขเข้าประเทศ กพท.ประเมินว่าตลาดการบินแรกที่จะคึกคักน่าจะเป็นเอเชีย โดยเฉพาะสิงคโปร์ เนื่องจากเป็นประเทศที่มีเงื่อนไขคัดกรองผู้โดยสารเข้าประเทศที่คล้ายกัน คือลงทะเบียนและตรวจสอบเอกสาร ส่วนตลาดยุโรปก็คาดว่าจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศที่ยกเลิกมาตรการเข้าออกประเทศแล้ว

จากการวิเคราะห์ของ กพท. สอดคล้องกับเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นไตรมาส 1 ที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่ 10 ม.ค.2565 ปิดการลงทะเบียน Test and go เป็นการชั่วคราวโดยผู้ที่ลงทะเบียนไว้ถึง 10 ม.ค. แต่ยังให้เข้าประเทศได้ตามที่ลงทะเบียนไว้ จากนั้น 20 ม.ค. ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) มีมติให้เปิดลงทะเบียนTest and go ใหม่อีกครั้ง จากนั้น 1 ก.พ. เปิดลงทะเบียน Test and go แบบไม่กักตัว  และล่าสุด ศบค.กำหนดให้วันที่ 1 พ.ค.2565 ยกเลิกTest and go คงเพียงการตรวจ ATK 1 ครั้ง

เหมือนทุกอย่างกำลังจะดีขึ้น กระทั่ง 24 ก.พ.รัสเซียเริ่มปฎิบัติการทางทหารในพื้นที่ตะวันออกของยูเครน และ 7 มี.ค. สายการบินสัญชาติรัสเซียยกเลิกทุกเที่ยวบินที่ทำการบินมายังประเทศไทย และจนถึงขณะนี้สถานการณ์สงครามการยังไม่มีท่าที่จะจบลง

จากปัจจัยทั้งด้านบวกและลบต่ออุตสาหกรรมการบินที่เกิดขึ้นในปีนี้ ทำให้ความหวังที่สถานการณ์จะดีขึ้นยังอยู่ในสถานะไม่ชัดเจนแต่ที่เห็นได้ชัดคือดีมานด์จากผู้โดยสารที่ต้องการเดินทางกำลังเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับต้นทุนต่างๆที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันอันเป็นผลจากสงครามที่เกิดขึ้น 

สัญญาณดีมานด์การบินฟื้น ท้าทายพลังงานดันค่าโดยสารพุ่ง

รายงาานข่าวจาก กพท. ระบุว่า จากการฟื้นตัวของปริมาณเที่ยวบินและผู้โดยสารในช่วงไตรมาสที่ 1 แสดงให้เห็นว่าแม้จะมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น แต่จากความรุนแรงของอาการป่วยจากสายพันธุ์นี้ลดลง ประกอบกับการได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึงของประชาชน และมาตรการด้านสาธารณสุขที่ผ่อนคลายมากขึ้น ทำให้ประชาชนมีความมั่นใจในการเดินทางทางอากาศ และกลับมาจองการเดินทางมากขึ้น สายการบินต่างๆ จึงเริ่มกลับมาเปิดให้บริการในเส้นทางภายในประเทศและระหว่างประเทศสูงกว่าไตรมาสก่อน

อย่างไรก็ตาม กพท. ประเมินว่าในส่วนของสถานการณ์ไตรมาสที่ 2 นี้ ท่ามกลางการกลับมาเปิดทำการบินในหลายเส้นทาง พบว่าสายการบินจะต้องแบกรับต้นทุนราคาน้ำมันสูงขึ้น จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งจะส่งผลให้สายการบินต่างๆ มีต้นทุนสูงขึ้นอาจต้องปรับขึ้นราคาค่าโดยสาร ดังนั้นแม้ว่าจะมีความต้องการเดินทางเพิ่มสูงขึ้น แต่เนื่องจากสายการบินมีต้นทุนปรับสูงตามไปด้วย ทำให้พบว่าสัญญาณในช่วงไตรมาสที่ 2 นี้ราคาค่าโดยสารของสายการบินจะเพิ่มเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้า