ปากท้องเรื่องสำคัญ เพียงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขึ้นราคา สะเทือน!ทั้งวงการ

ปากท้องเรื่องสำคัญ เพียงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขึ้นราคา สะเทือน!ทั้งวงการ

สถานการณ์แพงทั้งแผ่นดิน! อาจเริ่มเห็นภาพชัดขึ้นเรื่อยๆ หลังจากผู้ผลิตสินค้าหลากหลายหมวดต้องเผชิญกับภาวะ “ต้นทุน” วัตถุดิบ ราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น จนส่งสัญญาณการปรับราคาขึ้นต่อเนื่อง บางรายยื่นขอกรมการค้าภายใน ปรับราคาแล้ว

เมื่อการกัดฟันแบกรับภาระต้นทุนไม่ไหว สุดท้ายการปรับ “ขึ้นราคาสินค้า” จึงเป็นทางออก และแน่นอนเมื่อราคาสินค้าแพง ผู้บริโภคย่อมได้รับผลกระทบตามมาอีกทอด

นับตั้งแต่ต้นปี 2565 มีสินค้าหลายหมวดที่ปรับราคาไปแล้ว เช่น ไม่ว่าจะเป็นน้ำอัดลม ขนมขบเคี้ยว บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ซักผ้า ผลิตภัณฑ์อาบน้ำ กระดาษชำระ สบู่ ฯลฯ

แต่ที่ฮือฮา! ทุกครั้ง หนีไม่พ้นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โดยเฉพาะยักษ์ใหญ่ และเป็น “เจ้าตลาด” อย่าง “มาม่า” ซึ่งมีข่าวออกมาเป็นระยะ ตอนต้นปี บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด(มหาชน)หรือ TFMAMA ในฐานะผู้ผลิต เคยให้ข้อมูลถึงการตรึงราคาสินค้าเดิมที่ 6 บาท แม้กำลังประสบปัญหากับต้นทุนที่พุ่งขึ้นอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันปาล์ม ที่ปรับขึ้น 3 เท่าตัว และแนวโน้มราคาน้ำมันปาล์มดิบอาจไม่กลับไปอยู่ในจุดต่ำเหมือนในอดีตด้วย เพราะเกษตรกรคงไม่ปรารถนานัก

ย้อนราคาน้ำมันปาล์มที่ผู้สื่อข่าวได้รับรายงาน ต้นทุนเคยอยู่ที่ 19 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) ขยับขึ้นเป็น 53-57 บาทต่อกก. ส่วนแป้งสาลีเคยอยู่ระดับ 300 บาทต่อถุงขนาด 22.5 กก. พุ่งทะลุกว่า 450 บาทต่อถุง และหลังจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ก่อตัว ลากยาวจนถึงปัจจุบัน ยังส่งผลให้ผลผลิตแป้งสาลีคร็อปใหม่จะแพงกว่าเดิม นับตั้งแต่ครึ่งปีหลัง 2565 เป็นต้นไป

ต้นทุนที่พุ่ง เมื่อผู้ผลิตยังไม่ผลักภาระให้กับผู้บริโภค รวมถึงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เป็นสินค้าควบคุมโดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งยังไม่ได้รับไฟเขียว ทำให้ผู้ประกอบการยังขึ้นราคาขายปลีกต่อซองไม่ได้ จึงเห็นการปรับราคาขายส่งขึ้น จนร้านค้าส่งต้องออกมาส่งสัญญาณให้ทราบ

สำหรับกระแสข่าว “มาม่า” ขึ้นราคาต่อลัง 10-14 บาท หรือมีผลต่อราคาขายเฉลี่ยประมาณ 8 สตางค์ต่อซอง และทำให้ร้านค้ามีกำไรน้อยลง

กรุงเทพธุรกิจ เคยสอบถามไปยังผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค ได้รับข้อมูลว่า การปรับราคาขายส่งกับทางร้าน เป็นเรื่องที่ผู้จัดจำหน่าย ร้านค้ามีการหารือกันอยู่แล้ว ซึ่งโครงการราคาที่เปลี่ยน ถือเป็นการลดราคาชั่วคราว หรือ Temporary price reduction ซึ่งผู้จัดจำหน่ายสามารถจะปรับให้หรือไม่ให้แก่ร้านค้าได้

เมื่อข่าวบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขึ้นราคาร้อนแรงทุกขณะ โดยเฉพาะการยก “มาม่าขึ้นราคา” ทำให้ล่าสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ต้องออกมายืนยันว่ายังไม่อนุมัติให้บะหมี่ ปรับราคาขึ้นแต่อย่างใด

สำหรับตลาดบะหมี่หมื่นล้าน ก่อนหน้านี้ “ไวไวปรุงสำเร็จ” เป็นแบรนด์ที่มีการขึ้นราคาสินค้าเรียบร้อยแล้ว 50 สตางค์ต่อซอง จากเดิม 5.50 บาท เป็น 6 บาทต่อซอง พร้อมทั้งปรับปริมาณสินค้าขึ้น 2 กรัมต่อซอง จากน้ำหนัก 55 กรัม เพิ่มเป็น 57 กรัม

ปากท้องเรื่องสำคัญ เพียงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขึ้นราคา สะเทือน!ทั้งวงการ

อย่างไรก็ตาม จากภาวะต้นทุนที่พุ่งแรง ทำให้มีรายงานข่าวจากวงการผู้ผลิตสินค้า ระบุว่า ขณะนี้มีแบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เบอร์รอง 2 ราย ได้ยื่นขอปรับราคาขึ้นกับกรมการค้าภายในแล้ว

ไม่เพียงแค่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ที่กัดฟันแบกภาระต้นทุนไม่ไหว จนต้องยื่นขอให้รัฐไฟเขียวปรับราคาสินค้า ล่าสุด ยังมีผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค(FMCG)รายอื่น ยื่นขอรัฐปรับราคาสินค้าด้วย

ศิริสุภา อาจสัญจร ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท นีโอ คอร์ปอเรท จำกัด ผู้ผลิตและทำตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคแบรนด์ชั้นนำ เช่น ไฟน์ไลน์ ดีนี่ ทรอส บีไนซ์ และโทมิ ฯลฯ ฉายภาพว่า จากสถานการณ์โลก ต้นทุนวัตถุดิบ ราคาพลังงาน ค่าขนส่งที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคของบริษัทค่อนข้างมาก โดยเฉพาะสินค้าบางหมวดหมู่ อย่างกลุ่มซักล้าง ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกาย ทำให้บริษัทต้องบริหารจัดการเบื้องต้น เพื่อแบกรับภาระต้นทุนไว้ให้มากสุด ไม่ให้กระทบต่อราคาสินค้าและผู้บริโภค

ทั้งนี้ บางสินค้าที่ไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนไหว ทำให้บริษัทยื่นขอกรมการค้าภายในเพื่อพิจารณาอนุญาตให้ปรับราคาสินค้าขึ้น ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ซักผ้า ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกาย

ปากท้องเรื่องสำคัญ เพียงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขึ้นราคา สะเทือน!ทั้งวงการ

“ต้นทุนการผลิตสินค้าต่างๆ ปรับขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2564 ที่ผ่านมา และบางส่วนเราพยายามแอบซอร์บไว้ แต่สินค้าบางส่วนเราอยู่ระหว่างกระบวนการขออนุมัติขึ้นราคา ซึ่งเราพยายามดูแลต้นทุนให้มากสุด เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคลำบาก เพราะการปรับราคาขึ้น ย่อมมีผลกระทบต่อธุรกิจ ทำให้บริษัทขายสินค้าได้น้อยลง และการจะปรับขึ้นราคาจะต้องพิจารณาสถานการณ์ตลาด ดูคู่แข่งด้วย หากเราปรับขึ้น แล้วคู่แข่งขายราคาเดิม เราก็จะได้รับกระทบ ซึ่งการขึ้นราคาต้องดูหลายอย่าง

ทั้งนี้ รายงานข่าวจากผู้ผลิตระบุว่า ผลิตภัณฑ์ซักผ้ามีการปรับราคาเรียบร้อยแล้ว แต่ราคาใหม่อยู่ภายใต้เพดานราคาควบคุม

อย่างไรก็ตาม การขึ้นราคาขายปลีกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปต่อซอง ยังต้องจับตาต่อเนื่อง โดยเฉพาะ "มาม่า" จะยื่นขอกรมการค้าภายในเพื่อปรับขึ้นราคาเมื่อไร และต้องขึ้นกี่บาท เพราะสินค้าหลักราคา 6 บาทต่อซอง ทั้งมาม่ารสหมูสับ ต้มยำกุ้งน้ำข้น ต้มยำกุ้งน้ำ ฯลฯ ไม่ได้ขึ้นราคามา 16 ปีแล้ว หากขอปรับราคาขายปลีกแล้ว "รัฐ" จะยอมปล่อยให้ขึ้นหรือไม่ และจะหาวิธีหรือมาตรการใด เพื่อลดผลกระทบทั้งฟาก "ผู้ผลิต" และฝั่ง "ผู้บริโภค"

 

 

 

พิสูจน์อักษร  โดย....สุรีย์   ศิลาวงษ์