SMEs กับระเบิดเวลา NPL ที่จะต้องเผชิญ(1)....

SMEs กับระเบิดเวลา NPL ที่จะต้องเผชิญ(1)....

S&P มองว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงเชิงระบบสูงขึ้น จากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังเปราะบางขณะที่หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ประกอบกับความขัดแย้งของรัสเซียและยูเครน ซึ่งคาดว่าหนี้เสีย (NPL) จะเพิ่มมากขึ้นใน 24 เดือนข้างหน้า

ผมได้ชมคลิปวีดีโอการให้สัมภาษณ์ของ “สุรพล โอภาสเสถียร” ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ เรื่อง “โคม่ามิถุนา” ระเบิดเวลาหนี้เสีย จากเพจ Money Channel รายการ The Topic และได้พบกับคุณสุรพลฯ เมื่อวันเสาร์ที่แล้ว บอกกับท่านว่าเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์มาก ขอเผยแพร่ให้ผู้ประกอบการ SMEs ได้รู้และวางแผนในการดำเนินธุรกิจ เพื่อเตรียมความพร้อมกับระเบิดเวลาที่กำลังจะเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นี้

เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้รายได้ของประชาชนหายวูบหรือที่เรียกว่า Income Shock เช่นร้านค้า ร้านอาหารเปิดบริการไม่ได้ พนักงานขาดรายได้ โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนที่มีภาระหนี้ กู้ก่อนผ่อนทีหลัง ไม่มีเงินมาจ่ายชำระหนี้ ทำให้กลายเป็นหนี้เสีย หรือที่เรียกว่า NPL ตั้งแต่ Q1/2019 จำนวน 6.8 % เพิ่มเป็น 8.1% ใน Q1/2020 เมื่อภาครัฐมีมาตรการพักชำระหนี้จากโครงการช่วยเหลือลูกหนี้ NPL ก็ชะลอตัวเป็น 7.5% ใน Q4/2021

สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือลูกหนี้กลุ่ม Special Mentioned (SM) ลูกหนี้ Stage 2 ที่ค้างชำระไม่เกิน 90 วัน ปรับเพิ่มขึ้นจาก 3.4% ใน Q2/2019 เป็น 3.6% ใน Q1/2020 ถ้ายังไม่มีรายได้ลูกหนี้กลุ่มนี้จะกลายเป็น NPL คาดว่าในเดือนมิถุนายน 2565 เมื่อมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สิ้นสุดลงก็จะกลายเป็น NPL ถ้าสภาวะเศรษฐกิจยังฟื้นตัวช้า ธปท.คาดว่าลูกหนี้จะเริ่มฟื้นตัวในเดือนมกราคม 2567

ลูกหนี้ที่เป็น NPL ส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วง GEN Y เป็นหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลในขณะที่ GEN X เป็นหนี้บ้านและหนี้รถยนต์ เมื่อพิจารณาตามช่วงอายุพบว่า คนอายุ 22 ปี เป็นหนี้ NPL 24% คนอาย 31ปี เป็นหนี้ NPL 24.4% คนที่อายุ 40-56 ปี เป็นหนี้ NPL 19% คนที่อายุ 60 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร เป็น NPL 15%

การแก้ปัญหาหนี้ NPL ต้องทำแบบ deleverage คือต้องเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน เร่งให้เศรษฐกิจฟื้นตัวโดยเร็ว โดยเฉพาะในอุตสาหกรรม K ขาขึ้น ต้องหาทางช่วยเหลืออุตสาหกรรม K ขาลง เจ้าหนี้ต้องลดหนี้ให้ลูกหนี้ ซึ่งสถาบันการเงินจะทำได้ยาก ลูกหนี้ต้องขายทรัพย์สินมาใช้หนี้ หรือยืมเงินจากแหล่งทุนอื่นมาชำระคืนหนี้เก่า ซึ่งก็ทำได้ยากในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน

ลูกหนี้ที่เคยเป็นลูกหนี้ดีทุกบัญชีจนถึงปี 2562 และได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด 19 จนกลายเป็น NPL จำนวน 2.3 ล้านบัญชี จำนวน 2 แสนล้านบาทเป็นกลุ่มที่ต้องได้รับการช่วยเหลือมากที่สุด สถาบันการเงินต้องเร่งปรับโครงสร้างหนี้โดยเร็ว เพราะเป็นกลุ่มที่มีวินัยในการชำระหนี้ในอดีต การลด NPL ทำได้สองทาง คือการปล่อยสินเชื่อเพิ่มเพื่อเติมหนี้ดี และการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้หนี้เสียเป็นหนี้ดี ปี 2565 จึงควรเป็นปีแห่งการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อลดหนี้ NPL ให้มากที่สุด 

S&P Global Rating สถาบันจัดอันดับเครดิตระดับโลก ได้ประกาศปรับลดอันดับเครดิต (downgraded) ธนาคารพาณิชย์ไทย 4 แห่งด้วยกันคือ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงไทย และธนาคารไทยธนชาติ โดย S&P มองว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงเชิงระบบ (systematic risk) สูงขึ้น จากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังเปราะบางขณะที่หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ประกอบกับความขัดแย้งของรัสเซียและยูเครน ซึ่งคาดว่าหนี้เสีย (NPL) จะเพิ่มมากขึ้นใน 24 เดือนข้างหน้า มาตรการภาครัฐที่ช่วยเหลือลูกหนี้ทาง S&P มองว่าเป็นการชะลอหรือช่วยได้แค่ชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งเมื่อธนาคารถูกปรับลดเครดิต ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับธนาคารคือต้นทุนหุ้นกู้ของธนาคารมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นตามไปด้วย

สิ่งที่ผู้ประกอบการ SMEs จะต้องเผชิญในอนาคตคือต้นทุนเงินกู้ที่เพิ่มสูงขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยที่จะต้องปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างแน่นอน จากข้อมูลของเครดิตบูโร SMEs ที่เป็นนิติบุคคล มีธุรกิจที่เป็น NPLถึง 2.8 แสนธุรกิจ มูลค่า 3.2 แสนล้านบาท โดยเฉพาะ 5 กลุ่มธุรกิจ ที่มีความเสี่ยงสูง จะฝ่าวิกฤต NPL ได้อย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องเตรียมตัวตั้งแต่บัดนี้....