จ่อปรับเกณฑ์ทัวริสต์ต้องฉีดเข็ม 3 เล็งใช้ “วัคซีนพาสปอร์ต” แทน ไทยแลนด์พาส

จ่อปรับเกณฑ์ทัวริสต์ต้องฉีดเข็ม 3 เล็งใช้ “วัคซีนพาสปอร์ต” แทน ไทยแลนด์พาส

“อนุทิน” เล็งปรับเกณฑ์ใหม่ นักท่องเที่ยวต้องฉีด "วัคซีนเข็มกระตุ้น" รวมอย่างน้อย 3 เข็ม รับแผนยกเลิกระบบ “ไทยแลนด์พาส” ใช้ "วัคซีนพาสปอร์ต" แทน ขอเวลาประเมินสถานการณ์หลัง 1 พ.ค. ลั่นถึงยุคท่องเที่ยวไทยเอาคืนโควิด ชู “ซอฟท์เพาเวอร์” ดึงต่างชาติสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ

จากข้อเรียกร้องของภาคเอกชนท่องเที่ยวที่ต้องการให้รัฐบาลเร่งพิจารณาปลดล็อกมาตรการเดินทางเข้าประเทศไทย ด้วยการยกเลิกการลงทะเบียนผ่านระบบไทยแลนด์พาส (Thailand Pass) เสนอขอให้เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.2565 เป็นต้นไป เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติเหมือนภาวะปกติก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ก้าวสู่ “การเปิดประเทศเต็มรูปแบบ

หลังที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เมื่อวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา มีมติ ยกเลิกระบบ Test & Go ไม่ต้องมีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 และลดวงเงินประกันของนักท่องเที่ยวต่างชาติเหลือ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ จากเดิม 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ

วานนี้ (26 เม.ย.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังงาน MICE DAY 2022 : ไมซ์ไทย ก้าวสู่วันอันยิ่งใหญ่ จัดโดยสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ ว่า สำหรับเกณฑ์การพิจารณายกเลิกระบบไทยแลนด์พาส ต้องดูจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกว่าถ้ายังเป็นสายพันธุ์โอมิครอน นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้าไทยต้องได้รับการฉีดวัคซีน โดยเกณฑ์ที่อาจจะปรับเพิ่มคือนักท่องเที่ยวต้องได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น (Booster Dose) หรืออย่างน้อย 3 เข็ม เพราะต้องยอมรับว่าปัจจุบันการฉีดวัคซีนแค่ 2 เข็มนั้น ไม่ปลอดภัยเท่าไร และจากการศึกษาพบว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 3 เข็ม มีความปลอดภัยจากการติดเชื้อโควิด-19 ค่อนข้างสูง นอกจากนี้ต้องมีการนำ "วัคซีนพาสปอร์ต" ซึ่งเป็นวิธีการคัดกรองการเดินทางแบบสากลมาใช้ด้วย

ส่วนเรื่องวงเงินประกันสุขภาพของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ยืนยันว่ายังต้องมีอยู่ เพื่อลดภาระการใช้งบประมาณของประเทศในการรักษาโควิด-19 หากพบนักท่องเที่ยวต่างชาติติดเชื้อขึ้นมา ส่วนจะมีการพิจารณาปรับลดวงเงินประกันฯหรือไม่นั้น คงต้องมีการพิจารณาอีกที

“เรื่องการปลดล็อกมาตรการเดินทางเข้าไทย กระทรวงสาธารณสุขจะทำทุกอย่างให้เป็นปกติโดยเร็วที่สุด โดยการยกเลิกระบบ Test & Go ที่จะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.นี้เป็นต้นไป เหมือนเป็นการดีเดย์เปิดประเทศไทย ถือเป็นก้าวสำคัญอีกก้าวหนึ่ง เพื่อให้เกิดความคุ้นชินและได้ประเมินสถานการณ์กันอย่างต่อเนื่อง เพราะเมื่อทำแล้ว ก็ไม่อยากจะถอยหลังแล้ว เราต้องเดินหน้าต่อไป แต่ขอให้เป็นทีละสเต็ป ด้วยการเลือกจังหวะเวลาที่เหมาะสม มีความพร้อมในการดูแลสถานการณ์ได้ ไม่ใช่เปิดประเทศทั้งที่เรายังไม่พร้อม”

 

++ ดีเดย์ 1 พ.ค. มาตรการ “ฟรี อัพ ไทยแลนด์”

ทั้งนี้ ศบค.จะพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องยกเลิกระบบไทยแลนด์พาสอีกครั้งหลังวันที่ 1 พ.ค.นี้ ทันทีที่มีโอกาสอำนวย ซึ่งทาง ศบค.มีการตอบสนองต่อสถานการณ์เร็วอยู่แล้ว โดยคำนึงถึงพื้นฐานการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้ ไม่จำเป็นต้องใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Zero Covid) เน้นหามาตรการที่เหมาะสมแก่ผู้เดินทางเข้าไทย

“เรามั่นใจว่าคุมโควิด-19 ได้ ทำให้เราเปิดประเทศได้กว้างขึ้น ซึ่งจะเริ่มใช้มาตรการ “ฟรี อัพ ไทยแลนด์” (Free up Thailand) ที่จะเริ่ม 1 พ.ค.นี้เป็นต้นไป หลัง สธ.ได้ประเมินสถานการณ์และเตรียมความพร้อมองคาพยพด้านต่างๆ เพียงพอแก่ทั้งคนไทยและผู้ที่เดินทางเข้าไทย ผ่านการดำเนิน 3 มาตรการ “3 พอ” ได้แก่ 1.มียาและเวชภัณฑ์เพียงพอ 2.มีบุคลากรทางการแพทย์เพียงพอ และ 3.มีเตียงในสถานพยาบาลรองรับผู้ป่วยเพียงพอ”

 

++ ลั่นถึงยุคท่องเที่ยวไทยเอาคืนโควิด

นายอนุทิน กล่าวบนเวทีงานฯว่า หลังประเทศไทยผ่านวิกฤติโควิด-19 นับจากนี้เป็นต้นไปเราต้องเอาคืน เหมือนวลี No Pain No Gain” (ถ้าไม่เจ็บปวดก็ไม่มีวันได้กำไร) เมื่อเสียไปหนึ่ง เราต้องได้กลับคืนมาเป็นสิบหรือเป็นร้อย และการที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและไมซ์ (MICE: การจัดประชุม ท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล สัมมนา และแสดงสินค้า) จะได้กำไรกลับมานั้น ใช้แค่ประสบการณ์หรือความเก๋าเกมคงไม่เพียงพอ ต้องใช้ข้อมูลเป็นตัวขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้วย

“ประกอบกับยุคนี้เป็นยุคของซอฟท์เพาเวอร์ ประเทศไทยมีซอฟท์พาวเวอร์ด้านต้นทุนวัฒนธรรมรอบตัว สามารถขายความเป็นไทย นำมาสร้างแรงดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเพื่อสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจได้ เราต้องพยายามใช้ซอฟท์เพาเวอร์ทำให้ประเทศไทยกลับมาเป็นซูเปอร์พาวเวอร์ และเชื่อว่าเมื่อไทยเปิดประเทศในสถานการณ์ที่โควิด-19 ยังระบาด โลกทั้งโลกต้องหันมาให้ความสนใจเรา” นายอนุทินกล่าว