"พาณิชย์"เปิดเพจ “สุดยอดผลไม้ภาคตะวันออก”เพิ่มช่องทางจำหน่ายผลไม้

"พาณิชย์"เปิดเพจ “สุดยอดผลไม้ภาคตะวันออก”เพิ่มช่องทางจำหน่ายผลไม้

“ปลัดพาณิชย์” เป็นประธานเปิดเพจ “สุดยอดผลไม้ภาคตะวันออก” ช่วยเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้กับเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ ทั้งการขายออนไลน์ในประเทศ และนำเข้าร่วมกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจ เพื่อเปิดตลาดต่างประเทศ

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์  เปิดเผยภายหลังการประเป็นประธานในพิธีเปิดเพจ “สุดยอดผลไม้ภาคตะวันออก” ภายใต้โครงการยกระดับตลาดผลไม้ภาคตะวันออกให้เป็นศูนย์ผลไม้เมืองร้อนแห่งเอเชีย ว่า การจัดทำเพจ สุดยอดผลไม้ตะวันออก” เป็นการสร้างโอกาสในการหาคู่ค้ารายใหม่ เพื่อลดความเสี่ยงในการพึ่งพาตลาดส่งออก ซึ่งเป็นตลาดหลักเพียงอย่างเดียว โดยเพจดังกล่าว จะช่วยแนะนำผลไม้ของภาคตะวันออก ช่วยกระตุ้นการบริโภค กระตุ้นการซื้อขายภายในประเทศ และช่วยผลักดันให้ผลไม้ภาคตะวันออกเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้น

 ทั้งนี้ ปัจจุบันเกษตรกรไทยปลูกผลไม้ 57 ชนิด มูลค่าการส่งออกประมาณ 4.5 หมื่นล้านบาทในแต่ละปี การส่งออกผลไม้ไทยกระจุกตัวอยู่ที่ 3 ชนิด คือ ทุเรียน ลำไย และมังคุด ส่งให้กับตลาดใหญ่เพียง 2 แห่ง คือ จีนและเวียดนาม คิดเป็นสัดส่วนกว่า 80% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ที่เหลือเป็นการจำหน่ายในประเทศ โดยการจัดทำเพจนี้ขึ้นมา จะช่วยกระตุ้นการซื้อขายในประเทศ และคาดหวังต่อยอดให้เป็นเพจ ที่ช่วยกระตุ้นการซื้อขายต่างประเทศด้วย

\"พาณิชย์\"เปิดเพจ “สุดยอดผลไม้ภาคตะวันออก”เพิ่มช่องทางจำหน่ายผลไม้

สำหรับปริมาณผลไม้ภาคตะวันออกปีนี้ พบว่า ทุเรียน มังคุด เงาะ และกองลอง ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ระยอง ตราด จะมีปริมาณ 1.14 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 27% เมื่อเทียบกับปี 2564 ที่มีจำนวน 9 แสนตัน

นายชัยรัตน์ บุญส่ง พาณิชย์จังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า   ภาคตะวันออก ประกอบด้วย จันทบุรี ตราด สระแก้ว ปราจีนบุรี นครนายก ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา  เป็นแหล่งผลิตผลไม้เมืองร้อน เช่น ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง ลำไย กล้วยไข่ สับปะรด สละ ชมพู่ ขนุน มะยงชิด มะม่วง และส่วนใหญ่ส่งออกไปต่างประเทศ มากกว่า 90% ส่งออกไปจีน เวียดนามและฮ่องกง ซึ่งบางครั้ง ตลาดส่งออกมีปัญหาถูกกดราคา หรือกำหนดมาตรการกีดกันทางการค้า ทำให้การส่งออกมีความยุ่งยาก และกระทบต่อราคาจำหน่ายของเกษตรกร จึงได้ร่วมกันจัดทำโครงการยกระดับตลาดผลไม้ภาคตะวันออกให้เป็นศูนย์ผลไม้เมืองร้อนแห่งเอเชีย

โครงการนี้ มีเป้าหมายเพื่อสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทย ได้มีโอกาสแสวงหาคู่ค้ารายใหม่ และเปิดตลาดใหม่ ๆ พร้อมทั้งจัดหากิจกรรมรองรับ หากมีสินค้าล้นตลาดภายในประเทศ โดยเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้มีการบริโภคภายในประเทศ จึงได้จัดทำเพจสุดยอดผลไม้ภาคตะวันออกขึ้นมา เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้กับเกษตรกรผ่านทางออนไลน์ภายในประเทศ และขยายถึงตลาดต่างประเทศ”นายชัยรัตน์กล่าว

โดยกิจกรรมที่ได้มีการดำเนินการภายใต้โครงการนี้ ได้มีการจัดฝึกอบรมพัฒนาทักษะและเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ภายในประเทศ เมื่อวันที่ 1–2 มี.ค.2565 ถ่ายทอดสดผ่านระบบ ZOOM จากห้องพราวมณี โรงแรม นิว แทรเวิลลอด์จ จ.จันทบุรี มีผู้ประกอบการภาคตะวันออกเข้าร่วมทั้งสิ้นจำนวน 50 ราย และจัดทำเพจ “สุดยอดผลไม้ภาคตะวันออก” เพื่อเป็นช่องทางการตลาดออนไลน์ให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการภาคตะวันออกที่เข้าร่วมอบรม และยังได้นำเกษตรกรมาร่วมกิจกรรมจับคู่เจรจาธุรกิจออนไลน์ (Online Business Matching) กับผู้ซื้อ ผู้นำเข้าต่างประเทศ มีผู้ประกอบการภาคตะวันออกเข้าร่วมทั้งหมดจำนวน 30 ราย เป็นการเจรจาออนไลน์กับประเทศกัมพูชา จีน และสวิตเซอร์แลนด์