หนังเล่าโลก: Escape from Mogadishu ศักดิ์ศรีเกมการทูตสองเกาหลี

หนังเล่าโลก: Escape from Mogadishu   ศักดิ์ศรีเกมการทูตสองเกาหลี

สำหรับคนที่ติดตามข่าวต่างประเทศ คาบสมุทรเกาหลีเป็นพื้นที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร จากราชอาณาจักรเดียวถูกญี่ปุ่นยึดครอง ต่อมาถูกแบ่งแยกเป็นเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ในยุคสงครามเย็น จากนั้นสองชาติเกาหลีก็ขับเคี่ยวกันในทุกมิติเห็นได้ในภาพยนตร์หลายเรื่อง รวมทั้ง Escape from Mogadishu

Escape From Mogadishu ภาพยนตร์ปี 2564 ของผู้กำกับ  Ryoo Seung Wan (รยูซึงวาน) ได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนประเทศเกาหลีใต้ชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมในปีหน้า บอกเล่าเรื่องราวช่วงทศวรรษ 1980-1990 ที่สองชาติเกาหลียังไม่ได้เป็นสมาชิกสหประชาชาติ (ยูเอ็น) จึงต้องทำทุกทางเพื่อให้รัฐสมาชิกอื่นๆ ของยูเอ็นสนับสนุน ซึ่งประเทศในทวีปแอฟริกาที่มีจำนวนมากถือเป็นกลุ่มที่ทรงพลัง เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้จำต้องมีสถานทูตที่นั่นเพื่อรักษาผลประโยชน์แห่งชาติไว้ หนึ่งในนั้นคือภารกิจหาเสียงสนับสนุนให้ได้เข้าไปนั่งในยูเอ็น วิธีการหลักๆ คือต้องโน้มน้าวผู้นำประเทศให้เห็นดีเห็นงามไม่ว่าจะต้องใช้ลูกล่อลูกชนมากแค่ไหนก็ตาม

ภารกิจที่กรุงโมกาดิชู ประเทศโซมาเลียของนักการทูตเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ ดำเนินไปในช่วงที่การเมืองในโซมาเลียไร้เสถียรภาพอย่างมาก ฝ่ายกบฏเข้ายึดเมืองและโจมตีสถานทูตต่างชาติที่มองว่าเอื้อประโยชน์ให้รัฐบาลเผด็จการกดขี่ขูดรีดประชาชน เมื่อสถานการณ์คับขันเจ้าหน้าที่สถานทูตเกาหลีเหนือนำโดยเอกอัครราชทูตก็ต้องไปหาที่พึ่งที่สถานทูตจีน เช่นเดียวกับทูตเกาหลีใต้ต้องพาลูกน้องไปพึ่งพาสถานทูตชาติตะวันตก หาทางหนีตายออกจากกรุงโมกาดิชูที่กลายเป็นสมรภูมิสงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายกบฏกับกองทัพไปแล้ว  แต่ระหว่างที่ยังหาคนช่วยไม่ได้ชาวเกาหลีที่ตอนนี้ความเป็นเหนือหรือใต้ไม่สำคัญเท่ากับการรักษาชีวิตให้รอดจำต้องช่วยเหลือกันเองก่อน

ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างจากเรื่องจริง ประเด็นที่ผู้เขียนคาใจคือ “อะไรกัน! เกาหลีใต้เพิ่งเป็นสมาชิกยูเอ็นเมื่อไม่กี่สิบปีมานี่หรอกหรือ” ตามไปค้นข้อมูลเพิ่มเติมเรื่อง The Two Koreas Mark 30 Years of UN Membership: The Road to Membership เขียนโดย โรเบิร์ต คิง จากเว็บไซต์ kiea.org พบว่า เมื่อวันที่17 ก.ย.ที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบ 30 ปีสองชาติเกาหลีเป็นสมาชิกยูเอ็นครบถ้วนสมบูรณ์แบบ พูดง่ายๆ คือเป็นสมาชิกหลังจากก่อตั้งยูเอ็นมาแล้ว 46 ปี (ไทยเป็นสมาชิกในปี 2489 ที่ก่อตั้งยูเอ็น โดยเป็นสมาชิกลำดับที่ 55) ซึ่งการเป็นสมาชิกยูเอ็นสำคัญสำหรับประเทศทั้งหลายเพราะหมายถึงการยอมรับในอธิปไตยของรัฐนั้น ยอมให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก 

เส้นทางการเป็นสมาชิกยูเอ็นของสองชาติเกาหลีเรียกได้ว่าขับเคี่ยวกันมาตลอด เริ่มต้นจาก  สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้)  ที่ยื่นขอเป็นผู้สังเกตการณ์มาก่อนได้เป็นสมาชิกเต็มตัวแล้วหลายสิบปี  ได้รับสถานะผู้สังเกตการณ์อย่างเป็นทางการในวันที่ 21 ธ.ค.2491 ต่อมา เดือน ม.ค.2492 เกาหลีใต้ขอเป็นสมาชิกยูเอ็นอย่างเป็นทางการ ครั้นถึงเดือนก .พ. ปีเดียวกันสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี (เกาหลีเหนือ) ที่เพิ่งตั้งประเทศก็ยื่นเรื่องเป็นสมาชิกบ้าง ขณะที่สหภาพโซเวียตคัดค้านการเป็นสมาชิกของเกาหลีใต้ คณะมนตรีความมั่นคงจึงไม่ได้ดำเนินการใดๆ กับคำขอของทั้งสองประเทศ จนกระทั่งสงครามเกาหลีอุบัติขึ้นในเดือน มิ.ย.2493 กระบวนการจึงล่าช้าต่อไป

ปี 2516 เกาหลีเหนือได้สถานะผู้สังเกตการณ์อย่างเป็นทางการ เนื่องจากสาธารณประชาชนจีนได้ที่นั่งในยูเอ็นแทนสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ปักกิ่งได้ป็นสมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคงแทนไทเป 

จริงๆ แล้วโสมแดงไม่ค่อยอยากเป็นสมาชิกยูเอ็นเท่าโสมขาวเพราะยังเคืองเรื่องที่ยูเอ็นภายใต้การนำของสหรัฐมีบทบาทสำคัญระดมความช่วยเหลือจากนานาชาติให้โสมขาวในช่วงสงครามเกาหลี 

หลายสิบปีผ่านไปเมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดพร้อมๆ กับการล่มสลายของสหภาพโซเวียต วันที่ 28 พ.ค.2534 เกาหลีเหนือประกาศว่าจะสมัครเป็นสมาชิกยูเอ็น ที่ไม่ทำก่อนหน้านี้เพราะเชื่อว่า ตนคือรัฐบาลอันชอบธรรมเพียงหนึ่งเดียวของเกาหลีทั้งมวล แน่นอนว่าเกาหลีใต้ก็อ้างแบบเดียวกัน พอเปียงยางประกาศว่าจะสมัครเป็นสมาชิกยูเอ็น โซลก็ประกาศเช่นกันเป็นการตอบโต้ การชิงไหวชิงพริบในช่วงนี้ปรากฏชัดในหนังช่วงแรกก่อนกรุงโมกาดิชูถูกกบฏยึด 

 ในฐานะหนังจากประเทศเกาหลีใต้ Escape from Mogadishu  สอดแทรกความเป็นพระเอกของตนด้วยภาพความใจกว้าง พร้อมเปิดรับผู้แปรพักตร์ชาวเกาหลีเหนือ  และคนดูที่คุ้นเคยกับความบันเทิงเกาหลีใต้ย่อมเอาใจช่วยโสมขาวมากกว่าโสมแดง แต่ความจริงก็คือความจริงตรงที่สองเกาหลีก็คือสองเกาหลีที่มีอุดมการณ์และแนวทางการปกครองแตกต่างกันไป มีที่อยู่ที่ยืนในฐานะประเทศเอกราชเหมือนๆ กัน ความรักความเมตตาในฐานะเพื่อนมนุษย์หรือญาติพี่น้องของประชาชนนั้นเรื่องหนึ่ง ส่วนนโยบายบริหารประเทศย่อมเป็นเรื่องของผู้นำ ปีหน้าเกาหลีใต้จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี  ขณะที่เกาหลีเหนืออำนาจการปกครองสืบทอดอยู่ในมือตระกูลคิม  ช่วงนี้โควิด-19 ระบาดจนบดบังเรื่องอื่นๆ ไปแทบทั้งหมด รอให้โควิดอ่อนกำลังลงสถานการณ์คาบสมุทรเกาหลีคงกลับมาอยู่ในความสนใจของชาวโลกอีกครั้ง