จับเทรนด์ Sustainable Beauty | ต้องหทัย กุวานนท์

จับเทรนด์ Sustainable Beauty | ต้องหทัย กุวานนท์

อุตสาหกรรมเครื่องสำอางและสกินแคร์มูลค่ากว่า 4 แสนล้านดอลลาร์ กำลังอยู่ภายใต้แรงกดดันว่าเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ “สร้างปัญหา” ให้โลกมากที่สุดอุตสาหกรรมหนึ่ง ตั้งแต่กระบวนการหาวัตถุดิบ ผลิตกระจายสินค้าและขยะจำนวนมหาศาล ที่เกิดจากบรรจุภัณฑ์ที่ซับซ้อนเกินความจำเป็น

TRVST ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ส่งเสริมความยั่งยืนและความเป็นธรรมทางสังคม ได้ตีพิมพ์ข้อมูลโดยระบุว่า บรรจุภัณฑ์สำหรับผลิตภัณฑ์ความงามสร้างปริมาณขยะถึง 120 พันล้านหน่วยต่อปี ซึ่งรวมถึงพลาสติก กระดาษ แก้ว และโลหะที่ไม่ได้ถูกนำมารีไซเคิล

ทั้งยังใช้สารเคมีที่เรียกว่า Forever Chemicals หรือ PFAS ซึ่งเป็นสารเคมีที่ใช้เวลาในการย่อยสลายนานหลายร้อยปี และยังมีความเชื่อมโยงกับปัญหาสุขภาพและภูมิคุ้มกันของมนุษย์ 

ปัญหาเหล่านี้ทำให้ผู้เล่นรายใหญ่ในอุตสาหกรรมต่างรีบปรับตัว เร่งขับเคลื่อนแผนงานที่จะแก้ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ลอรีอัล เบอร์หนึ่งในธุรกิจเครื่องสำอาง กำหนดเป้าหมายใช้พลาสติกรีไซเคิลให้ได้ 50% ภายในปี 2025 

ยูนิลีเวอร์ ก็เดินหน้าพัฒนาให้ทุกบรรจุภัณฑ์พลาสติกของบริษัทสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ภายในปี 2568 ส่วน Estee Lauder ก็ตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอนในทุกกระบวนการผลิตและใช้พลาสติกรีไซเคิลให้ได้ 25%

ความใส่ใจเรื่องการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของผู้บริโภคทำให้ เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ความงามที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กลายเป็นตัวเลือกที่สำคัญในการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคกลุ่มคนรุ่นใหม่ และนี่คือเหตุผลสำคัญที่ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมความงามต้องรีบเร่งลงทุนเพื่อสร้างจุดยืนที่มั่นคงเรื่องการใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม 

ยูนิลีเวอร์ ลอรีอัล และ คาโอ ได้เข้าร่วมลงทุนกับบริษัทผู้นำด้านเทคโนโลยีชีวภาพ Genomatica เพื่อพัฒนาส่วนผสมที่เป็นเคมีภัณฑ์ทางเลือกที่จะลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม Estee Lauder ที่ไม่เคยลงทุนในจีนมาก่อนเลย 

จับเทรนด์ Sustainable Beauty | ต้องหทัย กุวานนท์

ล่าสุดได้เข้าลงทุนในสตาร์ตอัปที่เป็น Clean Beauty แบรนด์ Code Mint ผ่านหน่วยงานธุรกิจร่วมทุน NIV แบรนด์จากฝรั่งเศสอย่าง L'Occitane ก็ได้ร่วมลงทุนและกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน Alchemist แบรนด์ที่มีจุดขายเรื่อง Clean Beauty จากออสเตรเลีย 

นอกจากฝั่งแบรนด์แล้ว บริษัทผู้ผลิตเคมีภัณฑ์เพื่อแต่งกลิ่นและรสชาติชั้นนำอย่าง Givaudan และ Symrise ก็ได้เข้าลงทุนในสตาร์ตอัปไบโอเทค ที่พัฒนาสารแต่งกลิ่นจากธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่าง Amyris และ Synergio

ทิศทางการลงทุนในผลิตภัณฑ์ความงามที่เน้นเรื่องความยั่งยืนและปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมกำลังอยู่ในขาขึ้น โดยข้อมูลจาก Statita ระบุว่ามูลค่าตลาดของผลิตภัณฑ์ความงามที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมกำลังเติบโตด้วยค่าเฉลี่ยประมาณ 15% ต่อปีและน่าจะมีมูลค่าถึง 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ภายในอีก 5 ปี ข้างหน้า เทรนด์ที่กำลังมาแรงลำดับต้นๆ คือ

  1. การใช้ส่วนผสมที่ไม่รบกวนสิ่งแวดล้อมและมีแหล่งที่มาตรวจสอบได้
  2. บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก
  3. ผลิตภัณฑ์ที่ลดการใช้ “น้ำ” เป็นส่วนผสม
  4. การใช้สารป้องกันอนุมูลอิสระที่สกัดจากธรรมชาติ
  5. สารแต่งกลิ่นปราศจากเคมี
  6. ผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานได้แบบยูนิเซ็กส์ไม่จำกัดเพศ

การเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนของอุตสาหกรรมความงามกำลังเกิดขึ้นอย่างช้าๆ แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ถือว่ามีนัยสำคัญในการลดปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลก เพราะอุตสาหกรรมนี้มีเครือข่ายซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้องกับทุกอุตสาหกรรม และถือเป็นอุตสาหกรรมเดียวในโลกที่เติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปีไม่ว่าภาวะเศรษฐกิจจะเป็นเช่นไร