ปัญญาประดิษฐ์กับสมองมนุษย์ (จบ)

ปัญญาประดิษฐ์กับสมองมนุษย์ (จบ)

เอไอไม่ต่างจากเครื่องมือดิจิทัลอื่นๆ ที่ต้องรู้จักสร้างสมดุลการใช้งาน

คนทั่วไปนั้นทำงานลำพังด้วยตัวเอง ส่วนคนเก่งนั้น จะใช้แรงงานผู้อื่นเพื่อถึงเป้าหมาย แต่คนเก่งที่สุดจะใช้สมองผู้อื่นทำงานแทน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เราจึงทุ่มเทพัฒนาเครื่องจักรกลเพื่อให้ทำงานหนักแทนเรา และพัฒนาจนกลายเป็นเอไอที่ทำหน้าที่คิดแทนสมองของเราในวันนี้

ความเปลี่ยนแปลงของมนุษย์ตลอดระยะเวลานับพันปีที่ผ่านมา เราจึงแข็งแรงน้อยลง เพราะเราใช้เครื่องทุ่นแรงต่าง ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้เราแทบไม่ได้ออกแรงในแต่ละวันอย่างที่ควรจะเป็น จนเพิ่มความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคต่างๆ

แต่ปัญหาดังกล่าว ไม่ได้แก้ยากจนเกินไปนัก เพราะเราอาศัยการออกกำลังกายอย่างเป็นประจำสม่ำเสมอ ก็สามารถสร้างกล้ามเนื้อทดแทนการทำงานหนักได้ และถ้าออกกำลังกายอย่างถูกวิธีก็จะช่วยให้เรามีสุขภาพดีลดโอกาสเกิดโรคภัยไข้เจ็บได้

ส่วนการใช้เทคโนโลยีเอไอหรือปัญญาประดิษฐ์เพื่อคิดแทนเรานั้น หากใช้กันอย่างเต็มพิกัด โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่ตามมาแน่นอนว่าเราคงจะใช้สมองเพื่อจำและคิดเพื่อประมวลผลในเรื่องต่าง ๆ ลดลง ทักษะทางการคิดวิเคราะห์ของเราก็คงค่อย ๆ หดหายไป

ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต คือ การเมื่อใช้สมองลดลง การจะกระตุ้นให้สมองกลับมามีประสิทธิภาพดังเดิมนั้นไม่ง่ายเหมือนกับการฟื้นฟูกล้ามเนื้อ เพราะเมื่อเราผลักภาระในการจดจำและการคิดวิเคราะห์ไปให้คอมพิวเตอร์ทำหน้าที่แทนเรามากขึ้น ก็เท่ากับว่าเราลดกิจกรรมในสมองลงไปเรื่อย ๆ

การจดจำและการใช้สมองเพื่อคิดและจินตนาการต่าง ๆ นั้นเป็นการสร้างเครือข่ายเพื่อการเชื่อมโยงของเซลล์ประสาทในสมอง ยิ่งจำมาก ยิ่งคิดมาก จะเกิดการเปลี่ยนความทรงจำระยะสั้นเป็นระยะยาวเซลล์ประสาทก็จะเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายที่มีขนาดใหญ่ขึ้น

ถ้าขาดการใช้งานสมอง เซลล์ดังกล่าวอาจไม่มีการพัฒนาเพิ่มเติมขึ้นและอาจมีแนวโน้มที่จะหดตัวลงจากโรคสมองเสื่อมได้อีก ซึ่งประเด็นเหล่านี้เราอาจต้องขบคิดให้ดีและต้องมองให้ทะลุว่าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ควรมีสมดุลการใช้งานอย่างไรสำหรับคนรุ่นใหม่

ผมเชื่อว่าไม่มีสิ่งใดมหัศจรรย์เท่าการทำงานของสมอง แต่สมองนั้นต้องการการกระตุ้น และการใช้งานอย่างสม่ำเสมอ เพราะสมองคนเรามีมิติทางความคิดที่ซับซ้อนมาก เมื่อคิดถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง สมองจะเชื่อมโยงความทรงจำทั้งหมดเข้าด้วยกัน

ทั้งประสบการณ์ ความทรงจำที่เกี่ยวข้อง เพลงที่เคยฟัง หนังสือที่เคยอ่าน ภาพยนตร์ที่เคยชม ฯลฯ จะถูกร้อยเรียงออกมา ซึ่งการเชื่อมโยงเซลล์สมองเหล่านี้ ล้วนเกิดจากการใช้สมองสร้างจินตนาการขึ้นมาขณะที่อ่านหนังสือ หรือฟังเพลง

หลายคนคงเคยฟังเพลงเก่า ๆ ซึ่งสิ่งที่สมองเราคิดขณะฟังเพลงนั้นไม่ได้มีเพียงเนื้อหาของเพลงเท่านั้น แต่มันเป็นความทรงจำที่ผุดขึ้นมา เช่นเพลงนี้เคยได้ฟังสมัยเรียนอยู่มหาวิทยาลัย เป็นเพลงที่ชอบฟังขณะที่อ่านหนังสืออยู่สถานที่แห่งใดแห่งหนึ่ง หรือเพลงนี้แม่เคยร้องให้ฟัง ฯลฯ

กิจกรรมทางสมองเหล่านี้ทำให้เรามีมิติทางความคิดที่กว้างไกลและสลับซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ ต่างจากคอมพิวเตอร์ที่รู้จักเพลง มีข้อมูลผู้แต่เพลงและนักร้อง แต่ไม่เหมือนสมองคนเราที่เชื่อมโยงเพลงนั้น กับความทรงจำถึงผู้คน สถานที่ สิ่งแวดล้อม ฯลฯ

แต่หากเราใช้เอไออย่างไม่สมดุล เราอาจอ่านหนังสือลดลงเพราะใช้เอไอช่วยสรุปย่อให้ เราอาจคิดเขียนบทความต่าง ๆ ลดลงเพราะให้เอไอเขียนแทนให้ จะเดินทางไปไหนก็ให้เอไอกับจีพีเอสวางแผนเส้นทางให้ทุกครั้ง ฯลฯ สุดท้ายเราจะพบว่าการใช้สมองในแต่ละวันของเราลดลงอย่างน่าใจหาย

การใช้เทคโนโลยีอย่างเกินพิกัดจนหลงลืมการพัฒนาสมองของตัวเองจึงอาจส่งผลร้ายอย่างไม่คาดคิด เอไอจึงไม่ต่างจากเครื่องมือดิจิทัลอื่น ๆ ที่เราต้องรู้จักสร้างสมดุลการใช้งาน เพื่อให้เรายังคงมีคุณค่าในตัวเองต่อไปโดยมีเอไอเป็นเครื่องอำนวยความสะดวกเท่านั้น