เลิกทาส (ทางเทคโนโลยี)

เลิกทาส (ทางเทคโนโลยี)

แม้จะมีข้อดีมากมายแต่ก็ต้องยอมรับว่าผลกระทบเชิงลบจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลก็มีอยู่ไม่น้อย ที่เห็นได้ชัดก็เช่นการเป็นช่องทางให้มิจฉาชีพหลอกลวงเงินแบบออนไลน์จนก่อให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง

รวมถึงที่ได้เปิดประเด็นไว้ฉบับที่แล้วนั่นคือ “การตกเป็นทาสของเทคโนโลยี” โดยไม่รู้ตัวเพราะใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่บนโลกออนไลน์มากเกินไปจนกระทบต่อการใช้ชีวิตในโลกความเป็นจริง

ปัญหาดังกล่าวเริ่มส่งผลรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ และไม่ได้เกิดขึ้นกับเฉพาะคนรุ่นใหม่ แต่คนทุกวัยที่ได้ลองใช้โซเชียลมีเดียจะเริ่มเสพติดจนใช้เวลากับมันมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะกลไกในการออกแบบแพลตฟอร์มเหล่านี้ล้วนเน้นให้ผู้ใช้เสพติดและใช้เวลาอยู่ในระบบมากขึ้นตลอดเวลา

ยิ่งเป็นกลุ่มเด็กเล็กก็ยิ่งเห็นผลได้ชัดเจนมากขึ้น เพราะการให้เด็กใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ก่อนวัยอันควรจะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็กได้ เราจึงได้เห็นข่าวเจ้าของบริษัทเทคโนโลยีชื่อดังล้วนห้ามไม่ให้ลูกๆ ใช้สื่อดิจิทัลเหล่านี้จนกว่าจะถึงช่วงวัยที่เหมาะสม

เช่นเดียวกับโรงเรียนชั้นนำหลายๆ แห่งทั่วโลกที่มักจะเข้มงวดต่อการใช้สมาร์ตโฟนในห้องเรียน เพราะไม่ต้องการให้โซเชียลมีเดียขัดจังหวะในการเรียนการสอน หรือทำให้นักเรียนเสียสมาธิ เพราะรู้ดีว่าแต่ละแพลตฟอร์มล้วนออกแบบให้ผู้ใช้ต้องอยู่ในระบบมากขึ้นๆ ทุกวัน

สำหรับคนทำงานแม้จะไม่มีใครคอยออกกฎระเบียบห้ามใช้ แต่ก็รู้กันดีว่าพนักงานที่เสพติดการใช้งานโซเชียลมีเดียมักไม่มีประสิทธิภาพในการทำงานเท่าที่ควร เพราะต้องเสียเวลาไปกับเรื่องไร้สาระ รวมถึงเน้นเสพสื่อบันเทิงต่างๆ ที่ไม่ได้ก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานแต่อย่างใด

นักธุรกิจระดับโลกหลายๆ คนเช่นลี กาชิง มหาเศรษฐีชาวฮ่องกงก็จำกัดการใช้งานเพียงวันละไม่เกิน 15 -30 นาทีเท่านั้น เพราะรู้ดีว่าทรัพยากรที่เขาจะเสียไปหากเสพติดการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากเกินไปก็คือ “เวลา” ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีค่าสูงสุด

ลีเป็นคนที่ตั้งนาฬิกาไว้เร็วกว่าความเป็นจริงประมาณ 10 นาที ทำให้เขาพร้อมกับการทำงานก่อนคนอื่น เพราะเขาเชื่อว่าเวลาที่แต่ละคนมีจำกัดเพียง 24 ชม. เท่ากัน หากจัดสรรได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้วย่อมทำให้มีโอกาสมากกว่าคนอื่นได้

การใช้สมาร์ตโฟนเป็นวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่ปฏิเสธไม่ได้ แต่หากใช้เกินความจำเป็นอาจนำไปสู่การเสพติด และใช้เวลามากกว่าที่ควรจะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะความอยากรู้อยากเห็นเป็นพฤติกรรมพื้นฐานของมนุษย์ เมื่อมีแพลตฟอร์มที่ทำให้เราติดตามเรื่องราวชีวิตคนอื่นได้ ก็ย่อมอยากรู้ อยากติดตามเป็นเรื่องปกติ

การใช้เวลากับแพลตฟอร์มเหล่านี้จึงกินเวลาหลายชั่วโมงต่อวัน และไม่ได้มีแค่แพลตฟอร์มเดียว บางคนอาจใช้ทั้งเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ ไลน์ ดิสคอร์ด ติ๊กต็อก ฯลฯ จนทำให้เราต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับมันไม่ต่างอะไรกับกับการตกเป็นทาสเทคโนโลยี

ไม่นับรวมอาการติดเกม ซึ่งทางองค์กรอนามัยโลกถือเป็นอาการป่วยชนิดหนึ่งที่ระบาดไปแล้วทั่วโลก ซึ่งบั่นทอนทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต ทำให้คุณภาพชีวิตของคนรุ่นใหม่ตกต่ำลงอย่างที่ไม่ควรจะเป็น โดยเกมคอมพิวเตอร์นั้นก็เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ออกแบบมาให้คนเสพติด และต้องใช้เวลากับมันเพิ่มขึ้นทีละน้อย ๆ โดยไม่รู้ตัว

การแก้ปัญหาที่ดีที่สุดต้องเริ่มจากครอบครัว ที่ต้องมีช่วงเวลาให้สมาชิกได้ปฏิสัมพันธ์กันต่อหน้า เพื่อสร้างความใกล้ชิดและทำให้ทุกคนเห็นคุณค่าของครอบครัว อย่าปล่อยให้แต่ละคนใช้ชีวิตกับคนอื่นผ่านโซเชียลมีเดียแม้จะกินข้าวอยู่กับญาติพี่น้องที่นั่งอยู่รอบตัว

สำหรับคนในครอบครัวที่ใช้เวลากับโซเชียลมีเดียมากจนถึงขั้นเสพติด ก็ต้องใช้การสื่อสารให้เข้าใจถึงข้อเสียและโอกาสที่หายไปจากชีวิต หลังจากนั้นก็ต้องหว่านล้อมให้เขาสมัครใจลดการใช้งานลงทีละน้อยๆ เช่นจากวันละ 3 ชม. เหลือ 2 ชม. แล้วค่อยๆ ปรับลดเป็น 1 ชม. และกลายเป็น 30 นาที 15 นาทีในที่สุด

คนที่บริหารเวลาได้ดีที่สุดก็ย่อมมีโอกาสในการประสบความสำเร็จสูงที่สุด การทางเวลาชีวิตคืนมาจากโซเชียลมีเดียจึงให้อะไรได้มากกว่าที่เราคิด