ปิดตำแหน่งหลัก ล็อกเป้า ลด ‘นายพล’ การเมืองซ้ำรอย พ่าย‘กองทัพ’

ปิดตำแหน่งหลัก ล็อกเป้า ลด ‘นายพล’ การเมืองซ้ำรอย พ่าย‘กองทัพ’

การปรับโครงสร้างกองทัพ ลดกำลังพล เป็นหนึ่งในนโยบายเฉพาะ 11 ด้าน ของรัฐบาล แต่ไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควรจากบรรดา “บิ๊กทหาร”

KEY

POINTS

  • สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีนโยบายปรับโครงสร้างกองทัพให้เหมาะสม กะทัดรัด ทันสมัย รองรับภารกิจสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป แต่ฝ่าแรงต่อต้านจากกองทัพ ที่มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผบ.ทบ.ขณะนั้นไม่ไหว
  • มาถึงยุครัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร การปรับโครงสร้างกองทัพ ลดนายพล ด้วยการปิดตำแหน่งหลัก ถูกพูดถึงอีกครั้ง ท่ามกลางท่าทีบิ๊กทหาร ที่เบือนหน้าหนี

  • เป้าหมายฝ่ายการเมือง นายพลในกองทัพไม่ควรเกิน 800 นาย โดยเตรียมปิดตำแหน่งหลักเพิ่ม หวังลดนายพล 30-40 นาย เล็งปรับลด “รองเสนาธิการ” ทุกเหล่าทัพ 


ดูทรงแล้วน่าหนักใจแทน “ฝ่ายการเมือง” แม้การปรับโครงสร้างกองทัพ ลดกำลังพล เป็นหนึ่งในนโยบายเฉพาะ 11 ด้าน ของ “สหายใหญ่” ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.กลาโหม 

แต่ไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควรจากบรรดา “บิ๊กทหาร” ซึ่งล้วนมีส่วนสำคัญต้องขับเคลื่อนผลักดันแผนงานตามนโยบายรัฐบาลที่ได้วางไว้

วัดได้จากหนังสือตอบกลับจาก พล.อ.พุฒิประสิทธิ์ จิระมะกร เจ้ากรมเสมียนตรา กลาโหม ส่งถึงประธานกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร อ้างข้อมูลชั้นความลับ “ลับมาก” ไม่เปิดเผยจำนวนยอดนายพลแต่ละเหล่าทัพ เกรงกระทบต่อความมั่นคง

พร้อมยกระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับทางราชการ พ.ศ.2544 มาเป็นเกราะกำบัง ที่กำหนดให้หน่วยต้องรักษาข้อมูลข่าวลับให้ปลอดภัย โดยข้อมูลข่าว“ลับมาก”หากเปิดเผยทั้งหมดหรือบางส่วน จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประโยชน์ของรัฐร้ายแรง

ดังนั้นขอยกคำพูด “บิ๊กเล็ก” พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รมช.กลาโหม เคยบรรยายพิเศษโรงเรียนเสนาธิการทหารบก เรื่องการชี้แจงข้อมูลกับ กมธ. ในตอนหนึ่งระบุว่า

“การชี้แจง กมธ.อย่าเอาแต่อ้างเป็นข้อมูลความมั่นคง เป็นข้อมูลลับ บางอย่างชี้แจงได้ ขอให้ลดภาระ เพราะมีผลสะท้อนมาถึงตัวผู้บังคับบัญชา และรัฐมนตรี ในยุคนี้ต้องตรวจสอบได้ ต้องใช้ฝีมือ อย่าใช้เครื่องแบบยันว่าเป็นความลับ เป็นข้อมูลความมั่นคง เช่น อย่ามาตรวจสนามกอล์ฟ เพราะเป็นเรื่องความมั่นคง อ้างแบบนี้ก็เรียบร้อย”

ต้องยอมรับว่ากำลังพลในกระทรวงกลาโหม มีประมาณ 300,000 นาย มีสัดส่วนทหารทำหน้าที่จริงไม่เท่าไหร่ ที่เหลือใช้บริการ

การลดจำนวนนายพลทำมาหลายปีแล้ว โดยกำหนดให้แต่เหล่าทัพลดสัดส่วนทหารชั้นนายพลในตำแหน่งประจำ เช่น ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ปรึกษา รวมถึง ทหารปฏิบัติการ 

แต่ในอดีตบิ๊กทหาร ใช้วิธีการศรีธนญชัย ปิดตำแหน่งประจำ แต่กลับเพิ่มตำแหน่งหลัก ทำให้ตัวเลขลดจำนวนนายพลไปไม่ถึงไหนเสียที

เมื่อโดนการเมืองรุกหนัก ถูกกระแสสังคมกดดัน จึงเริ่มกางแผน โชว์ตัวเลขปิดตำแหน่ง ยุบรวมหน่วยงาน องค์กรมีภารกิจเหมือนกัน แต่ภาพนายพลล้นกองทัพ ก็ยังปรากฎอยู่ในปัจจุบัน

หากยึดข้อมูล สุทิน คลังแสง อดีต รมว.กลาโหม เคยแถลงต่อสภาผู้แทนราษฎร ในวาระงบประมาณ 2568 วาระที่ 1 จำนวนนายพล มีประมาณ 1,398 นาย อยู่ตำแหน่งหลัก 965 นาย ตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิ 433 นาย (ข้อมูล ณ วันที่ 4 เม.ย.2567) ส่วนตัวเลขล่าสุด คงไม่คลาดเคลื่อนไปจากจำนวนนี้มากนัก

 เป้าหมายฝ่ายการเมืองต่อการลดจำนวนนายพลในกองทัพเฉพาะตำแหน่งประจำ ดูจะไม่เพียงพอ พร้อมกำหนดตัวเลขที่เหมาะสม คือ

นายพลในกองทัพ มีได้เต็มที่ ไม่ควรเกิน 800 นาย พร้อมปูแผนตรียมปิดตำแหน่งหลักเพิ่มเติมหลายตำแหน่ง หวังลดนายพลได้อีกประมาณ 30-40 นาย โดยหนึ่งในนั้น ฝ่ายการเมืองเล็งตำแหน่ง “รองเสนาธิการ” ทุกเหล่าทัพ หวังปรับลดจำนวนลง

เนื่องจากเดิมที ตำแหน่งรองเสธ. 3 เหล่าทัพ มีเพียง 2 ตำแหน่ง แต่ขยายอัตราเป็นเหล่าทัพละ 5 ตำแหน่ง ส่วนกองทัพไทย มี 4 ตำแหน่ง

นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตว่า กองทัพน้อยใน 4 กองทัพภาค “กองทัพบก” มีแผนยุบทิ้งมากว่า 20 ปีแล้ว เพราะมีโครงสร้างคล้ายคลึงกับกองทัพภาค เช่น กองทัพภาคที่ 1 มี แม่ทัพภาคที่ 1(พลโท) รองแม่ทัพภาคที่ 1 จำนวน 3 คน(พลตรี) และเสนาธิการกองทัพภาคที่ 1 (พลตรี)

กองทัพน้อยที่ 1 ประกอบด้วย แม่ทัพน้อยที่ 1 (พลโท) รองแม่ทัพน้อยที่ 1 (พลตรี) เสนาธิการกองทัพน้อยที่ 1 (พลตรี) เช่นเดียวกับกองทัพน้อยที่ 2 กองทัพน้อยที่ 3 และกองทัพน้อยที่ 4

หากย้อนไปยุค พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต เป็น รมว.กลาโหม สมัยรัฐบาล“ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” มีนโยบายปรับโครงสร้างกองทัพให้เหมาะสม กะทัดรัด ทันสมัย รองรับภารกิจสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

พล.อ.อ.สุกำพล มีแนวคิดยุบ กองทัพน้อยที่ 1 กองทัพน้อยที่ 2 กองทัพน้อยที่ 3 ด้วยข้อสังเกต ตำแหน่ง “แม่ทัพน้อย” มีอำนาจสั่งการเทียบเท่าแม่ทัพภาค หรือว่ารองแม่ทัพ และมองว่าไม่จำเป็นในปัจจุบัน ควรปิดอัตรา ลดจำนวนนายพล

ทว่า พล.อ.อ.สุกำพล ฝ่าแรงต่อต้านจากกองทัพ ที่มี “บิ๊กตู่”พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผบ.ทบ.ขณะนั้นไม่ไหว 

นอกจากไม่สามารถยุบกองทัพน้อยที่ 1 กองทัพน้อยที่ 2 กองทัพน้อยที่ 3 ได้แล้ว ยังก่อกำเนิด กองทัพน้อยที่ 4 เพิ่มเติมขึ้นมาอีก ด้วยข้ออ้างช่วยคุมไฟใต้ ซ้ำซ้อนกับกองพลทหารราบที่ 15 รักษาพระองค์ หรือ พล.ร.15 เพิ่งก่อตั้งเสร็จไปหมาดๆ

มาถึงยุคแพทองธาร ชินวัตร การปรับโครงสร้างกองทัพ ลดนายพล ด้วยการปิดตำแหน่งหลัก ถูกพูดถึงอีกครั้ง ท่ามกลางท่าทีบิ๊กทหาร ที่เบือนหน้าหนี

ปัญหาที่ทุกคนรับรู้กันว่า ทุกครั้งที่มีการยุบรวมหน่วย ลดกำลังพล จะเกิดปัญหา เพราะตำแหน่งหายไป เป็นใครก็คงไม่ยอม