เอฟเฟ็กต์ตัดไฟ'เมืองบาป' ‘ไทย’เผชิญอาฟเตอร์ช็อก

"หน่วยงานความมั่นคง" เตรียมพร้อมรับแรงกระแทกจากมาตรการรัฐบาลไทย ซึ่งกำลังเกิดขึ้นในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า และยังประเมินไม่ได้ว่าความรุนแรงจะอยู่ในระดับใด
KEY
POINTS
- กองกำลังป้องกันชายแดน เตรียมพื้นที่รองรับผู้อพยพ ที่เดือดร้อน จากมาตรการ ของรัฐบาลไทย
- ผู้ป่วยจากเมียนมา ทะลักมาโรงพยาบาลไทยตามแนวชายแดน จนรับมือไม่ไหว
- หน่วยงานความมั่นคง กังวลการประท้วง ของผู้ประกอบการ ที่ได้รับผลกระทบ ต่อมาตรการดังกล่าวเพื่อกดดันรัฐบาลไทย
- หากมีการปิดด่าน จะกระทบ เศรษฐกิจการค้าตามแนวชายแดน อย่างประเมินค่าไม่ได้
พลันที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) มีมติตัดไฟฟ้า ตัดอินเทอร์เน็ต และตัดน้ำมัน 5 จุด ชายแดนไทย-เมียนมา ครอบคลุมพื้นที่รับผิดชอบ 3 กองกำลังป้องกันชายแดน มีผลไปแล้วเวลา 09.00 น.วันที่ 5 ก.พ.2568
หลังพบข้อมูลพื้นที่ 5 จุด ซื้อขายไฟฟ้าชายแดนไทย-เมียนมา มีการส่งต่อไปยังแหล่งศูนย์รวมอาชญากรรมข้ามชาติ ทั้งแก๊งคอลเซนเตอร์ พนันออนไลน์ ขบวนการค้ามนุษย์
ประกอบด้วย จุดซื้อขายไฟฟ้าบ้านเจดีย์สามองค์ เมืองพญาตองชู รัฐมอญ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี อยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบ “กองกำลังสุรสีห์ ”
จุดซื้อขายไฟฟ้าบริเวณบ้านเหมืองแดง-เมืองท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน ตรงข้าม อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย อยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบ “กองกำลังผาเมือง”
ส่วนอีก 3 จุด จ.ตาก อยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของ “กองกำลังนเรศวร” คือ จุดซื้อขายไฟฟ้าบริเวณสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา- เมืองท่าขี้เหล็กรัฐฉาน
จุดซื้อขายไฟฟ้าบริเวณสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 -อ.เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และจุดซื้อขายไฟฟ้าบริเวณบ้านห้วยม่วง-อ.เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง
โดยปัจจุบันรัฐบาลเมียนมาสามารถควบคุมพื้นที่ในประเทศได้เพียง 40% ส่วนอีก 60% เป็นเขตอิทธิพลของชนกลุ่มน้อย หากจำแนกผู้ได้รับผลกระทบ จะพบว่ามี 3 กลุ่ม คือ ส่วนราชการรัฐบาลเมียนมา ประชาชนทั่วไป และกองกำลังติดอาวุธ
พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.)สั่งการให้วิทยุแจ้งไปยังกองกำลังสุรสีห์ กองกำลังผาเมือง กองกำลังนเรศวร เตรียมแผนรับมือผลกระทบเร่งด่วน ที่อาจเกิดขึ้นในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้านี้ และมีแนวโน้มรุนแรง ได้แก่
การทะลักของผู้อพยพที่ได้รับความเดือดร้อนจากมาตรการดังกล่าว ตลอดแนวชายแดนไทย-เมียนมา ตามช่องทางธรรมชาติ ที่จะมาพร้อมกับโรคระบาด สิ่งผิดกฎหมายอื่น
การหลั่งไหลของผู้ป่วยในโรงพยาบาล ศูนย์พักพิงของเมียนมา เพราะเดิมทีผู้ป่วยหนักถูกส่งตัวมารักษาโรงพยาบาลไทยอยู่แล้ว แต่หลังจากนี้ คาดว่าผู้ป่วยหนัก และไม่หนักจะเข้ามาฝั่งไทยเป็นจำนวนมาก จนไม่สามารถรองรับได้
การปิดด่านชายแดนไทย-เมียนมาทั้งหมด เนื่องจากไม่มีไฟฟ้าใช้ ยังส่งผลกระทบต่อการค้าขาย เศรษฐกิจ โดยตัวเลขยังประเมินความเสียหายไม่ได้ ขึ้นอยู่กับระยะเวลาบังคับใช้มาตรการดังกล่าว จนกว่าจะหาทางออกร่วมกัน
การเคลื่อนไหวของผู้ประกอบการฝั่งเมียนมา ผ่านทางผู้ประกอบการฝั่งไทย ประท้วงกดดันรัฐบาลไทยให้ผ่อนปรนมาตรการไปสู่การยกระดับ หากไม่ได้รับการตอบสนอง
การเรียกร้องของกลุ่มเอ็นจีโอ องค์กร นักสิทธิมนุษยชน ให้รัฐบาลไทยหาทางออก ช่วยเหลือประชาชนฝั่งเมียนมาที่ได้รับผลกระทบ จนทำให้โรงพยาบาล โรงเรียน ไม่ได้สามารถดำเนินการได้
กระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทุกระดับ ทั้งรัฐบาลเมียนมากับรัฐบาลไทย ระดับกองทัพ ตลอดจนถึงความสัมพันธ์ในระดับพื้นที่ระหว่างทหารไทย ทหารเมียนมา และชนกลุ่มน้อย
สำหรับพื้นที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด คือ ชายแดนไทย-เมียนมาติดกับ จ.ตาก โดย “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม เตรียมลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ 6 ก.พ.นี้ ส่วนสัปดาห์หน้าเป็นคิว “ผบ.ทบ.”เพื่อเน้นย้ำผู้ปฏิบัติงาน
พล.ท.กิตติพงษ์ แจ่มสุวรรณ แม่ทัพภาคที่ 3 ระบุว่า การดูแลชายแดน เพื่อรองรับมาตรการ ตัดไฟฟ้า ตัดอินเทอร์เน็ต และน้ำมัน ในพื้นที่ของกองทัพภาคที่ 3 ทำงานร่วมกับส่วนราชการ ผู้ว่าราชการจังหวัด ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ในพื้นที่ ยึดตามมาตรการ ซีลชายแดนสกัดยาเสพติด
สำหรับปัญหาผู้อพยพที่จะเข้ามาฝั่งไทย รวมถึงผู้ป่วย และปัญหาโรคระบาด ที่จะตามมานั้น ทางจังหวัดตาก และจังหวัดเชียงราย ได้เตรียมพื้นที่รองรับผู้อพยพไว้แล้ว ซึ่งเป็นพื้นที่เดิม ที่เคยรองรับผู้อพยพจากการสู้รบตามแนวชายแดน เพื่อเป็นการช่วยเหลือตามหลัก มนุษยธรรม
โดยคาดว่า สถานการณ์ผู้อพยพไม่น่าจะรุนแรงเหมือนครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากทางฝั่งเมียนมาก็ทราบล่วงหน้า ว่ารัฐบาลไทยจะมีมาตรการดังกล่าว จึงได้เตรียมการเอาไว้แล้วส่วนหนึ่ง เช่น การสำรองน้ำมัน แต่ก็ยอมรับว่าเป็นการยืดเวลาได้ไม่นาน
ปัจจุบันกองทัพภาคที่ 3 ดูแลพื้นที่ 2 กองกำลัง คือ กองกำลังผาเมือง และกองกำลังนเรศวร ต้องปฏิบัติตามนโยบายของนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายก และรมว.กลาโหม
“ส่วนการปิดด่าน ยอมรับว่ามีความเป็นไปได้ เพราะไม่มีไฟฟ้าใช้ ส่วนฝั่งของไทยไม่ได้ปิด แต่เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจค้นยุทธปัจจัยที่จะไปสนับสนุนแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เช่น ไฟฟ้า อุปกรณ์ด้านไอที สัญญาณอินเทอร์เน็ต น้ำมันนำไปปั่นไฟ” มทภ.3 ระบุ
ถึงแม้การตัดบริการสาธารณูปโภค ทั้งไฟฟ้า อินเทอร์เน็ต น้ำมัน จะยังไม่รู้ว่ามาตรการดังกล่าว สามารถตัดวงจรอาชญากรรมข้ามชาติ ต้นตอแก๊งคอลเซนเตอร์ พนันออนไลน์ การค้ามนุษย์ ให้หายไปจากชายแดนไทย-เมียนมา ได้อย่างถาวรหรือไม่
ทว่าเอฟเฟ็กต์ต่อชายแดนไทยย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงเตรียมพร้อมรับแรงกระแทก ที่กำลังเกิดขึ้นในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า ซึ่งยังประเมินไม่ได้ว่าความรุนแรงจะอยู่ในระดับใด