พิธา-ก้าวไกล ปรับแนวรบ 'ผู้นำฝ่ายค้าน-สู้นอกสภาฯ'

พิธา-ก้าวไกล ปรับแนวรบ 'ผู้นำฝ่ายค้าน-สู้นอกสภาฯ'

น่าจับตามอง การเมืองนับแต่นี้ จะเริ่มเข้ารูปเข้ารอยมากขึ้น หลังการลาออกจากหัวหน้าพรรคก้าวไกลของ นายพิ ธา ลิ้มเจริญรัตน์ เพื่อเปิดทางให้มีการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ มาเป็น “ผู้นำฝ่ายค้าน” ในสภาฯ เนื่องจาก “พิธา” ถูกศาลรัฐธรรมนูญ สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. กรณีศาลฯรับปมถือครองหุ้นสื่อ(ไอทีวี) ไว้วินิจฉัย ทำให้ “พิธา” ไม่สามารถเป็นผู้นำฝ่ายค้านได้

นั่นหมายถึง เกมที่ก่อนหน้านี้ยื้อกันอยู่ว่า พรรคก้าวไกลจะยอมรับตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านหรือไม่ เพราะถ้าจะรับตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน ก็จะต้องให้คนของพรรคที่เป็นรองประธานสภาฯคนที่ 1 ลาออก คือต้องเลือกเอาตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งเท่านั้น

และก่อนหน้านี้ “หมออ๋อง” นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก ในฐานะรองประธานสภาฯคนที่ 1 ก็ยืนยันมาตลอดว่าจะไม่ยอมลาออก ซึ่งอาจเนื่องมาจากพรรคก้าวไกล ยังคิดไม่ตกว่าจะหาทางออกเรื่องนี้อย่างไร จนมีกระแสข่าวว่า พรรคก้าวไกลจะไม่รับตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน และมีข่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ จะได้ตำแหน่งนี้แทน

กระทั่ง นายพิธา ตัดสินใจลาออกจากหัวหน้าพรรค จึงมีกระแสข่าวตามมาว่า “หมออ๋อง” กำลังรอว่า จะให้ถูกขับออกจากพรรค ซึ่ง “หมออ๋อง” จะต้องหาพรรคใหม่สังกัดเพื่อไม่ให้สิ้นสภาพส.ส. และตำแหน่งรองประธานสภาฯคนที่ 1

เรื่องนี้ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนามหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เอาไว้อย่างน่าสนใจ (15 ก.ย.66)

ระบุว่า “นายพิธาลาออกจากหัวหน้าพรรค ทำให้กรรมการบริหารต้องพ้นตำแหน่งทั้งชุด และต้องนัดประชุมเลือกใหม่ภายใน 60 วัน แต่กรรมการบริหารพรรคยังต้องรักษาการ หากที่ประชุมร่วม ส.ส. กับกรรมการบริหารพรรค ลงมติไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ลงมติขับ หมออ๋อง ออกจากพรรค เนื่องจากขัดมติที่ขอให้ลาออกจากรองประธานสภาฯ หมออ๋อง หาพรรคใหม่ ใน 30 วัน เช่น ไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคเป็นธรรม ทำให้ยังคงมีสมาชิกภาพเป็น ส.ส. และ คงตำแหน่งรองประธานสภาได้"

“สมชัย” ระบุต่อว่า “ก้าวไกล เลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภา สรุปได้ทั้ง รองประธานสภา และ ผู้นำฝ่ายค้านในสภา จำนวน ส.ส. ฝ่ายค้านเท่าเดิม พรรคเป็นธรรม มี ส.ส.เพิ่มขึ้นอีกคน”

พร้อมทิ้งท้ายว่า “ใครวางแผนให้เนอะ มือยิ่งกว่าชั้นเซียนเหยียบเมฆ”

การโพสต์เช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นการ “ชี้โพลงให้กระรอก” ของ “สมชัย” หรือ ไปรับรู้ “เกม” ของพรรคก้าวไกลและฝ่ายค้านมาปูด แต่ก็ถือว่า สอดคล้องกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นอยู่พอสมควร และถ้าทุกอย่างจบลงทำนองนี้ พรรคก้าวไกล และฝ่ายค้าน น่าจะพอใจกันทุกฝ่าย

แล้วเมื่อ ฝ่ายค้านได้ “ผู้นำ” เสียที ต่อจากนี้ การทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานรัฐบาลและทำหน้าที่เสนอกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ก็จะเห็นการทำงานที่เป็นกระบวนการ มีผู้นำมากขึ้น อย่างน้อยก็เห็นคนที่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชน แม้ในฐานะฝ่ายค้าน

รวมทั้งด้วยจำนวนที่นั่งส.ส.ของพรรคก้าวไกล ที่มีถึง 151 ที่นั่ง จึงแทบพูดได้ว่า เป็นหน้าตาของฝ่ายค้านเลยทีเดียว

ขณะเดียวกัน เมื่อพูดถึงความเป็นฝ่ายค้านของพรรคก้าวไกล ยังมีเรื่องให้พูดถึงอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะจะตรวจสอบรัฐบาลได้ดีแค่ไหน และการสร้างกระแสนิยมที่มากขึ้น จะทำได้หรือไม่ ด้วยปัจจัยอะไรบ้าง เป็นประเด็นที่น่าจับตามองอยู่เหมือนกัน

เอาแค่ยกแรก การอภิปรายของฝ่ายค้าน ต่อการแถลงนโยบาย ของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ดูเหมือนยังมีจุดอ่อนให้ “ครูใหญ่ก้าวไกล” ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า มองเห็นหลายเรื่อง     

ทั้งนี้ “ปิยบุตร” โพสต์ข้อความผ่านเฟซบู๊ก Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล (13 ก.ย.66) ประเด็น ตรวจการบ้านพรรคก้าวไกลในการอภิปรายการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี ระบุว่า 

- 3 ข้อชม 

1. การแบ่งธีมประเด็นการอภิปรายเป็นหมวดหมู่ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่ทำกันมาตั้งแต่สมัยที่แล้ว 

2. การสร้าง ส.ส.ให้เป็นตัวแทนของแต่ละประเด็น ในอนาคตคงจะเห็น ส.ส.อีกหลายคนขึ้นมาเติมในแต่ละประเด็นอีก 

3. การเตรียมเนื้อหาและการจัดทำข้อเสนอต่อรัฐบาลอย่างเป็นระบบ

- 2 ข้อติ 

1. รอบนี้ ติดใช้สำนวนโวหาร ตอด แซะ มากจนเกินไป การประดิษฐ์โวหารเพื่อดึงความน่าสนใจต้องมีอยู่บ้าง แต่ไม่ควรยึดเป็นเรื่องนำจนมากลบเนื้อหาหมด ต้องคิดจากเนื้อหาก่อน อย่าไปหลงคิดแต่ว่า ต้องมีคำโวหารอะไรที่ฟาดที่ปังที่สื่อจะเอาไปพาดหัวขยายผล

2. อ่านบทอภิปรายที่เตรียมมามากจนเกินไป จนไม่เป็นธรรมชาติ มี ส.ส.ประมาณ 3 คนเท่านั้น ที่อภิปรายไหลลื่นโดยไม่ต้องจดจ่ออยู่กับกระดาษหรือคอมพิวเตอร์

ส่วน ส.ส.ที่อภิปรายได้ดี ถ้าจัดได้ 5 คน โดยตัด 3 ส.ส.มืออภิปรายประจำของพรรคออกไปก่อน คือ ศิริกัญญา ตันสกุล รังสิมันต์ โรม และวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ก็ได้แก่พริษฐ์ วัชรสินธุ ชัยธวัช ตุลาธน ภัทรพงศ์ ลีลาภัทร ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ และศศินันท์ธรรมนิธินันท์

“ปิยบุตร” โพสต์ด้วยว่า รอติดตามการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ต่อไป คาดว่าจะมี ส.ส.หน้าใหม่แจ้งเกิดได้อีก

“อยากฝาก ส.ส.ก้าวไกล ให้ลดเลิกความคิด ต้องหามุขหาคำให้ฟาดให้ปัง ลงไปบ้างถ้าเนื้อหาดีเสียอย่าง อย่างไรก็ปังโดยตัวมันเอง แล้วก็พยายามลดเลิกการอ่านโพย ถ้าเราอินกับประเด็นนั้นๆ ทำความเข้าใจมาอย่างดี ตระเตรียมมาเอง อย่างไรก็พูดได้จำได้” ปิยบุตร ย้ำ

เมื่อมีคนอย่าง “ปิยบุตร” คอยให้คำแนะนำ และตรวจสอบอยู่อย่างนี้ เชื่อว่าพรรคก้าวไกลจะพัฒนาตัวเองได้อีกมาก

ขณะ “พิธา” กล่าวถึงเหตุผลที่ลาออกจากหัวหน้าพรรคก้าวไกล ว่า การเห็นส่วนรวมมากกว่าส่วนตัวคือสำนึกของนักการเมือง ซึ่งในบริบทการเมืองปัจจุบัน ฝ่ายค้านต้องทำงานอย่างมีประสิทธิภาพทั้งในเชิง มหภาค และจุลภาค ซึ่งมหภาคฝ่ายค้านต้องเป็นเรือหลักในการกำหนดทิศทางการอภิปรายสำคัญฯ ทั้งเรื่องงบประมาณ อภิปรายแนะรัฐบาล และอภิปรายไม่ไว้วางใจ ส่วนเรื่องจุลภาค คือการแต่งตั้งวิปฝ่ายค้าน

ทั้งนี้ ไม่ต้องห่วงตน ขอให้ห่วงประชาชนห่วงบ้านเมืองจะดีกว่า สำหรับเรื่องส่วนตัวนั้นตนยังยืนยันคำเดิมว่าไม่ยึดติดกับหัวโขนหรือตำแหน่ง ซึ่งปัจจุบันตนสามารถทำงานได้ถึงแม้จะไม่ได้มีตำแหน่งอะไรเลย

“ตนยังยืนยันว่า จิตใจยังเต็มร้อย และยังเดินหน้าทำงานในช่วงที่รอคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ในช่วงนี้อาจจะเจอตนมากกว่าเดิม และจะเดินหน้าเขย่าการเมืองไทย เขย่าปัญหาของประชาชน ผ่านตะแกรงร่อนเพื่อส่งต่อให้กับส.ส.พรรคก้าวไกล และฝ่ายค้านที่ยังอยู่ในสภาฯ รวมถึงเตรียมเดินทางไปทั่วประเทศ และต่างประเทศ”

นอกจากนี้ “พิธา” สรุปคำนิยามของการเมืองไทยรอบนี้ ว่า เป็นการเมืองของคน 1% กับการเมืองของคน 99% และพรรคก้าวไกลพร้อมที่จะรับรองคน 99% เพื่อต่อสู้กับคน 1%

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” เคยให้สัมภาษณ์สื่อบางสำนัก ถึงสถานการณ์รัฐบาลเศรษฐา ที่จะใช้การแก้ปัญหา “เศรษฐกิจ” สู้กับพรรคก้าวไกล ว่า

สื่อสารมวลชนและในโลกออนไลน์เยอะมาก โดยเฉพาะดิจิทัลฟุตพรินต์ จึงค่อนข้างมั่นใจว่าคนไทยไม่ได้ลืม ตั้งรัฐบาลข้ามขั้วง่ายๆ เพียงแต่จะแสดงออกตอนไหนเท่านั้นเอง

ส่วนผลงานเศรษฐกิจจะช่วยได้ไหม…อาจจะช่วยได้ แต่เราไม่มีความแน่นอนชัดเจน ว่าท้ายที่สุดโหวตเตอร์ในยุคปัจจุบันตัดสินใจการเลือกตั้งผ่านเรื่องปากท้องอย่างเดียวหรือเปล่า

“ส่วนรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ผมเห็นต่างจากหลายๆ คน ที่วิเคราะห์ว่า อยู่ไม่ยาว ผมกลับมองว่า รัฐบาลชุดนี้เผลอ ๆ อยู่ยาวครบ 4 ปี จะเปลี่ยนนายกฯ หรือเปล่าไม่รู้ แต่องค์ประกอบแบบนี้ไปด้วยกันเรื่อย ๆ แน่”

“ปิยบุตร” กล่าวว่า ต่อให้เขาทะเลาะเบาะแว้งกัน แย่งตำแหน่งนั้นตำแหน่งนี้ แต่ท้ายที่สุดก็กลับมาเคลียร์กันได้ เพราะหันซ้ายหันขวา หันหลังไป พรรคก้าวไกลรอเลือกตั้งอยู่ ดังนั้น ทุกคนก็จะบอกว่า อย่าเลย จำไม่ได้หรือว่ากว่าเราจะตั้งรัฐบาลแบบนี้ได้ปวดหัวขนาดไหน ดังนั้น เรื่องไหนขัดแย้งกัน ยอม ๆ กันสลับกันไป

ขณะเดียวกัน พรรคร่วมจะใช้ตรงนี้กดดันพรรคเพื่อไทยว่าจะเอาเหรอ ซึ่งพรรคเพื่อไทยก็จำเป็นต้องแลกอะไรหลาย ๆ อย่าง เพื่อให้รัฐบาลชุดนี้ไปต่อได้ตลอดรอดฝั่ง

ภาพที่เจ้าสัวไปพบนายกฯ ภาพพรรคการเมืองทะเลาะเบาะแว้งกันมา กลับมารวมกันได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ชนชั้นนำกำลังสร้างฉันทามติไม่อนุญาตให้พรรคก้าวไกลมีอำนาจบริหารแม้แต่วินาทีเดียว เมื่อเขาผนึกกำลังกัน เขาไม่ยอมให้รัฐบาลแบบนี้ล้มลงไปได้ง่าย ๆ

แต่พรรคก้าวไกลต้องมองวิกฤตให้เป็นโอกาส มีเวลาสร้างพรรคให้เข้มแข็งขึ้นใน 4 ปีมีเวลาสรรหาคนใหม่ ๆ ตระเตรียมคนที่เป็นรัฐมนตรีในครั้งหน้า มีเวลาทำงานในสภาสร้างพรรคให้เป็นพรรคของมวลชนให้มากกว่าเดิม ทำให้พรรคมีความเป็นประชาธิปไตยเพิ่มขึ้น ไม่ใช่กลุ่มก้อนไม่กี่คนเป็นคนตัดสินใจ...

ทั้งหมดสะท้อนให้เห็นว่า “กุนซือ” ที่อยู่เบื้องหลัง พรรคก้าวไกล อาจเห็นแล้วว่า การปล่อยให้สถานการณ์ของพรรคไม่ชัดเจน เรื่อง “ผู้นำฝ่ายค้าน” กับ ตำแหน่ง “รองประธานสภา” จะเลือกอะไร ไม่เป็นผลดีทั้งกับพรรค และฝ่ายค้านด้วยกัน ดังนั้นจำเป็นต้องทำความชัดเจนให้เกิดขึ้น

ส่วนจะเดินเกม เพื่อรักษาเอาไว้ทั้งสองตำแหน่ง อย่างที่มีคนชี้โพลงให้กระรอกเอาไว้แล้วหรือไม่ ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

ประเด็นต่อมา กรณี “พิธา” ประกาศ เดินหน้าเขย่าการเมืองไทย เขย่าปัญหาของประชาชน ผ่านตะแกรงร่อนเพื่อส่งต่อให้กับส.ส.พรรคก้าวไกล และฝ่ายค้าน ที่ยังอยู่ในสภาฯ รวมถึงการตระเวนทั่วประเทศ และต่างประเทศนั้น

ทำให้น่าจับตามอง บุคลิกความเป็น “ดาราทางการเมือง”ของ “พิธา” ที่ไปไหน ก็สร้างความฮือฮา ความเป็นคนมีไหวพริบในการสื่อสาร ตอบโต้ และสามารถประดิษฐ์ ปั้นแต่ง “วาทกรรม” ทิ่มแทงทางการเมืองได้ดี นี่คือ จุดเด่น ที่มีส่วนทำให้ “พิธา” และ “ก้าวไกล” มาถึงจุดที่น่าเหลือเชื่อ  

และ ที่ไม่อาจมองข้าม ก็คือ นิยามการเมือง ที่ “พิธา” เห็นว่า เป็นการต่อสู้ระหว่าง คน99% กับ คน 1%  และพรรคก้าวไกล ก็อยู่ฝ่าย 99 % เท่ากับเป็นตอกย้ำให้เห็นว่า ใครที่อยู่ฝ่ายประชาชนส่วนใหญ่ ทำเพื่อประชาชนส่วนใหญ่ ใครที่อยู่ฝ่ายคนไม่กี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอาจหมายถึง ชนชั้นนำ นายทุน ขุนศึก ผู้มีอำนาจผูกขาด ที่เป็นคนส่วนน้อยนั่นเอง

จับตาให้ดี งานนี้รัฐบาลติดลบ(ความน่าเชื่อถือ) ที่จะทำพังทำพลาดไม่ได้ สู้กับ ฝ่ายค้านที่มีต้นทุน(กระแส) 4 ปีข้างหน้า หรือ เวลาอันใกล้นี้ ก็ไม่แน่ จะได้เห็นกัน