“อุ๊งอิ๊ง” เปรียบ “กล้วยบ่มแก๊ส” เร็วไปกับ “แคนดิเดตนายกฯ”?

“อุ๊งอิ๊ง” เปรียบ “กล้วยบ่มแก๊ส”  เร็วไปกับ “แคนดิเดตนายกฯ”?

ต้องยอมรับว่า ความ “สุกงอม” ทางการเมือง ของ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เปรียบไปก็ไม่ต่างกับ “กล้วยบ่มแก๊ส” หรือ “มะม่วงบ่มแก๊ส” ที่ ทักษิณ ชินวัตร ผู้เป็นบิดา อาศัย “บารมี” ที่มีต่อพรรคเพื่อไทย ปลุกปั้นขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ในฐานะหัวหน้าครอบครัวพรรคเพื่อไทย เพื่อให้ทันการณ์ กับการเป็น “แคนดิเดต” นายกรัฐมนตรี และนำ “ทักษิณ” กลับไทย

ดังนั้น แม้ภายนอกของ “กล้วย” หรือ “มะม่วง” บ่มแก๊ส จะดู “สุกเหลือง” สวยงาม น่ารับประทาน แต่เมื่อได้ลองลิ้มชิมรสดูแล้ว อาจต้องร้อง “ยี้” เพราะ กล้วย หรือ มะม่วงซึ่ง ยังแก่ไม่เต็มที่ รสชาติ อาจเปรี้ยว ไม่หวานหอมอย่างที่คิด  

ฉันใดก็ฉันนั้น นี่อาจเป็น “จุดอ่อน” ที่ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ถูกบดบังรัศมี เมื่อเจอกับคู่แข่งทางการเมืองที่มากประสบการณ์ และมีคุณสมบัติเพียบพร้อมใกล้เคียงกัน

ส่วน ความเป็น “ทายาท” ของ “ทักษิณ” อาจเป็นเรื่องของ “สายพันธุ์” ที่ “การันตี” ได้ในระดับหนึ่ง ว่า เป็นพันธุ์แท้ แต่ทุกคนก็รู้ว่า เป็น “กล้วย” หรือ “มะม่วง” ที่รีบเก็บมาบ่มแก๊ส? เมื่อเทียบกับหลายคนใน “ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี”

ความจริง ใช่ว่า “ทักษิณ” และพรรคเพื่อไทย จะไม่รู้ และไม่วิเคราะห์ “จุดอ่อน” ของ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ในฐานะ “แคนดิเดต” นายกรัฐมนตรี เห็นได้ชัดจากการแบ่งรับแบ่งสู้เมื่อถูกถามจะผลักดันให้เป็นแคนดิเดตนายกฯหรือไม่  

โดย อาศัยช่วงที่ยังไม่เข้าสู่ “โหมดเลือกตั้ง” อย่างเป็นทางการ สร้างกระแส โชว์ตัว โชว์วิสัยทัศน์ ชิมลางไปพลางๆก่อน ขณะเดียวกันก็ “กั๊ก” เอาไว้ว่า อาจมีคนที่เหมาะสมกว่าในการเสนอชื่อก็เป็นได้

ที่เป็นเช่นนั้น ก็เพราะไม่อยากให้ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ถูกด่วน “โจมตี” เรื่องนี้ จากคู่แข่งนั่นเอง?  

หรือแม้แต่ “คนรุ่นใหม่” ที่อยู่ในวัยสนใจการเมือง และมีวุฒิภาวะเพียงพอที่จะตัดสินใจทางการเมืองได้ดี ก็ยังมอง “อุ๊งอิ๊ง” เป็นตัวเลือกเกือบรั้งท้าย

อย่าง กรณีเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2565 รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต เผยผลวิจัยส่วนบุคคล หลังเก็บข้อมูลแบบสอบถามจากคน Gen Z (ช่วงอายุถึง 25 ปี) ที่ศึกษาปริญญาตรีในมหาวิทยาลัย ทั้งในกรุงเทพฯ และทุกภาคของประเทศ จำนวน 707 คนประเด็น “ใครคือบุคคลที่ท่านปรารถนาให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปมากที่สุด” ผลวิจัยพบว่า

อันดับที่ 1.นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้รับความนิยมเป็นอันดับที่ 1 ได้ 301 คะแนน (43.1%)

อันดับที่ 2 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้ 154 คะแนน (22.1%)

อันดับที่ 3 นายทักษิณ ชินวัตร ได้ 102 คะแนน (14.6%)

อันดับที่ 4 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้ 89 คะแนน (12.8%)

อันดับที่ 5 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ได้ 33 คะแนน (4.7%)

อันดับที่ 6 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ได้ 12 คะแนน (1.7%)

ทั้งนี้ งานวิจัยทัศนคติของคน Gen Z เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 7-16 กันยายน 2565 โดยเก็บจากมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ ภาคกลางที่ปทุมธานี นครปฐม ชลบุรี อยุธยา ภาคเหนือที่พิษณุโลก เชียงใหม่ พะเยา เชียงราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่สกลนคร ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ภาคใต้ที่นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี รวม 16 จังหวัด

จริงอยู่, ผลวิจัยดังกล่าว เห็นได้ชัดว่า มีการตัดสินใจตามกระแสพอสมควร เนื่องจาก “ชัชชาติ” ที่มาอันดับ 1 ถือว่า ยังคงกระแสร้อนแรงในหมู่คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ มาตั้งแต่เมื่อครั้งเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ที่ได้คะแนนอย่างท่วมท้นถล่มทลาย ถึง 1.3 ล้านคะแนนแล้ว และแม้ว่า จะไม่แต่เฉพาะคนรุ่นใหม่ใน กทม. แต่กระแส “ชัชชาติ” ก็ถูกส่งผ่านไปถึงต่างจังหวัดอย่างไม่ต้องสงสัย

 

ประเด็นอยู่ที่ว่า ทำไม “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ไม่ติดอยู่ในลำดับต้นๆ?

ส่วนหนึ่ง อาจมาจากความ “เชื่อมั่น” ในประสบการณ์ทางการเมือง ประสบการณ์บริหารงานทางการเมือง และการบริหารราชการแผ่นดิน ที่ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ไม่เคยผ่านเรื่องพวกนี้มาก่อน แม้มีความสนใจ และติดตาม “ทักษิณ” มาแต่เด็กก็ตาม

นอกจากนี้ ยังเห็นได้ชัดว่า กระแส “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ในหมู่คนรุ่นใหม่ หรือ Gen Z ดังกล่าว ยังไม่เปรี้ยงป้าง อย่างที่คาดหวัง หรือไม่

ส่วนเมื่อมาดู “วิสัยทัศน์” การมอง “ปัญหาทางการเมือง” และการแก้ไข โดยเฉพาะปัญหาที่ “คนรุ่นใหม่” คาดหวังเอาไว้สูง ก็ยังดูเหมือน ไม่มีจุดเด่นเท่าที่ควร

กรณีเมื่อวันที่ 21 กันยายนที่ผ่านมา “แพทองธาร” ให้สัมภาษณ์ประชาชาติธุรกิจ และเครือมติชน ที่อาคารชินวัตร ถึงโรดแมปกลับบ้านของ “ทักษิณ” แผนนิรโทษกรรมที่ปรับปรุงใหม่ และการแก้ไขมาตรา 112 หากในอนาคต ถ้าเธอมีอำนาจตัดสินใจ

เริ่มจาก ถามว่า มองอย่างไรกับกระบวนการยุติธรรม 2 มาตรฐาน

“อุ๊งอิ๊ง” ตอบว่า เวลาที่เขาถามว่า อิ๊งกังวลใจเรื่องไหน ก็เรื่องนี้แหละ 2 มาตรฐาน กังวลใจเรื่องกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ยุติธรรม ทำให้มีคำถามเกี่ยวกับความยุติธรรม อย่างคดีต่างๆ ที่เจอ ก็เป็นคดีที่ถูกตั้งขึ้นมาหลังรัฐประหาร ค่อนข้างชัดเจนว่ามีการแทรกแซง

หรือองค์กรอิสระต่างๆ ที่ตั้งขึ้นมา ตั้งคำถามครอบครัวอิ๊ง ก็ so special นะ มีองค์กรใหม่ๆ ขึ้นมาตรวจสอบเรา เป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น

ถามว่ารู้สึกอย่างไร แน่นอนค่ะ ไม่ชอบอยู่แล้ว ก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ถูก treat แบบไม่ยุติธรรมก็ไม่สามารถรู้สึกได้ว่ามันโอเค มันไม่ได้โอเคอยู่แล้ว ก็แค่หวังว่ามันจะไม่เกิดขึ้นอีก และหวังว่าทุกอย่างจะอยู่ในระบบ ในกติกา เพราะนั่นคือจุดก้าวแรกที่ทำให้ประเทศเจริญ

มีไอเดียที่จะทำเรื่องนี้อย่างไร

มีค่ะ มีไอเดียอีกมาก ทุกอย่างต้อง fair game ทุกคนใช้กฎเดียวกัน สิ่งที่เราทำไม่ได้ คนอื่นก็ต้องทำไม่ได้ อันนี้ต้องทำให้เป็นกลางให้ได้ และไม่มีการแทรกแซงเกิดขึ้น เป็นสิ่งที่คิดในใจเสมอ

แต่ในกระบวนการ อิ๊งต้องปรึกษาฝ่ายกฎหมายอีกเยอะว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง เพื่อที่จะทำให้มันถูกต้องและเป็นที่ยอมรับ แต่แน่นอนมีการคิดเรื่องนี้อยู่แล้ว

จะแก้รัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายวิธีพิจารณาคดีของศาลต่าง ๆ

อยากให้จับมือกันทั้งในรัฐบาลและเอกชน อย่างภาคเศรษฐกิจ ธุรกิจ ต้องใช้เอกชนด้วยในการถกเถียง ใช้สมอง ระดมสมองร่วมกัน การแก้ปัญหาต่างๆ ไม่สามารถเป็นรัฐอย่างเดียวได้ ต้องอาศัยทุกคนในประเทศ

ส่วนเรื่องการเมือง ต้องชัดเจนตั้งแต่แรกว่า เรื่องต่างๆ ต้องอยู่ใน process ไม่ใช่จู่ ๆ ดำเนินไปสักพักก็ตั้งอันนี้ขึ้นมา เพื่ออันนี้ดีกว่า มันไม่อยู่ในระบบ อยากทำให้ได้นะ คือการไม่เล่นนอกกระดาน เพราะมันไม่แฟร์กับใครเลย ไม่ใช่ทำอันนี้เพื่อตัวเอง

ถ้าคุณอยู่ในกระดานนี้ ประเทศมันตกลงกันได้ มันคือจุดเริ่มต้น เป็นการไปต่อ ไม่ใช่เอะอะ ไม่พอใจ ล้ม กวาดเรียบ มันเด็กไป

ต้องเริ่มจากตรงไหน

นี่ไง คือการจับมือกัน คุยกันทุกฝ่าย ในจุดที่มีปัญหา ในหัวข้อที่ไม่ใช่เรื่องการเมืองโดยตรง เป็นเรื่องการทำธุรกิจ ที่อยากจะทำให้เป็น free zone หรือ เรื่อง soft power เราคุยกับนักธุรกิจหรือคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมนั้นเลยว่าเราเอง พรรคเพื่อไทยไม่ได้รู้ปัญหาลึกซึ้งของทุกคนได้ ถ้าเราไม่ได้คุย

เหมือนคนเชียงใหม่มีปัญหาอะไร คนกรุงเทพฯจะรู้ดีเท่าคนเชียงใหม่เหรอ…ก็ไม่ได้ เราถึงพยายาม customize ในเรื่องนโยบาย หรือ solution ในการแก้ปัญหาของแต่ละที่ แต่ละกลุ่ม เพราะพรรคเพื่อไทยต้องการคำตอบของภาพใหญ่ทั้งหมด ในการหาเสียงแลนด์สไลด์ เราให้ผู้สมัคร ส.ส. หรือผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ต้องเข้าไปคุยกับประชาชน ดูปัญหาจริง ๆ เพราะสุดท้ายเราก็มารวบรวมกันในการประชุมพรรคทุกสัปดาห์ พรรคก็ทำงานกันอยู่

และ 2 ปีที่ผ่านมาเราปรับตัวเยอะมาก เราไม่อยากถูกมองเป็นพรรคตั้งแต่สมัยก่อนเก่านานแล้ว ตอนนี้มีพลังของคนรุ่นใหม่เยอะมากที่จะเข้ามาทำงานในพรรค อย่างตัวอิ๊งอาจจะเป็นคนที่นำเสนอว่า เรามีการปรับตัวเยอะ ในเรื่องคนรุ่นใหม่ ที่เราจะมีความเข้าใจมากขึ้น ลดช่องว่างของคนหลาย ๆ Gen ให้มากขึ้น

2 ปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าเราปรับตัวเยอะมาก เรื่องคน ความเข้าใจกันเองในพรรค เราทำได้ดีนะ…เอาจริง ๆ เรารู้สึกว่าได้รับความร่วมมือมากมาย

มีโรดแมปนำคุณทักษิณกลับบ้านอย่างไร

เอ่อ… นักโทษทางความคิด พวกคนที่ถูกข้อหาทางการเมือง อิ๊งว่า ต้องผ่านกระบวนการที่ยุติธรรมก่อน ไม่ใช่แค่คุณทักษิณคนเดียว ที่ไม่ได้รับความยุติธรรมในเรื่องนี้ มันก็ต้องแก้ตรงนั้นก่อน แต่แน่นอนความเป็นลูก โรดแมปในใจคือพาใส่เครื่องบินแล้วกลับมานี่แหละ มันก็แค่นั้นเอง

อิ๊งเป็นลูกพ่อตั้งแต่เด็ก การที่…อยากให้เขามาอยู่ใกล้ ๆ การที่จะแค่พูดถึงเขามันก็เหนื่อย ก็คิดถึง

เคยมีความพยายามนิรโทษกรรมมาแล้วสมัยที่เคยเป็นรัฐบาล แต่ผิดคิว จะปรับปรุงแผนอย่างไร

นิรโทษกรรม มันพูดถึงมันเวิ้งทั้งหมด (ทำมือเป็นวงกลมประกอบ) แต่จริง ๆ มันต้องใช้เวลา case by case มีตั้งแต่นักโทษทางความคิดธรรมดา และมีเรื่องถึงอาชญากรรม ชีวิต มันต่างกันมาก มันต้อง analyze(วิเคราะห์) แบบ case by case ซึ่งนิรโทษกรรมถ้าใช้กับคนบางกลุ่มมันก็โอเค แต่กับบางกลุ่มมันก็ไม่ได้ อันนี้มากกว่าที่ต้องการความชัดเจน ว่า analyze แบบ case by case ไม่สามารถแบบเหมารวมได้ทั้งหมด เพราะมีรายละเอียดมากมาย ต้องออกแบบ แต่ก็คงต้องใช้เวลาและรายละเอียด อิ๊งคิดอย่างนั้นนะ ไม่ทราบว่าจะถูกผิดอย่างไร

แต่ของคุณพ่อเอง ท่านก็เข้าใจประมาณหนึ่งว่าไม่สามารถเหมารวมทั้งหมดได้

ประเทศไทยมีสิ่งที่เรียกว่า อำนาจที่มองไม่เห็นในการเปลี่ยนปรากฏการณ์ทางการเมือง ถ้าพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง และดีไซน์กระบวนการนิรโทษกรรมได้ เพียงพอหรือยังที่จะเป็นโรดแมปให้คุณทักษิณกลับบ้าน

ยากจัง…อิ๊งว่ามันต้องใช้อะไรมากกว่านั้นนะ บางเรื่องในการมองภาพตัวเองตอนนี้ก็อาจจะเกินความสามารถในการที่…เราเข้ามาผลักดันเรื่องนโยบายของพรรคแล้วแปลว่าเราผลักดันให้คุณทักษิณกลับมาได้ อิ๊งว่ามันไม่ได้ต่อเนื่องกัน

อิ๊งว่าคุณพ่อมีประสบการณ์ มีแนวทางของท่านที่จะตัดสินใจได้ว่า ท่านจะจัดการเรื่องนี้อย่างไร แต่อิ๊งขอเน้นไปที่พรรค เน้นไปที่เรื่องของประเทศ สำหรับอิ๊งเองให้เรื่องคุณพ่อ เป็นเรื่องทางใจของอิ๊ง เป็นเรื่องทางครอบครัวของอิ๊งแล้วกัน เราก็โฟกัสประเทศไป คุณพ่อจะกลับมาอย่างไร ก็เดี๋ยวว่ากัน

แต่ทุกวันนี้คือ ประเทศมากกว่าที่มีปัญหาบอบช้ำอย่างมากมาย...

ขอถามเรื่องจุดยืนประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

จริง ๆ ไม่ต้องมาตรา 112 ทุกๆ เรื่องที่ถกๆ กันมันต้องผ่านกระบวนการของสภา ให้เป็นหลักนั้นดีกว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นต้องอยู่ในหลักที่ต้องผ่านกระบวนการ ถ้าคุยกันแล้วจะต้องแก้ไขอย่างไร หรือต้องทำอย่างไรก็ต้องผ่านระบบสภา

ต้องแก้ไขมาตรา 112 ใช่หรือไม่

ต้องคุยกัน ต้องคุยกันว่าตัวบทกฎหมายมีปัญหาหรือเปล่า เพื่อจะตกลงกันว่าจะเอาอย่างไร

ประเมินปรากฏการณ์การใช้มาตรา 112 เวลานี้อย่างไร

จริง ๆ แล้วกฎหมายมีมานานมาก แต่ถ้าเรามาดูหลังรัฐประหารที่เกิดขึ้น จำนวนที่ถูกฟ้องด้วยข้อหา 112 เพิ่มขึ้นอย่างกะทันหัน เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย ปัญหาอยู่ตรงไหนกันแน่ มันไม่ใช่ว่าจู่ๆ ถูกใช้มาเรื่อยๆ ในสังคมไทย แต่มันเพิ่งเกิดขึ้น แล้วเกิดขึ้นมากมายขนาดนี้ มันคือปัญหามากกว่า เป็นสิ่งที่น่าคิด

เมื่อเทียบกับ “ชัชชาติ” กรณีตอบคำถาม เรื่อง ม.112 เห็นได้ชัดว่า ชัดเจน และได้ใจคนรุ่นใหม่มากกว่า

กรณีเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2565 ที่สวนครูองุ่น (ทองหล่อ ซ.3) ในการจัดกิจกรรม ตลาด (นัด) ราษฎร ที่จัดโดยกลุ่มราษฎร ซึ่งไฮไลต์ที่สำคัญ คือ การประมูลสินค้าจากแกนนำกลุ่มราษฎร อาทิ รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, นายอานนท์ นำภา, นายพริษฐ์ ชีวารักษ์ และนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน

ปรากฏว่า “ชัชชาติ” มาร่วมกิจกรรม โดยไม่มีกำหนดการล่วงหน้า จากนั้นได้ถูกทางกลุ่มชวนขึ้นเวทีพูดคุย

ระหว่างนั้น รุ้ง ปนัสยา สอบถามถึงประเด็นการยกเลิก ม.112 กับ “ชัชชาติ” เขาตอบว่า ผู้ว่าฯ กทม. ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องม.112 แต่เห็นว่า ไม่ควรนำ ม.112 มาเป็นเครื่องมือในการสร้างความแตกแยก ถ้ามองในแง่ผู้บริหาร จริงๆ แล้วการเป็นผู้บริหาร ต้องมีความละมุนละม่อมในระดับหนึ่ง มันต้องมีวิธีการในการค่อยๆ ปรับ ถ้าบอกว่าจะยกเลิก ม.112 ตนเองคิดว่า มันจะไปอีกขั้วหนึ่ง มันจึงต้องเริ่มจากการไม่เอา ม.112 มาเป็นเครื่องมือทางการเมือง โดยขอให้เริ่มตรงนี้ก่อน แล้วเดี๋ยวมันจะค่อยๆ พัฒนาไป แต่ถ้าพูดในฐานะผู้บริหารมันต้องมีวิธีในการสื่อสาร

“อย่างผม ผมก็อดทนมา 8 ปี ถูกไหม มันก็นาน ที่ปฏิวัติมาจนถึงวันนี้มัน 8 ปี แต่เราต้องมี Strategy (กลยุทธ์) ต้องมียุทธศาสตร์ในการเดิน เขาบอกว่า อาจจะไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ภาษาอังกฤษว่า Revenge is a dish best served cold. คือ การแก้แค้นหรือการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดมันดีตอนที่มันเย็นแล้ว คืออย่าไปเอาความโกรธหรือความแค้นมาทำ หัดกำหนด Strategy ในการเดิน แล้วเวลาจะอยู่ข้างพวกเรา แต่จะบอกว่านาทีนี้การยกเลิก 112 ไม่ง่าย แต่ขออย่าเอามาเป็นเครื่องมือทางการเมือง พูดประเด็นนี้ก่อน ดีไหม ค่อยเป็นสเตปต่อไป”

ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2565 “อีสานโพล” ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน ม.ขอนแก่น ได้เผยผลสำรวจ กรณีถามว่า ถ้ามีการเลือกตั้งใหม่ ท่านอยากให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อมาแก้ปัญหาเศรษฐกิจ พบว่า

  • อันดับ 1 เป็นของ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ร้อยละ 23.4
  • อันดับ 2 รองลงมา น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ร้อยละ 21.1,
  • อันดับ 3 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ร้อยละ 20.2
  • อันดับ 4 ตามมาด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ร้อยละ 12.5
  • อันดับ 5 นายอนุทิน ชาญวีรกูล ร้อยละ 9.9

ถามว่า ถ้าเลือกตั้ง ส.ส.วันนี้ท่านมีแนวโน้มจะลงคะแนนให้พรรคใดเพื่อมาแก้ปัญหาเศรษฐกิจ พบว่า

  • อันดับ 1 คือ พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 35.9
  • อันดับ 2 รองลงมา พรรคก้าวไกล ร้อยละ 19.8
  • อันดับ 3 พรรคไทยสร้างไทย ร้อยละ 14.7
  • อันดับ 4  ตามมาด้วย พรรคพลังประชารัฐ ร้อยละ 12.6
  • อันดับ 5 พรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 10.7
  • อันดับ 6 พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 3.1
  • อันดับ 7 พรรคเสรีรวมไทย ร้อยละ 1.9
  • อันดับ 8 พรรคอื่นๆ ร้อยละ 1.4

 

เห็นชัดว่า แม้ภาคอีสานจะเลือกพรรคเพื่อไทย มาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ แต่คนที่สนับสนุนเป็น “นายกรัฐมนตรี” กลับกลายเป็น “คุณหญิงสุดารัตน์” ไม่ใช่ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร เป็นอันดับ 1

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ พรรคเพื่อไทยจะเอาอย่างไรกับตำแหน่งแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ที่ยัง “แทงกั๊ก” ระหว่างหาคนที่เหมาะสม ทั้งความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ ตลอดจน คุณวุฒิ วัยวุฒิ ที่ต้องสู้กับพรรคการเมืองอื่น ทั้งในเวทีไทย และเวทีโลก

ลำพัง “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ที่อยู่ในวัยเรียนรู้ทางการเมือง ขาดทั้งประสบการณ์ทางการเมือง การบริหารประเทศ เพียงพอหรือไม่

เพราะถ้าสังเกตให้ดี การที่ “อุ๊งอิ๊ง” เป็นรอง “ชัชชาติ” เป็นรอง “คุณหญิงสุดารัตน์” ทั้งที่มีพรรคการเมืองใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทยสนับสนุน แถมยังเป็น “ทายาท” ของ “ทักษิณ” ซึ่งถือว่า ยังมีฐานการเมืองอยู่อย่างเหนียวแน่น กว่าครึ่งประเทศ มีการจัดกิจกรรมการเมือง มีแคมเปญหาเสียงออกมาอย่างต่อเนื่อง ยิ่งกว่านั้น ยังเป็นฝ่ายที่อ้างได้ว่า อยู่คนละขั้วกับ “เผด็จการรัฐประหาร” และกระแสเบื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทุกอย่างมาเต็ม ได้เปรียบทุกพรรคการเมือง

แต่ทำไม ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน และคนรุ่นใหม่ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ยังไม่ขึ้นอันดับ 1 ทุกผลสำรวจ และนำตั้งแต่ต้นจนจบ เหมือนกรณี“ชัชชาติ” ชนะเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.แบบแลนด์สไลด์(ถล่มทลาย)

มีคนคิดถึงเรื่องประสบการณ์ทางการเมือง ประสบการณ์การบริหารประเทศ ความเหมาะสมทั้งเวทีไทย เวทีโลก ในการเป็น “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” ของ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร หรือไม่

อย่าทำเป็นเล่นไป.. คนไทยก็เลือกเหมือนกัน!?