“ประยุทธ์” พักยกหรือพักยาว ลุ้นหนัก ดีล “นายกฯคนนอก”

“ประยุทธ์” พักยกหรือพักยาว ลุ้นหนัก ดีล “นายกฯคนนอก”

การเมืองไทย อะไรก็เกิดขึ้นได้ และบางครั้งก็ไม่ได้เหนือความคาดหมายแต่อย่างใด ดูแต่เรื่อง “สภาล่ม” เพื่อที่จะทำให้พิจารณากฎหมายลูกเลือกตั้งไม่ทัน 180 วัน จะได้กลับไปใช้สูตรส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 100 หาร ตามกระแสข่าว “ดีลพิเศษ” ยังทำได้

เกม “8ปี” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะจบลงอย่างไร ก็ไม่อาจคาดเดาได้เช่นกัน

แต่ที่แน่ๆ มี “สองทาง” อย่างแน่นอน คือ “ประยุทธ์” หยุดแค่นี้ นำไปสู่การสานฝันของใครบางคน หรือ ไปต่อ เพื่อรอประชุม “เอเปก” ก่อนยุบสภา ตามที่มีการคาดการณ์   

ทั้งนี้ เนื่องจากเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ให้รับคำร้อง ที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) พรรคร่วมฝ่ายค้าน เข้าชื่อ 171 คน ยื่นคำร้องต่อ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เพื่อส่งต่อให้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย “ความเป็นนายกรัฐมนตรี” ของ พล.อ.ประยุทธ์ สิ้นสุดลง เนื่องจากดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบกำหนดเวลา ตามมาตรา 170 วรรคสอง และมาตรา 158 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 หรือไม่

นอกจากนี้ ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 ให้ พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2565 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย โดยคาดว่ากระบวนการพิจารณาจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้

ขณะเดียวกัน ตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ทำให้ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีลำดับที่ 1 “รักษาการนายกรัฐมนตรี” โดยอัตโนมัติ

แต่ที่น่าสนใจไปกว่านั้น คือ ขบวนการ “นอกสภา” ที่ถือว่า สร้างแรงกดดัน มาตั้งแต่ช่วงก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้อง และมีคำสั่งให้นายกฯหยุดปฏิบัติหน้าที่แล้ว

โดยเฉพาะกลุ่มนักวิชาการด้านกฎหมายจำนวน 51 คน  จาก 15 มหาวิทยาลัย ได้จัดทำประเด็นข้อกฎหมายในเรื่องการดำรงตำแหน่งไม่เกินแปดปีของนายกรัฐมนตรี เสนอให้ประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบการวินิจฉัย

ที่สำคัญคือ 2.ประเด็น (เรื่องมีผลย้อนหลังหรือไม่) ที่ต้องพิจารณาต่อไปคือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มีบทเฉพาะกาลยกเว้นไม่ให้มาตรา 158 วรรคสี่ ใช้บังคับกับนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งมาก่อนวันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้หรือไม่?

บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มีเพียงมาตรา 264 มาตราเดียว ที่บัญญัติเรื่องนี้เอาไว้ โดยมาตรา 264 วรรคสอง ได้กำหนดยกเว้นคุณสมบัติต่างๆ ของรัฐมนตรีที่ไม่ให้ใช้กับรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งมาก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ดังต่อไปนี้คือ ยกเว้นลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 (6) “เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรา 98 (12) (13) (14) และ (15)” และ “ต้องพ้นจากตําแหน่งตามมาตรา 170 ยกเว้น (3) และ (4) แต่ในกรณีตาม (4) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรา 98 (12) (13) (14) และ (15)” และยกเว้นมาตรา 170 (5) “เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการดําเนินการตามมาตรา 184 (1)” ซึ่งไม่ปรากฏว่ามีการยกเว้นมาตรา 170 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า “ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดเวลาตามมาตรา 158 วรรคสี่ด้วย” ไว้แต่ประการใด และไม่ปรากฏบทบัญญัติอื่นใดในรัฐธรรมนูญนี้ที่ยกเว้นมาตรา 158 วรรคสี่ มิให้ใช้บังคับแก่นายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งมาก่อนรัฐธรรมนูญประกาศใช้ด้วย

ดังนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญมิได้ยกเว้นมาตรา158 วรรคสี่ มิให้ใช้บังคับกับนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งมาก่อนรัฐธรรมนูญประกาศใช้ พล.อ.ประยุทธ์ จึงเป็นนายกรัฐมนตรี ได้ถึงวันที่ 24 สิงหาคม 2565 เท่านั้น

และข้อ 3. สำหรับความเห็นที่เห็นว่า การนับระยะเวลาดำรงตำแหน่ง 8 ปีของนายกรัฐมนตรี ต้องเร่ิมนับตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ประกาศใช้ คือเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 เพราะการใช้กฎหมายย้อนหลังเป็นโทษแก่บุคคลเป็นสิ่งที่ไม่อาจทำได้นั้น ตามหลักกฎหมายแล้วควรต้องพิจารณาอย่างไร?

การใช้กฎหมายย้อนหลังเป็นโทษแก่บุคคลไม่อาจทำได้นั้น เป็นหลักการที่ถูกต้องถ้าเป็นเรื่อง “สิทธิและเสรีภาพของประชาชน” แต่รัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรคสี่ ที่ห้ามมิให้นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งรวมกันเกินกว่า 8 ปีนั้น เป็นเรื่อง “การควบคุมและการจำกัดอำนาจ” ซึ่งการตีความจะตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง นั่นคือหากเป็นเรื่องอำนาจ การตีความจะมุ่ง "ควบคุม" ขณะที่ถ้าเป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพ การตีความจะมุ่ง “คุ้มครอง” และเพื่อที่จะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน จะต้องมีการควบคุมและจำกัดอำนาจรัฐบาล

ทั้งนี้ เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรคสี่นั้น ผู้ร่างรัฐธรรมนูญคือคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้ระบุไว้ว่า “การกำหนดระยะเวลาแปดปีไว้ก็เพื่อมิให้เกิดการผูกขาดอำนาจในทางการเมืองยาวเกินไปอันจะเป็นต้นเหตุเกิดวิกฤติทางการเมืองได้” (ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตรา ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พทุธศักราช 2560, น.275)

ดังนั้น การตีความในเรื่องการห้ามมิให้นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปี ซึ่งเป็นเรื่องควบคุมนายกรัฐมนตรีไม่ให้อยู่ในอำนาจนานเกินไปจน “เกิดการผูกขาดอำนาจในทางการเมือง” จึงต้องตีความในทางควบคุมอำนาจ นั่นคือต้องเป็นไปตามบทบัญญัติที่เขียนไว้โดยเคร่งครัด ดังนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ไม่เกิน 8 ปี และไม่ได้ยกเว้นให้กับนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งมาก่อนวันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ ก็ต้องเป็นไปตามนั้น นั่นคือต้องนำระยะเวลาดำรงตำแหน่งก่อนรัฐธรรมนูญประกาศใช้รวมเข้าไปด้วย

กรณีนี้สามารถเทียบเคียงได้กับการที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง ได้กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) พ้นจากตำแหน่ง ทั้งๆ ที่ยังไม่หมดวาระ หรือการกำหนดคุณสมบัติต่างๆ ในการเป็นรัฐมนตรี หรือ ส.ส. ที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ได้บัญญัติเพิ่มขึ้นจากรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านๆ มา ก็เป็นเรื่องที่ทำได้

และได้ทำมาแล้วภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ดังเช่น กรณี ส.ส. สิระ เจนจาคะ ที่ต้องพ้นจากตำแหน่ง ส.ส. เพราะมี “ลักษณะต้องห้าม” ไม่ให้สมัคร ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (10) คือ “เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา” ทั้งนี้ เพราะเป็นเรื่องคุณสมบัติ หรือเงื่อนไขของการดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ต้องควบคุมและจำกัดอำนาจ จึงสามารถทำได้ กรณีของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็เป็นเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้แล้ว การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งที่สองของ พล.อ.ประยุทธ์ ในวันที่ 9 มิถุนายน 2562 นั้น พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน เนื่องจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 105 วรรคสี่ บัญญัติว่า “ถ้าพ้นจากตําแหน่งและได้รับแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งเดิมหรือตําแหน่งใหม่ ภายในหนึ่งเดือน ผู้นั้นไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน …แต่ไม่ต้องห้ามที่ผู้นั้นจะยื่นเพื่อเป็นหลักฐาน” ซึ่งโดยข้อเท็จจริง พล.อ.ประยุทธ์ ได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินแล้ว แต่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ไม่เปิดเผย แม้จะมีการร้องขอจากสาธารณะ โดยให้เหตุผลว่า ปปช.ไม่มีอำนาจเปิดเผย

นั่นหมายความว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีมาก่อนแล้ว และดำรงตำแหน่งต่อ ทำให้ได้ประโยชน์จากมาตรา 105 วรรคสี่ ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่ยืนยันว่า ต้องนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2565 “รวมกัน” เข้าไปด้วย...

ถ้ามาดูการตีความอีกด้าน เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2565 นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าศาลฎีกา ก็โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Chuchart Srisaeng เอาไว้อย่างน่าสนใจ โดยระบุว่า

“.....มาตรา 158 พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกินสามสิบห้าคน ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน

.....นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159

.....ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี

.....นายกรัฐมนตรีจะดํารงตําแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดํารงตําแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตําแหน่ง

.....บทบัญญัติในมาตรา 158 วรรคสี่ ที่ว่า นายกรัฐมนตรีจะดํารงตําแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้นั้น ต้องเป็นนายกรัฐมนตรีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 158 วรรคสอง ที่ว่า นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159

.....มาตรา 159 ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้ง เป็นนายกรัฐมนตรีจากบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 และเป็นผู้มีชื่ออยู่ ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 เฉพาะจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่มีสมาชิก ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร

.....การเสนอชื่อตามวรรคหนึ่งต้องมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร

.....มติของสภาผู้แทนราษฎรที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องกระทําโดยการลงคะแนนโดยเปิดเผย และมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร

.....พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 158 วรรคสอง โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2562 คิดถึงปัจจุบันเป็นเวลาเพียง 3 ปี 1 เดือน 6 วันเท่านั้น

.....การเป็นนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ก่อนวันที่ 9  มิถุนายน 2562 มิได้เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 158 วรรคสอง จึงนำเวลามารวมกันตามมาตรา 158 วรรคสี่ ไม่ได้

.....การอ่านและตีความกฎหมายในกรณีที่มีหลายวรรคนั้น ต้องพิจารณาประกอบกันทุกวรรค มิใช่นำมาพิจารณาใช้เพียงวรรคเดียวโดยมิได้นำวรรคอื่นมาพิจารณาประกอบด้วย”

สรุปแล้ว ความเห็นต่างที่สำคัญก็คือ การนับหรือไม่นับ ย้อนไปถึงก่อนรัฐธรรมนูญ 2560

ด้วยเหตุนี้ ฝ่ายเคลื่อนไหวขับไล่พล.อ.ประยุทธ์ออกจากตำแหน่ง โดยจุดกระแสความเบื่อหน่ายที่บริหารประเทศล้มเหลว มาตั้งแต่ช่วงมีม็อบเยาวชนคนรุ่นใหม่ จนกระทั่งม็อบเยาวชนคนรุ่นใหม่ซาลง ก็มีม็อบ “ไล่ประยุทธ์”ขึ้นมาแทน นำโดย “ตู่” จตุพร พรหมพันธุ์ ในนาม กลุ่ม “คนไทยไม่ทน” ก็อาศัยช่วงจังหวะนี้เช่นกัน ผสมโรงต่อต้านการดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปีในนาม “กลุ่มหลอมรวมคนไทย” โดยอ้างว่า ครบ 8 ปีเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2565 และยังคงกดดันอยู่ในเวลานี้

ประเด็นที่น่าจับตามองก็คือ การชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญของ “ฝ่ายกฎหมาย” พล.อ.ประยุทธ์ จะทำได้ดีแค่ไหน ซึ่งถือว่า เป็นนักกฎหมายมือหนึ่งของประเทศอยู่แล้ว ทั้งยังอาจมีส่วนรับรู้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ 2560 อีกด้วย

ดังนั้น มุมวิเคราะห์ “ลับ ลวง พราง” ฉบับ “8 ปีประยุทธ์” จึงมองว่า การที่พล.อ.ประยุทธ์ พูดมาตลอดว่า อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ จะวินิจฉัยอย่างไร ทั้งยัง “ยอมรับ” คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ หลังมีมติเสียงข้างมาก ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ก็คือ การสร้างความชอบธรรม ให้กับการตัดสินเรื่อง 8 ปีของตัวเอง เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญโดยชอบ เป็นการยอมรับกระบวนการยุติธรรม ไม่เหมือน “อดีตนายกฯบางคน” โดยอาจรู้อยู่แล้วว่า ขบวนการกดดันนอกสภา เป็นฝีมือใคร กับคำว่า “นายกฯเถื่อน อยู่ที่ดูไบ” 

ขณะเดียวกัน ยังน่าวิเคราะห์อีกว่า การที่ศาลมีมติเสียงข้างมาก สั่งให้พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส่วนหนึ่งอาจเนื่องมาจากกระแสกดดัน “นอกสภา” เพื่อให้ลดความร้อนแรงลง ซึ่งสามารถยื้อไปได้ถึงปลายเดือนกันยายน ก่อนที่จะมีการวินิจฉัย

และถือว่าได้ผลพอสมควร เพราะทำให้กระแสกดดันที่มีผลกระทบอย่างสูง อย่างกลุ่มพลังทางสังคม ต้องหยุดรอคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ขณะที่กลุ่มม็อบกดดัน ก็ไม่มีคนเข้าร่วมอย่างที่แกนนำต้องการ เพราะคนที่จะเข้าร่วมต่างรอฟังคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญนั่นเอง

เมื่อเป็นเช่นนี้เกม “ลับ ลวง พราง” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จึงอาจมีแผนซ้อนแผน “เกมนายกฯคนนอก” ที่เคยมีกระแสข่าวมาก่อนหน้านี้ ก็เป็นได้ คงไม่มีใครคิดว่า ขีดฆ่า “ดีลพิเศษ” ของสองผู้มากบารมี ทิ้งไปแล้ว

เกมของพล.อ.ประยุทธ์ ถ้าดูจากกระแสที่ออกมาจากฝ่ายเดียวกัน เชื่อว่า จะสู้เพื่ออยู่ต่อ ไปจนถึงการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค ปี พ.ศ. 2565 ครั้งที่ 2/2565 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ช่วงประมาณกลางเดือนพฤศจิกายน จากนั้นจึงจะมีการยุบสภา และว่ากันใหม่ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่งนี่ถือว่า สง่างาม แม้ว่า การเลือกตั้งครั้งหน้าจะไม่มีชื่อ “ประยุทธ์” เป็นนายกฯอีกต่อไปแล้วก็ตาม?

กลับกัน คนที่ดูเหมือนเดือดร้อน และร้อนรนกว่าใคร ก็เห็นจะเป็นคนแดนไกล และพรรคเพื่อไทย ที่แม้ว่า “เกม” ทุกอย่างจะเข้าทาง แต่กลับดูเหมือนรอไม่ได้ หรือดิ้นเพื่อใคร?

เห็นได้จากความต้องการที่จะให้พล.อ.ประยุทธ์หลุดจากตำแหน่งทันที เพราะว่า ครบ 8 ปีแล้ว รวมทั้งยังต้องการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีในสมัยนี้เลย นั่นหมายถึงจะไม่ยอมให้พล.อ.ประยุทธ์อยู่ต่อไป    

อีกคนอาจเป็น “พี่ป๊อก” ที่จับกระแสจากคนใกล้ชิดบางคน ไม่น่าจะพอใจแค่ตำแหน่ง “รักษาการนายกฯ” เท่านั้น ในบั้นปลายของชีวิตการเมือง   

เพราะถ้าฝันให้ไกล ก็คงลุ้นจนสุดตัวว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยออกมาอย่างไร “น้องตู่”พ้นจากตำแหน่งหรือไม่

ถ้าพ้นจากตำแหน่ง กระแสข่าวลือ “ดีลพิเศษ” ก็จะถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดทันที เพราะอย่าลืม พรรคเพื่อไทย สมหวังแล้ว กับสูตรปาร์ตี้ลิสต์ 100 หาร เพื่อชัยชนะอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้งครั้งหน้า เหลือก็แต่ “ดีลพิเศษ” ที่สัญญาไว้จะไปถึงฝั่งฝันหรือไม่  

โดยมาดูหาก พล.อ.ประยุทธ์ ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยพ้นจากตำแหน่ง

ขบวนการเลือกนายกฯคนใหม่ที่จะเกิดขึ้น ก็คือ การโหวตเลือกนายกฯจากบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองก่อน ซึ่งต้องใช้คะแนนเสียง “มากกว่ากึ่งหนึ่ง” ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา(ส.ส. และ ส.ว. รวมกันเท่ากับ 750 คน) นั่นคือ 376 คน

เมื่อมาดูคนที่อยู่ในข่าย ประกอบด้วย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากประชาธิปัตย์ นายอนุทิน ชาญวีระกุล จากภูมิใจไทย นายชัยเกษม นิติสิริ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ จากเพื่อไทย

ประเด็นคือ คนที่อยู่ในบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองดังกล่าว ใครจะมีคะแนนสนับสนุนถึง 376 คน ถามว่าเกมเข้าทางใคร

ส่วน กรณียกเว้นการใช้บัญชีรายชื่อนายกฯ เพื่อ “เลือกนายกฯคนนอก” ขณะที่ส.ส.จำนวนมากอาจไม่เห็นด้วย ซึ่งต้องใช้เสียงจากรัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 นี่ก็อีกปม ที่วิเคราะห์กันว่า “จำเป็น” ต้องใช้เสียงจาก ส.ส.ฝ่ายค้านสนับสนุนด้วย

แล้วจะต้องมีคนทวงสัญญาจาก “ดีลพิเศษ” แน่?  

จากนั้นกรณีโหวตเลือก นายกรัฐมนตรี “คนนอก” ต้องใช้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสองสภา (ประชุมร่วมรัฐสภา) ซึ่ง แน่นอนว่าเสียงส.ส.ฝ่ายค้านบางพรรค บวกกับส.ว. เพื่อเติมเต็มส.ส.จากฝ่ายรัฐบาล มีความจำเป็นในหลายขั้นตอน กว่าจะสำเร็จ  

ถามว่า หมากเกมนี้ยากหรือไม่ ตอบได้ว่า ยากพอสมควร ถามว่า ทำได้หรือไม่ คำตอบไม่มีอะไรที่การเมืองไทยจะทำไม่ได้

ถามว่า “ชอบธรรม” หรือไม่ คำตอบต้องย้อนดูรัฐธรรมนูญ 2560 และ “กลเกม” เป็นเรื่อง “ศรีธนญชัย” ทางการเมือง?

ส่วน “ประชาชน” จะรับได้หรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งถ้าคิดถึงประชาชน และแคร์ความรู้สึกประชาชน ก็คงไม่เล่นเกมกันเกินไปอย่างทุกวันนี้