ศาสตร์-ศิลป์ในสมุดไทย ‘สรรพคุณตำรา’ ฉบับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท

เปิดสมุดไทยจัดพิมพ์ใหม่ ‘สรรพคุณตำรา’ เล่ม ๑-๒ ฉบับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท มรดกล้ำค่าจากบรรพชน ผู้ได้รับการยกย่องจากยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกสาขาปราชญ์และกวี
เดือนธันวาคมที่ผ่านมามีนิทรรศการ สรรพคุณตำรา เล่ม ๑-๒ ฉบับ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท จัดแสดงที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เชื่อว่าหลายคนคงจะพลาดไปเพราะข้าพเจ้าก็เป็นหนึ่งในนั้น
โชคดีที่มีโอกาสได้พบกับคุณ สุโรจนา เศรษฐบุตร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา บรรณาธิการผู้จัดพิมพ์สมุดไทยและผู้จัดนิทรรศการดังกล่าว จึงมีเรื่องราวของสรรพคุณตำราที่ใช้เวลารวบรวมและจัดทำเนื้อหานานกว่า 9 ปีมาเล่าสู่กันฟัง
เอ่ยพระนาม พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท อาจไม่เป็นที่คุ้นเคยมากเท่าไหร่นัก หากกล่าวถึง ‘จินดามณี’ แบบเรียนภาษาไทยเล่มแรกที่แต่งขึ้นโดย พระโหราธิบดี ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เราจะรู้สึกใกล้ชิดเข้ามาอีกหน่อย
เพราะในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปรารภให้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราช ทรงนิพนธ์ ‘จินดามณี’ ขึ้นมาเพื่อใช้เป็นแบบเรียนสำหรับกุลบุตรในสมัยนั้น จึงเป็นที่มาของ จินดามณีฉบับกรมหลวงวงษาธิราชสนิท ที่มีการลำดับเนื้อหาและคำอธิบายที่ชัดเจน เข้าใจง่าย เหมาะแก่การใช้เป็นแบบเรียนสอนเด็กไทยสืบมา
นอกจากทรงเป็นกวีผู้เชี่ยวชาญ ขนาดที่สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส ผู้ทรงเป็นอาจารย์ เมื่อได้อ่านโคลงนิราศพระประธมของกรมหลวงวงษาธิราช ทรงพระนิพนธ์โคลงเติมท้ายไว้ว่า
กรมวงษาสนิทผู้ ปรีชา เชี่ยวแฮ
เรียบรจเรขกถา เพราะพร้อง
เนืองเนกคณเมธา ทุกทั่ว อ่านเอย
ควรจักยอยศซร้อง แซ่ซั้นสรรเสริญ
ด้านการแพทย์ทรงมีพระปรีชาสามารถด้านการบำบัดรักษาโรค โปรดศึกษาค้นคว้าและนิพนธ์ตำรายาที่สำคัญ คือ สรรพคุณตำรากรมหลวงวงษา เล่ม ๑-๒ เป็นร้อยแก้ว เป็นการค้นคว้าตามแบบวิทยาศาสตร์การแพทย์ของตะวันตกเป็นแบบอย่างของการวิเคราะห์ข้อมูลพืชสมุนไพรมาจนถึงปัจจุบัน
ทรงรับราชการกำกับกรมหมอ ทรงเป็นแพทย์ไทยพระองค์แรกที่สถาบันการแพทย์ของยุโรปถวายประกาศนียบัตร และได้รับเชิญให้เป็นสมาชิกของสถาบันการแพทย์แห่งนิวยอร์ก ชาวต่างชาติถวายสมญานามว่า The Prince Doctor
เหล่านี้เป็นเพียงพระประวัติโดยย่อที่ผู้สนใจสามารถไปค้นคว้าต่อกันได้ เนื่องจากเราจะเข้าถึงที่มาของการจัดพิมพ์ สรรพคุณตำรา เล่ม ๑-๒ ฉบับ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ในรูปแบบสมุดไทยด้วยวิธีการพิมพ์ในระบบอุตสาหกรรม หุ้มปกสมุดและกล่องบรรจุด้วยผ้าไหมและผ้าโขมพัสตร์งดงาม
ภาพ : Promadhattavedi Chatvichai
ภาพ : Promadhattavedi Chatvichai
คุณสุโรจนา เล่าย้อนถึงสิ่งที่อยู่ในใจตั้งแต่ครั้งยังเป็นนักเรียนโรงเรียนราชินี ในชั่วโมงภาษาไทยคุณครูกล่าวถึง จินดามณีฉบับกรมหลวงวงษาธิราชสนิท แล้วหันมาที่เธอแล้วกล่าวว่าสุโรจนาต้องรู้จักนะ เพราะท่านเป็นต้นราชสกุล สนิทวงศ์
“ตอนนั้นอายุ 17 เวลาผ่านไปจนอายุ 47 ปี ท่านผู้หญิงอรุณ กิติยากร ณ อยุธยา พาไปวัดพระตำหนักที่อยุธยา ทำให้ทราบว่าพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท เคยมาประทับแรมที่วัดนี้ระหว่างเสด็จไปศึกเชียงตุง เราก็ได้รับมอบหมายให้เขียนประวัติขนาด 1 หน้ากระดาษ เอ 4 มาให้กับทางวัด”
อันเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณสุโรจนา ค้นคว้าพระประวัติของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท อย่างจริงจัง จนกระทั่งได้พบกับสรัพคุณตำรากรมหลวงวงษา เล่ม ๑-๒ จึงมีความมุ่งมั่นในการจัดพิมพ์เผยแพร่เพื่อเป็นสาระความรู้ที่เป็นคุณประโยชน์ทางการแพทย์ และประวัติศาสตร์การแพทย์แผนไทย
โดยเนื้อหาเล่ม ๑ เป็นพระคัมภีร์สรัพคุณ* แสดงประโยชน์สรรพสิ่งต่าง ๆในธรรมชาติโดยละเอียด ตามหลักวิจัยแบบสากล เล่ม ๒ เป็นพระคัมภีร์สมฐานวินิจฉัยว่าด้วยมหาพิกัษสรัพคุณ เป็นการวิเคราะห์และแสดงพิกัษในการนำสรรพคุณมาปรุงเป็นประโยชน์ในการรักษา
ภาพ : Promadhattavedi Chatvichai
“เล่ม ๑ กล่าวถึงพืช 166 ชนิด ที่นำเอาดอก ใบ ผล มาปรุงเป็นยา มีการพิมพ์เผยแพร่หลายครั้ง เนื่องจากเป็นที่นิยมมาก ส่วนเล่ม ๒ เป็นการนำมาปรุงเป็นยา มีสูตรยาค่อนข้างมาก ยังไม่เคยมีการพิมพ์มาก่อน เนื่องจากค้นพบในห้องเอกสารโบราณ ที่หอสมุดแห่งชาติ เมื่อครั้งรวบรวมพระประวัติ ( ปี 2549) เราจึงอยากจะพิมพ์เป็นชุด 2 เล่ม เมื่ออ่านแล้วพบว่าเนื้อความในเล่มที่ ๑ มาจบในเนื้อความตอนต้นของเล่ม ๒” คุณสุโรจนา อธิบาย
สำหรับการพิมพ์จัดพิมพ์ในลักษณะสมุดไทยดำ โดยการกลับ negative ต้นฉบับให้เป็นสมุดไทยขาว เพิ่มคำแปลภาษาอังกฤษ และภาพลายเส้นของสมุนไพรแต่ละชนิด
ส่วนปกและกล่องออกแบบเป็นกล่องผ้าไหม ทอยกตัวอักษรและตราสัญลักษณ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท และชุดผ้าฝ้ายโขมพัสตร์พิมพ์ตัวอักษร และตราสัญลักษณ์ ในแฉดสีโทนม่วงแดง
กล่าวได้ว่าเป็นสมุดไทยที่มีทั้งศาสตร์ทางการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรไทย ควบคู่ไปกับศิลปะการออกแบบรูปเล่มที่งดงามน่าชมทีเดียว
ใครที่พลาดชมนิทรรศการ ‘สรรพคุณตำรา’ เล่ม ๑-๒ ฉบับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ที่บอกเล่าที่มาและการจัดพิมพ์มรดกล้ำค่าจากบรรพชน ผู้ที่ได้รับการยกย่องจากยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกสาขาปราชญ์และกวี เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาเช่นเดียวกับข้าพเจ้า บทความนี้เก็บเรื่องราวมาบอกกล่าวกันพอสังเขป
หากมีผู้สนใจสั่งซื้อและสามารถสอบถามรายละเอียดกับคุณสุโรจนาได้ทาง เฟซบุ๊ก สรรพคุณตำรา เล่ม ๑-๒ ฉบับ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท
* สรัพคุณ : สะกดตามคำนำในการจัดพิมพ์ สรรพคุณตำรา เล่ม ๑-๒ ฉบับ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท