สนับสนุนการศึกษา แก้เหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืน

สนับสนุนการศึกษา แก้เหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืน

ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาหรือการกระจายทรัพยากรและโอกาสทางการศึกษาไปยังเด็กและเยาวชนกลุ่มต่างๆ อย่างไม่เท่าเทียมกัน นับว่าเป็นปัญหาเรื้อรังและอยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน

ความเหลื่อมล้ำดังกล่าวอาจหมายถึงนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ซึ่งอาศัยอยู่ในชุมชนของผู้ที่มีรายได้น้อย รวมไปถึงโอกาสการเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานของกลุ่มนักเรียนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล นอกจากนี้ ปัญหาเศรษฐกิจอันสืบเนื่องมาจากการระบาดของโควิด-19 อัตราเงินเฟ้อ หนี้ครัวเรือน และปัญหาด้านราคาพลังงาน ยิ่งทวีความรุนแรงและทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของการศึกษาไทยยิ่งซับซ้อนและแก้ไขได้ยากยิ่งกว่าเดิม

เมื่อไม่นานมานี้ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้รายงานสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งชี้ให้เห็นประเด็นเร่งด่วนที่ทุกฝ่ายต้องเร่งแก้ปัญหา นั่นคือ ต้นทุนค่าใช้จ่ายจริงในการใช้ชีวิตของครัวเรือนผู้ปกครองและนักเรียนเพิ่มสูงขึ้น สาเหตุหลักมาจากดัชนีราคาอาหารและการเดินทางมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น แม้ดัชนีค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาอาจมีแนวโน้มลดลง แต่ค่าใช้จ่ายประจำวันที่เพิ่มขึ้นทำให้ครัวเรือนต่างๆ ขาดกำลังสนับสนุนการศึกษาแก่บุตรหลานของตน โดยกลุ่มประชากรที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือกลุ่มครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มที่ขาดโอกาสการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ

นอกจากนี้ รายได้จากผู้ปกครองของกลุ่มเด็กนักเรียนที่ยากจนพิเศษกว่าครึ่งมาจากรัฐสวัสดิการ ซึ่งแหล่งที่มาและจำนวนรายได้นั้นสวนทางกับภาระค่าครองชีพ และมีนักเรียนกว่า 20,018 คนที่สามารถเข้าเรียนต่อที่สถาบันอุดมศึกษาในปีการศึกษา 2565 ได้ แต่อาศัยอยู่ในครอบครัวที่อยู่ใต้เส้นความยากจน

ดังนั้นนักเรียนกลุ่มนี้จึงเสี่ยงต่อการหลุดจากระบบการศึกษา ที่น่าสนใจคือ เมื่อใช้เครื่องมือช่วยคำนวณผลตอบแทนทางเศรษฐกิจแล้ว หากนักเรียนจำนวนดังกล่าวสามารถเรียนต่อจนสำเร็จปริญญาตรี จะช่วยสร้างรายได้ให้ระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นกว่า 66,000 ล้านบาทตลอดช่วงชีวิต หรือคิดเป็น 3.3 ล้านบาทต่อคน สอดคล้องกับข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 ซึ่งพบว่า นักเรียนที่จบวุฒิปริญญาตรีจะมีรายได้เฉลี่ย 27,132 บาทต่อเดือน

ด้วยเหตุนี้ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษากับการพัฒนาประเทศเพื่อให้หลุดออกจากกับดักรายได้ปานกลางจึงนับว่าเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการควบคู่กันไป จากตัวเลขดังกล่าว เราสามารถตีความได้ว่า หากประเทศไทยสามารถสนับสนุนเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบางให้ไปถึงการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น รายได้ของประเทศก็จะยิ่งสูงตามไปด้วย

แม้อาจจะไม่ใช่การลงทุนที่ให้ผลตอบแทนอย่างรวดเร็ว แต่การลงทุนในทรัพยากรมนุษย์นับว่าเป็นการลงทุนที่จะช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างคุ้มค่าในท้ายที่สุด เพราะประชากรที่มีการศึกษาคือทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและมีเสถียรภาพ ยิ่งไปกว่านั้น นักธุรกิจและนักลงทุนต่างๆ มักมองว่าประเทศที่มีแรงงานที่ได้รับการศึกษาในระดับสูงนั้นน่าดึงดูดใจมากกว่า อันจะนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านการลงทุนและการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น

ดังนั้น ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสามารถช่วยขจัดความไม่เท่าเทียมทางการศึกษาและขจัดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจได้ โดยเฉพาะรัฐบาลสามารถใช้เม็ดเงินลงทุนในโครงการต่างๆ เพื่อช่วยให้เยาวชนในกลุ่มเปราะบางเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพผ่านกลไกเงินทุนอุดหนุนที่ต่อเนื่องจนนักเรียนกลุ่มนี้สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ซึ่งการลงทุนดังกล่าวไม่เพียงแต่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนเท่านั้น แต่ยังช่วยพัฒนาบุคลากรในประเทศเพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคตอีกด้วย

นอกจากนี้ การสนับสนุนดังกล่าวควรที่จะต้องขยายให้ครอบคลุมโครงการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การจัดหาทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับนักเรียนที่อาศัยอยู่ในครอบครัวที่ยากจน ซึ่งอาจรวมถึงการให้คำปรึกษาและสนับสนุนให้นักเรียนกลุ่มนี้เข้าถึงระบบการฝึกวิชาชีพ อันเป็นการเชื่อมโยงระหว่างความรู้ที่ได้จากห้องเรียนกับความรู้ที่ได้มาจากโลกของการทำงานจริง สอดคล้องไปกับการฝึกอบรมครูและบุคลากรทางการศึกษาให้สามารถพัฒนาวิชาชีพของตนให้ดียิ่งขึ้น ทั้งด้านการเข้าถึงเทคโนโลยีและทรัพยากรที่ทันสมัย ซึ่งสามารถช่วยทั้งนักเรียนที่อยู่ภายใต้เส้นความยากจนและนักเรียนในระบบทั่วไปได้รับการเรียนการสอนที่มีคุณภาพยิ่งขึ้น

หากสามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้ตรงจุด จะเป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้กับทรัพยากรมนุษย์อันเป็นกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น การส่งเสริมการศึกษาของเด็กและเยาวชนให้สามารถเข้าถึงทรัพยากรและสามารถเรียนจนจบอย่างน้อยในระดับปริญญาตรี ผ่านการสนับสนุนเงินทุน การจัดหาปัจจัยอื่นๆ ที่จำเป็นให้กับทั้งนักเรียนและให้กับบุคลากรทางการศึกษาควบคู่กันไป จะช่วยสนับสนุนประเทศให้ก้าวหน้าบนเส้นทางของความยั่งยืนได้อย่างมั่นคง ท่ามกลางความไม่แน่นอนจากทั้งภาวะเศรษฐกิจปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และความขัดแย้งต่างๆ ที่ไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงในเวลาอันใกล้ครับ