DAOLSEC มุมมองการลงทุนประจำเดือนมิถุนายน 2025

ร่างกฎหมาย One Big Beautiful Bill Act ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือด้านนโยบายการคลังของสหรัฐฯ แต่สะท้อนถึงการยกระดับ “สงครามเศรษฐกิจเชิงโครงสร้าง” กับประเทศคู่ค้าอีกด้วย ซึ่งมีแนวโน้มกระทบห่วงโซ่อุปทานโลกและการเคลื่อนย้ายเงินทุนในระยะกลาง ในระยะสั้นตลาดทุนยังมีความผันผวนสูง

One Big Beautiful Bill Act: จุดเปลี่ยนเชิงโครงสร้างของสหรัฐฯ และผลกระทบต่อระบบการเงินโลก

การผ่านร่างกฎหมาย “One Big Beautiful Bill Act” ของสหรัฐฯ ด้วยคะแนนเฉียดฉิวในสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2025 ถือเป็นหมุดสำคัญของทิศทางนโยบายเศรษฐกิจมหภาคของสหรัฐฯและระบบการเงินโลกในช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งสะท้อนแนวโน้ม “fiscal expansionism” ที่อาจสร้างแรงกดดันต่อเสถียรภาพการคลังของสหรัฐฯภายใต้โครงสร้างหนี้สาธารณะที่เปราะบาง 

หากผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวคาดว่าส่งผลต่อค่าเงินดอลลาร์ อัตราผลตอบแทนพันธบัตร และ sentiment ของตลาดทุนอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากการเพิ่มรายจ่ายของรัฐยังไม่มีแหล่งรายได้ใหม่รองรับอย่างชัดเจน ในขณะที่ฝั่งรายได้ของสหรัฐฯจะขึ้นอยู่กับผลการเจรจาภาษีนำเข้าสินค้ากับประเทศคู่ค้าในช่วง 1–2 เดือนข้างหน้า ซึ่งยังคงเป็นปัจจัยหลักในการสร้างแรงกดดันต่อสถานการณ์การลงทุน

ระยะสั้นมองทองคำเด่น มีโอกาสทำ New high

ทองคำมีแรงหนุนจากทั้งความเสี่ยงด้านการคลังของสหรัฐฯ อันเนื่องมาจากร่างกฎหมาย One Big Beautiful Bill Act ซึ่งอาจเพิ่มหนี้สาธารณะอีกกว่า 3.8 ล้านล้านดอลลาร์ใน 10 ปีข้างหน้า และจากความไม่แน่นอนจาก Trade Talk ที่ยังไม่จบ มองว่าราคาทองคำสามารถยืนเหนือระดับ 3,300 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ และมีแนวโน้มทดสอบ 3,600 – 3,700 ดอลลาร์ในระยะเวลา1-2 เดือนนี้ 

Sector Rotation: กระจายการลงทุนไปยังอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์และหลีกเลี่ยงอุตสาหกรรมที่ถูกกดดัน

ร่างกฎหมาย One Big Beautiful Bill Act ส่งผลต่อการจัดสรรเงินทุนระหว่างกลุ่มอุตสาหกรรม โดยกลุ่มที่ได้รับประโยชน์ ได้แก่ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ (Defense) จากการเพิ่มงบประมาณด้านความมั่นคง ครอบคลุมระบบเทคโนโลยีและการยกระดับคุณภาพชีวิตของทหาร สะท้อนแนวโน้ม “security-first capitalism” ที่ภาครัฐใช้การลงทุนด้านความมั่นคงเป็นกลไกกระตุ้นเศรษฐกิจ กลุ่มธนาคารและการเงิน (Financials) ได้อานิสงส์จากแนวโน้มเงินเฟ้อที่เร่งตัวและอัตราดอกเบี้ยของ Fed ที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง (higher-for-longer) ส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ของธนาคารพาณิชย์ปรับตัวดีขึ้น

กลุ่ม Semiconductor ยังคงมีมุมมองเชิงบวกในระยะยาว เนื่องจากมีปัจจัยหนุนเชิงโครงสร้างจากความต้องการชิปประมวลผลขั้นสูง โดยเฉพาะในกลุ่ม AI และ hyperscale computing แม้ร่างกฎหมายฉบับใหม่มีการลดงบประมาณบางรายการ แต่ไม่ได้กระทบโดยตรงต่อโครงการ CHIPS and Science Act ที่ได้รับอนุมัติก่อนหน้านี้

ในขณะที่กลุ่มพลังงานสะอาด (Clean Energy) และกลุ่มสุขภาพ (Healthcare) เผชิญแรงกดดัน กลุ่ม Clean Energy ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกเครดิตภาษีภายใต้กฎหมาย IRA ซึ่งเคยเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของการลงทุนในพลังงานทดแทน ส่วน Healthcare ได้รับผลกระทบจากการตัดลดงบประมาณ Medicaid และ SNAP ซึ่งกระทบต่อรายได้ของผู้ให้บริการสุขภาพโดยตรง

มุมมองรายประเทศ

สหรัฐฯ (Selective Buy): แม้มีความกังวลจากร่างกฎหมายและการถูกลดอันดับเครดิตโดย Moody’s แต่เศรษฐกิจโดยรวมยังแข็งแกร่ง PMI รวมปรับขึ้นสู่ 52.1 ตลาดแรงงานยังคงฟื้นตัวดี และผลประกอบการกลุ่ม Defense และ Technology ออกมาดีกว่าคาด แนะนำ Buy on Dip ในกลุ่มหุ้นที่ได้ประโยชน์จากร่างนโยบายใหม่ ยุโรป (Overweight): แม้ PMI ยังคงต่ำกว่าระดับ 50 และความเสี่ยงภาษีจากสหรัฐฯ ยังไม่หมดไป แต่เงินเฟ้อที่ชะลอลงช่วยให้ ECB มีพื้นที่ผ่อนคลายนโยบายการเงิน มองเชิงบวกแบบระมัดระวังในหุ้นยุโรป โดยเฉพาะในประเทศแกนหลักอย่างเยอรมนีและฝรั่งเศส ญี่ปุ่น (Overweight): แม้ GDP หดตัวใน 1Q25 แต่ภาคธุรกิจยังมีแรงส่งจากการส่งออกรถยนต์และเทคโนโลยี ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เริ่มลดวงเงินซื้อพันธบัตร (tapering) อย่างระมัดระวัง ซึ่งสะท้อนความพยายามเข้าสู่ policy normalization โดยไม่กระทบเสถียรภาพของตลาด จีน (Overweight เฉพาะ H-shares): กลุ่ม H-shares ได้แรงหนุนจากเทรนด์ AI, Semiconductor และโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ประกอบกับมาตรการเปิดเสรีด้านการเงิน มองบวกต่อหุ้นจีนที่เชื่อมโยงตลาดโลก ขณะที่กลุ่ม A-shares ยังฟื้นตัวจำกัดจากแรงกดดันภาคอสังหาริมทรัพย์และกำลังซื้อภายในประเทศที่ยังไม่ฟื้นเต็มที่ EM (Neutral): ตลาดเกิดใหม่ เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม ยังคงมีศักยภาพการเติบโตจากการบริโภคภายในประเทศ และการย้ายฐานการผลิตจากจีน แต่ยังต้องเผชิญแรงกดดันจากอัตราดอกเบี้ยโลก และนโยบายการค้าระหว่างประเทศที่ยังไม่แน่นอน 

ร่างกฎหมาย One Big Beautiful Bill Act ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือด้านนโยบายการคลังของสหรัฐฯ แต่สะท้อนถึงการยกระดับ “สงครามเศรษฐกิจเชิงโครงสร้าง” กับประเทศคู่ค้าอีกด้วย ซึ่งมีแนวโน้มกระทบห่วงโซ่อุปทานโลกและการเคลื่อนย้ายเงินทุนในระยะกลาง ในระยะสั้นตลาดทุนยังมีความผันผวนสูง นักลงทุนควรประเมินความเสี่ยงเชิงระบบอย่างรอบคอบ และจัดพอร์ตโดยให้น้ำหนักกับสินทรัพย์ที่มีภูมิคุ้มกันเชิงนโยบาย ทั้งในระดับประเทศ รายอุตสาหกรรม