3 คำกับการลงทุนปี 2566 “เสี่ยงต่ำก่อน”

3 คำกับการลงทุนปี 2566 “เสี่ยงต่ำก่อน”

สวัสดีปี 2566 ท่านผู้อ่านทุกท่าน ดิฉันหวังว่าปีเถาะนี้ จะเป็นปีที่ท่านสามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนได้ตามที่คาดหวังไว้

ซึ่ง SCB CIO ของเราประเมินการลงทุนปีนี้ไว้ว่า มีแนวโน้มที่ดีกว่าปี 2565 แม้ว่าระหว่างปี อาจเจอความไม่แน่นอนบ้าง ซึ่งถ้าเราวางแผนให้ดี ไม่ว่าสถานการณ์ไหน เราก็จะสามารถผ่านพ้นและบรรลุเป้าหมายการลงทุนได้

เมื่อวิเคราะห์ ประเด็นที่ผู้ลงทุนต้องจับตาในปีนี้ พบว่า มี 5 เรื่อง เรื่องแรก อัตราเงินเฟ้อลดลงช้าและยังเกินเป้าหมาย ทำให้ธนาคารกลางหลักๆ ยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ปรับขึ้นในอัตราที่ช้าลง เรื่องที่สอง เศรษฐกิจประเทศหลักๆ ชะลอตัวลง อย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ตลาดกังวลกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย

เรื่องที่สาม การเปิดประเทศของจีนมีพัฒนาการดีขึ้น เมื่อจีนให้ผู้ที่เดินทางเข้าจีนไม่ต้องกักตัว ตั้งแต่ 8 ม.ค. 2566 เป็นต้นไป แต่ก็อาจนำไปสู่การระบาดที่เร่งตัวขึ้นตามมา เรื่องที่สี่ ความไม่แน่นอนด้านภูมิรัฐศาสตร์และนโยบายประเทศต่างๆ ที่ทำให้ตลาดเงินโลกผันผวนได้ และ เรื่องที่ห้า การเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทานการผลิตของโลกที่มีแนวโน้มเกิดเร็วขึ้น จากประเด็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) มากขึ้น และการใช้นวัตกรรมดิจิทัล

     เมื่อทั้ง 5 เรื่องนี้ เป็นโจทย์ใหญ่ประจำปี เราจึงขอสรุป 3 คำ สำหรับการลงทุนปีนี้ว่า “เสี่ยงต่ำก่อน” โดยการจัดพอร์ตลงทุน ควรเน้นสินทรัพย์คุณภาพสูง เพื่อสร้างผลตอบแทนจากกระแสเงินสด (Yield) แทนการเน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อหวังผลตอบแทนในรูปกำไรจากการลงทุน (Capital Gain) โดยมีกลยุทธ์ในการลงทุน ดังนี้

บนประเด็นความไม่แน่นอนที่ยังอยู่ในระดับสูง จึงควรถือเงินสดหรือสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำในสัดส่วน 5-15% ของพอร์ต เช่น กองทุนตราสารตลาดเงิน (มันนี่ มาร์เก็ต) หรือกองทุนตราสารหนี้แบบกำหนดอายุโครงการ (เทอมฟันด์) เพื่อรอจังหวะเหมาะสมก่อนกลับเข้าลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง นอกจากนี้ เรามองด้วยว่า ด้วยเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มทยอยปรับตัวลง ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ย และ ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจชะลอตัวเพิ่มสูงขึ้น การลงทุนบนตราสารหนี้ โดยเฉพาะในพันธบัตรหรือหุ้นกู้คุณภาพสูงที่มีอายุเฉลี่ยยาวขึ้น ถือเป็นทางเลือกที่ดี

การลงทุนในตลาดหุ้น เรามีมุมมอง Neutral โดยผู้ลงทุนต้องระวังประเด็นกับดักด้านมูลค่า (Valuation trap) มากขึ้น เพราะอาจเห็นราคาหุ้นปรับลดลงมาค่อนข้างมาก จึงคิดว่าเป็นโอกาสซื้อของถูก แต่ราคาหุ้นนั้นอาจไม่ได้ถูกจริงๆ เพราะความสามารถในการทำกำไรในอนาคตอาจปรับลดลงได้

ทั้งนี้ ถ้าเจาะลึกหุ้นรายประเทศ เรามีมุมมอง Slightly Positive กับตลาดหุ้นไทย จากกำไรต่อหุ้นมีแนวโน้มเติบโตดี รับเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเร่งตัวดีขึ้นตามการท่องเที่ยว จากประเด็นจีนเปิดประเทศเร็วกว่าคาด และไตรมาสแรก ยังมีปัจจัยหนุนจากมาตรการชอปดีมีคืน นอกจากนี้ มีมุมมอง Slightly Positive กับตลาดหุ้นอินโดนีเซีย ที่แม้ระยะต่อไปราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะอ่อนตัว แต่การใช้จ่ายในประเทศ การลงทุน และกำลังซื้อของประชากรจำนวนมาก จะช่วยหนุนเศรษฐกิจและผลการดำเนินงานยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง

 เรามีมุมมองที่ดีขึ้นกับตลาดหุ้นจีน หลังจีนเร่งเปิดประเทศ โดย เรามีมุมมอง Positive กับตลาดหุ้นจีน A-Shares เพราะมีแรงหนุนจาก แนวโน้มการออกมาตรการกระตุ้นการบริโภค การเร่งผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้บรรยากาศการลงทุนหุ้นจีนกลับมาดีขึ้น แม้การที่จีนเปิดเมืองเร็วกว่าคาด อาจนำไปสู่การระบาดที่เร่งตัวขึ้นก็ตาม

นอกจากนี้ เรามี มุมมอง Slightly Positive กับ ตลาดหุ้นจีน H-Shares เนื่องจาก จะได้รับประโยชน์จากแนวโน้มการเปิดเมืองของจีน ความเสี่ยงการเพิกถอนบริษัทจีนออกจากการจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ (ADR Delisting) ปรับลดลงมาก และความไม่แน่นอนด้านกฎระเบียบบนกลุ่มแพลตฟอร์มลดลง ทำให้ตลาดฯ มีความน่าสนใจลงทุนมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ตลาดฯ ยังเผชิญปัจจัยกดดันจากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ – จีน ที่ยังอยู่

ด้านการลงทุนสินทรัพย์ทางเลือก เรามีมุมมอง Slightly Positive ต่อ น้ำมัน เพราะราคาน้ำมันโลกยังมีโอกาสปรับขึ้นได้ จากการเปิดเมืองของจีน และการที่กลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน OPEC+ ลดกำลังการผลิตลง 2 ล้านบาร์เรล/วัน ไปจนถึงสิ้นปี 2566

โดยรวม การลงทุนกับความผันผวนเป็นของคู่กัน สิ่งสำคัญคือ การเตรียมตัวที่ดี จัดพอร์ตให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่รับได้และเป้าหมายในการลงทุน เลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีอนาคต ในจังหวะเวลาที่เหมาะสม และปรับพอร์ตให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพียงเท่านี้ ก็จะบรรลุเป้าหมายผลตอบแทนที่ต้องการได้ในที่สุด