6 ความเสี่ยงสำคัญในตลาดการเงินโลกที่ยังต้องจับตามอง ตอนที่ 1

6 ความเสี่ยงสำคัญในตลาดการเงินโลกที่ยังต้องจับตามอง ตอนที่ 1

ยังคงต้องจับตาดูกันต่อกับภาวะเศรษฐกิจโลก นโยบายการเงิน แนวโน้มเงินเฟ้อ และปัญหาการเมืองระหว่างประเทศแม้จะเข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2022

แต่ก็ดูเหมือนว่าความไม่แน่นอนที่มีมาตลอดทั้งปียังไม่น่าจะจบลงง่ายๆ และน่าจะต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้าอย่างแน่นอน โดยความเสี่ยงสำคัญๆ ที่จะมีผลกระทบต่อตลาดการเงินทั้งทางตรงและทางอ้อมที่เรายังคงต้องติดตามกันอย่างต่อเนื่องแบ่งออกเป็น 6 เรื่องหลักๆ ได้แก่

ความไม่แน่นอนของนโยบายการเงินและการคาดการณ์เงินเฟ้อ (Inflation Expectation) ที่ยังอยู่ในระดับสูง นับว่าเป็นปัจจัยหลักที่ยังคงสร้างแรงกดดันให้ตลาดการเงินผ่านช่องทางความไม่แน่นอนของนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในสหรัฐฯ และแม้ว่าปัจจุบันตัวเลขเงินเฟ้อดูเหมือนว่าจะไม่เร่งตัวขึ้นอีก แต่ก็ยังเร็วเกินไปมากที่จะสรุปว่าปัญหาเรื่องแรงกดดันเงินเฟ้อทุเลาลงแล้ว ซึ่งหากประเด็นเรื่องเงินเฟ้อยังคงสร้างความไม่แน่นอนให้กับนโยบายการเงินในอนาคต

 ก็คงยากที่ความผันผวนในตลาดเงินจะลดลง โดยเฉพาะในตลาดพันธบัตรและอัตราแลกเปลี่ยนที่ในปีนี้ดูจะผันผวนมากเป็นพิเศษ ปัญหาของวัฏจักรของนโยบายการเงินในปัจจุบันส่วนนึงอาจจะมาจากการที่นโยบายเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาอันสั้น ทำให้การปรับตัวของสินทรัพย์ต่างๆ ดูจะรุนแรงกว่าภาวะปรกติอย่างมีนัยสำคัญ 

 เพราะต้องยอมรับกันว่านโยบายดอกเบี้ยต่ำ และการอัดฉีดสภาพคล่องผ่านนโยบายผ่อนคลายพิเศษต่างๆ มีส่วนสำคัญที่ทำให้ราคาสินทรัพย์ต่างๆ ปรับตัวสูงขึ้นมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นสินทรัพย์ที่แท้จริง (Real Asset) เช่น อสังหาริมทรัพย์ หรือ สินทรัพย์ทางการเงิน (Financial Asset) ดังนั้นการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมทางการเงินในระยะเวลาเพียงไปถึงปี ย่อมส่งผลให้เกิดความไม่มั่นใจและความไม่แน่นอนอย่างมาก

เศรษฐกิจยุโรปและความเปราะบางของประเทศในยุโรป (Fragmentation Risk) ปัญหาความเปราะบางของเศรษฐกิจยุโรป รวมถึงประเด็นทางด้านการขาดแคลนและต้นทุนพลังงานทำให้ความเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยในยุโรปดูจะเด่นชัดกว่าประเทศหลักอื่นๆ โดยเมื่อความเสี่ยงในภาพรวมของเศรษฐกิจสูงขึ้น กลุ่มประเทศยุโรปมักจะประสบปัญหาเรื่องของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างกลุ่มประเทศหลัก เช่น เยอรมนี กับประเทศที่มีความเปราะบาง เช่น อิตาลีและสเปน ที่เพิ่มสูงขึ้น

 สะท้อนความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น โดยการเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยทำให้รัฐบาลที่มีภาระหนี้ที่สูงมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในการชำระหนี้ และสุดท้ายอาจนำมาซึ่งความไม่มั่นใจในความสามารถในการชำระหนี้ หรือทำให้ระดับหนี้เร่งตัวขึ้นจนเข้าสู่ระดับที่เริ่มไม่มีเสถียรภาพ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นในทางใดย่อมไม่ส่งผลดีต่อทั้งกลุ่มประเทศยุโรปและเศรษฐกิจโลกด้วย โดยความเสี่ยงดังกล่าวนับได้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่สามารถมองข้ามได้ เมื่อพิจารณาเหตุการณ์ European Sovereign Debt Crisis ที่เคยเกิดขึ้นนช่วงปี 2011-2013

ความเปราะบางของสถาบันการเงินในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ในรอบนี้แม้ว่าปัญหาเรื่องของแรงกดดันเงินเฟ้อและความไม่แน่นอนของนโยบายการเงินส่วนใหญ่จะเกิดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว แต่ประเทศกำลังพัฒนาเองก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความผันผวนในตลาดการเงิน การเคลื่อนย้ายเงินทุน แนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง 

รวมถึงการรับแรงกดดันของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยและการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่แต่ละเศรษฐกิจมีความสามารถในการรองรับเรื่องดังกล่าวที่แตกต่างกัน ความผันผวนของค่าเงินที่ส่งผลประทบต่อเศรษฐกิจ รวมถึงความเข้มแข็งของสถาบันการเงินด้วย โดยผลการทำ Stress Test ของ IMF 

สำหรับกรณีที่รุนแรง ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพคล่องของตลาดการเงินอย่างรวดเร็ว (Sharp Tightening of Financial Conditions) และเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย (Global Recession) สะท้อนว่าธนาคารในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา 29% อาจะมี Common Equity Tier 1 Ratio (เงินกองทุนขั้นที่ 1 ที่เป็นสัดส่วนของเจ้าของต่อสินทรัพย์เสี่ยง) ต่ำกว่าเกณฑ์การกำกับดูแลเงินกองทุน Basel III ที่ 4.5% เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วที่มีเพียง 3% 

 สะท้อนให้เห็นว่าหากเกิดเหตุการณ์รุนแรง อาจมีธนาคารราว 1/3 ที่มีความเสี่ยงต่อการล้มละลาย หรือ อาจนำมาซึ่งปัญหา Bank Run ได้ แม้ส่วนใหญ่จะเป็นประเทศขนาดเล็กและอยู่ในกลุ่ม Frontier Market แต่เราน่าจะเคยได้เห็นแล้วจากอดีตว่าปัญหาในประเทศหนึ่งอาจลุกลามไปยังประเทศอื่นได้โดยง่ายผ่านธุรกรรมทางการเงินระหว่างกันในรูปแบบต่างๆ รวมถึงความผันผวนในตลาดการเงินที่น่าจะเพิ่มขึ้นมากได้เช่นกัน

ทั้ง3ประเด็นล้วนแล้วแต่มีความสัมพันธ์และเกี่ยวโยงกันซึ่งจะมีส่วนสำคัญต่อการกำหนดทิศทางของตลาดการเงินในช่วงที่เหลือรวมถึงต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้าด้วย ส่วนอีก 3 ประเด็นที่เหลืออาจจะต้องยกยอดไปยังสัปดาห์หน้าครับ …..

 

หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด