การลงทุนหุ้นกู้ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น

แนวโน้มดอกเบี้ยในบ้านเราที่เริ่มจะขยับขึ้นหลังจากไม่ได้อยู่ในวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นมากว่าสิบปี ทำให้ตลาดหุ้นกู้ในปีนี้กลับมาคึกคัก ทั้งจากทางฝั่งผู้ออกตราสาร โดยเฉพาะในกลุ่มบริษัทต่างๆ ที่เร่งออกหุ้นกู้เผื่อรักษาระดับต้นทุนทางการเงิน ส่วนนักลงทุนก็มีทางเลือกให้เลือกหลากหลายมากขึ้น 

ประกอบกับตลาดหุ้นกู้ที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับจังหวะของการลงทุน และการคัดเลือกหุ้นกู้เอกชนต่างๆ ในช่วงของดอกเบี้ยขาขึ้น ว่าควรจะลงทุนเมื่อไร หรือจะลงทุนกี่ปีถึงจะเหมาะสมดี .. วันนี้ลองพักจากตลาดหุ้นกับการลงทุนต่างประเทศที่มีแรงกดดันอย่างต่อเนื่อง มาทบทวนเรื่องของพันธบัตรและหุ้นกู้ ซึ่งไม่ว่าเราจะรับความเสี่ยงได้ในระดับใด ก็ยังคงเป็นส่วนสำคัญของพอร์ตการลงทุนของคนส่วนใหญ่กันครับ

เราจะเลือกลงทุนหุ้นกู้อย่างไรดีในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น ควรจะรอให้ดอกเบี้ยขึ้นก่อนแล้วค่อยเริ่มลงทุน หรือถ้าจะลงทุนควรจะลงทุนในหุ้นกู้อายุกี่ปีถึงจะเหมาะสมสอดคล้องกับวัฏจักรขาขึ้นในรอบนี้ ..

คำตอบต่อคำถามเหล่านี้ไม่มีสูตรสำเร็จ แต่ต้องขึ้นอยู่กับมุมมองทางด้านดอกเบี้ยของผู้ลงทุนเอง รวมถึงพอร์ตการลงทุนที่มีอยู่ด้วย โดยราคาของตราสารหนี้ที่จ่ายดอกเบี้ยแบบคงที่ตลอดอายุของตราสาร ไม่ว่าจะเป็น พันธบัตรรัฐบาลหรือหุ้นกู้เอกชนจะถูกกำหนดด้วยปัจจัย 3 ประการ ได้แก่ (1) คูปอง (2) อายุของหุ้นกู้ และ (3) อัตราดอกเบี้ยในท้องตลาด

  โดยสองส่วนแรกเป็นปัจจัยคงที่ ส่วนสำคัญที่เปลี่ยนตลอดเวลาคือเรื่องของดอกเบี้ยในท้องตลาดที่ขึ้นลงตามตัวเลขเศรษฐกิจและมุมมของนักลงทุน ทำให้ราคาของหุ้นกู้ก็จะขึ้นๆ ลงๆ ตามไปด้วย โดยแนวโน้มดอกเบี้ยมีทั้งระยะสั้นที่สะท้อนความเป็นไปได้ของนโยบายการเงิน และระยะยาวที่สะท้อนแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจและการคาดการณ์เงินเฟ้อรวมอยู่ด้วย 

ดังนั้นข้อมูล ณ ปัจจุบัน รวมถึงแนวโน้มดอกเบี้ยในอนาคตก็จะสะท้อนอยู่บนเส้นผลตอบแทนพันธบัตร (Yield Curve) อยู่แล้ว ทำให้เราไม่จำเป็นต้องรอจนดอกเบี้ยขึ้นสูงที่สุดถึงเข้าลงทุน เนื่องจากการรอก็มีต้นทุนในส่วนของค่าเสียโอกาสจากดอกเบี้ยที่เราควรได้รับจากการลงทุน สองปัจจัยนี้ต้องมีความสมดุลกันระหว่างแนวโน้มดอกเบี้ยและต้นทุนค่าเสียโอกาส 

ทำให้นักลงทุนอาจจะต้องมีมุมมองด้านดอกเบี้ยในภาพกว้างว่าดอกเบี้ยจะขึ้นมากและเร็วหรือช้าแค่ไหนถึงจะสามารถกำหนดกลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะสมได้ ซึ่งปัจจุบันความรู้ในด้านนี้ก็หาไม่ยากตามแหล่งข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารหรือตัวแทนที่นักลงทุนติดต่ออยู่เป็นประจำ

นอกจากนั้น จะลงทุนในพันธบัตรอายุกี่ปีก็จำเป็นจะต้องพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ประกอบไปด้วยทั้งในเรื่องของภาพรวมของพอร์ตการลงทุน ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ การกระจุกตัวของอุตสาหกรรม และเรื่องของอัตราดอกเบี้ยส่วนเพิ่มที่ได้รับจากการลงทุนในพันธบัตรที่ยาวขึ้นเนื่องจากผุ้ลงทุนต้องรับความเสี่ยงด้านการผิดนัดชำระหนี้และสภาพคล่องที่เพิ่มมากขึ้น เป็นต้น

ในส่วนของช่องทางการซื้อขาย แม้ในช่วงที่มีการเร่งระดมทุนของบริษัทต่างๆ จากดอกเบี้ยขาขึ้น แต่หากไม่สามารถหาหุ้นกู้ในตลาดแรก (Primary Market) ที่ต้องการได้ การหาจากตลาดรอง (Secondary Market) ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจไม่แพ้กัน แม้จะมีต้นทุนแฝงที่มากขึ้นก็ตาม การซื้อขายหุ้นกู้ในตลาดรอง (Secondary Market) คือ การซื้อขายเปลี่ยนมือระหว่างผู้ลงทุนด้วยกันเอง นั้นทำได้เช่นเดียวกับตลาดแรก (Primary Market) ซึ่งนักลงทุนไม่ว่าจะเป็นรายย่อยหรือรายใหญ่สามารถลงทุนได้ผ่านทางตัวแทน เช่น บริษัทหลักทรัพย์ หรือ ธนาคารชั้นนำต่างๆ ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวกลาง

โดยการซื้อขายเมื่อมีตัวกลางในการซื้อขายก็จะมีต้นทุนของตัวกลางซึ่งมักจะรวมอยู่ในราคา หรือ Yield-to-Maturity (YTM) ของหุ้นกู้ที่นักลงทุนได้รับการเสนอ ซึ่งธรรมชาติของตัวกลางคือการซื้อมาขายไป โดยซื้อที่ราคาต่ำและเพิ่มราคาเข้าไปเล็กน้อย (YTM ต่ำลง) และขายให้กับผู้ซื้อ ซึ่งราคาส่วนเพิ่มจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสภาพคล่องของหุ้นกู้รุ่นนั้นๆ ขนาดของการลงทุนของเรา (เช่น เมื่อเราต้องการซื้อเยอะก็อาจจะได้ที่ราคาถูกลง หรือ YTM สูงขึ้นเล็กน้อย) 

ความผันผวนของดอกเบี้ยในขณะนั้นๆ (ในขณะที่ซื้อมาแล้วยังขายไม่ได้ ทำให้ตัวกลางอาจจะเกิดความเสี่ยงด้านราคาของหุ้นกู้) และอันดับความน่าเชื่อถือ เป็นต้น ซึ่งทำให้ผู้ลงทุนอาจจะต้องเทียบราคาซึ่งสามารถทำให้หลายลักษณะ เช่น เทียบราคากับตัวแทนอื่นๆ

เทียบราคากับแหล่งข้อมูลที่เป็นกลาง เช่น สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (Thai Bond Market Association) หรือ เทียบกับหุ้นกู้รุ่นที่มีลักษณะใกล้เคียงกันในแง่ของ อายุ อุตสาหกรรมและอันดับความน่าเชื่อถือ แต่ไม่ควรเทียบกับดอกเบี้ยที่เคยได้ในอดีตเนื่องจากผลตอบแทนของหุ้นกู้ก็เปลี่ยนแปลงไปตามวัฏจักรของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม รวมถึงดอกเบี้ยในท้องตลาดด้วย

ดอกเบี้ยขาขึ้นน่าจะช่วยเพิ่มผลตอบแทนได้บ้างสำหรับการลงทุนที่จะเกิดขึ้น แม้จะไม่ทั้งหมดแต่ก็มีส่วนช่วยบางส่วนสำหรับชดเชยกำลังซื้อที่หดหายไปจากเรื่องของเงินเฟ้อ และหากเงินเฟ้อปรับลดลงในอนาคตก็จะเพิ่มความน่าสนใจของหุ้นกู้เพิ่มเติมขึ้นไปอีกครับ

หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด