เพิ่มทางเลือกการลงทุน เมื่อศึกสู้เงินเฟ้อยังไม่จบ

เพิ่มทางเลือกการลงทุน เมื่อศึกสู้เงินเฟ้อยังไม่จบ

ดูเหมือนว่าศึกการต่อสู้ระหว่างธนาคารกลางกับเงินเฟ้อครั้งนี้ จะยืดเยื้อกว่าที่ประเมินไว้ เพราะ ล่าสุดเงินเฟ้อสหรัฐ เดือนสิงหาคม อยู่ที่ 8.3% แม้ว่าจะปรับลงจากจุดสูงสุดที่ 9.1% ในเดือนมิถุนายน แต่ยังสูงกว่าที่ตลาดคาด จากราคาสินค้า และบริการต่างๆ ที่ยังคงปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง สวนทางกับราคาน้ำมันที่เริ่มปรับตัวลงบ้าง

ด้วยเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมเดือนกันยายน ที่ผ่านมา นับเป็นการขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ติดต่อกันถึง 3 ครั้ง พร้อมส่งสัญญาณว่าจะยังคงเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย จนกว่าจะสามารถควบคุมเงินเฟ้อให้กลับมาสู่ระดับเป้าหมายได้ โดย FED คาดการณ์ดอกเบี้ยนโยบาย ณ สิ้นปี 2022 ที่ 4.40% และจะทำจุดสูงสุดในปี 2023 ที่ระดับ 4.60% (อ้างอิง FED Dot Plot ณ วันที่ 21 กันยายน) สูงกว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ว่าดอกเบี้ยจะทำจุดสูงสุดที่ 3.80%

ทำให้การลงทุนในตราสารหนี้เผชิญความท้าทายอย่างมาก ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ อายุ 2 ปี พุ่งขึ้นสูงเหนือระดับ 4.1% นับเป็นจุดสูงสุดตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2007 ส่วนพันธบัตรอายุ 10 ปี ปรับขึ้นแตะระดับสูงกว่า 3.5% เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2011 ด้วยบอนด์ยีลด์ที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ราคาตราสารหนี้ดิ่งลงไม่แพ้หุ้น โดยพันธบัตรรัฐบาลทั่วโลก (อ้างอิงดัชนี Bloomberg Global Aggregate Treasuries Total Return Index) ปรับตัวลงเกือบ -20% ตั้งแต่ต้นปี (ข้อมูล ณ วันที่ 21 กันยายน)

อีกหนึ่งทางเลือกการลงทุนในภาวะตลาดเช่นนี้คือ หุ้นกู้แปลงสภาพโดยมีเงื่อนไข (Contingent Convertible Bond หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า CoCo Bond) ที่ออกโดยสถาบันการเงินหรือบริษัทประกัน และหุ้นกู้ประเภทนี้มีกลไกการแปลงหนี้เป็นหุ้นสามัญโดยอัตโนมัติ เมื่อเข้าเงื่อนไขที่กำหนดไว้ล่วงหน้า (Trigger event) เช่น เมื่อสถาบันการเงินประสบปัญหาทางการเงินทำให้สัดส่วนเงินทุนปรับลงต่ำกว่าที่กำหนดไว้ โดยสาเหตุที่เรามองว่า CoCo Bond น่าสนใจลงทุน ได้แก่

  1. ฐานะการเงินของสถาบันการเงินทั่วโลกอยู่ในเกณฑ์แข็งแกร่ง หลังจากที่เผชิญวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008 และวิกฤติหนี้ยุโรปในปี 2011 ทำให้หน่วยงานที่กำกับดูแลสถาบันการเงินได้ออกข้อบังคับเข้มงวดมากขึ้น และมีการทดสอบ Stress Test อย่างสม่ำเสมอเพื่อให้มั่นใจว่าธนาคารพาณิชย์มีอัตราเงินทุนที่เพียงพอต่อการรองรับวิกฤติทางการเงิน เช่น ธนาคารในยุโรปตะวันตก มีค่าอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (Common equity tier1: CET1) ปรับเพิ่มขึ้นจากปี 2010 ที่ 9.5% เป็น 15.10% ณ สิ้นปี 2021

2.Credit Spread หรือส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยของ CoCo Bond เมื่อเทียบกับพันธบัตรรัฐบาลอยู่ในระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ทำให้ผู้ลงทุนมีโอกาสได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นจากทั้งอัตราดอกเบี้ย และผลตอบแทนด้านราคาที่จะปรับเพิ่มขึ้น หาก Credit Spread ปรับตัวลง

3.ความเสี่ยงด้านราคาน้อยกว่า เนื่องจาก CoCo Bond เป็นหุ้นกู้ที่จ่าย Coupon หรือจ่ายดอกเบี้ยสูง ในขณะที่มีโอกาสถูกไถ่ถอนคืนก่อนครบกำหนด ทำให้มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของบอนด์ยีลด์น้อยกว่า โดยตั้งแต่ต้นปี CoCo Bond ปรับตัวลงเพียง -14% เมื่อเทียบกับหุ้นกู้ระดับความน่าเชื่อถือสูง (Investment grade) และหุ้นกู้ผลตอบแทนสูง (High Yield) ที่ปรับลงถึง -19% และ -16% ตามลำดับ

ทั้งนี้การลงทุนใน CoCo Bond มีความเสี่ยงคือ ต้องเป็นเจ้าหนี้โดยไม่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุด หรือจนกว่าผู้ออกจะขอไถ่ถอนคืนตราสารดังกล่าวก่อนครบกำหนดเอง ซึ่งมักจะเป็นระยะเวลา 5 ปีนับจากวันที่ออกตราสาร และมีโอกาสที่จะไม่ได้รับดอกเบี้ยตามที่ระบุไว้ หากสถาบันการเงินมีผลประกอบการที่ย่ำแย่ รวมถึงยังมีโอกาสที่จะถูกเปลี่ยนจากหนี้เป็นทุนโดยอัตโนมัติ เพื่อแลกกับความเสี่ยงดังกล่าวการลงทุนใน CoCo Bond จึงได้รับอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าหุ้นกู้ทั่วไปอย่างมีนัยสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น CoCo Bond ของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ของไทย ให้ผลตอบแทนถึง 6-8% (ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ) ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ขายในประเทศไทยให้ดอกเบี้ยเพียงราว 3-4% (ในสกุลเงินบาท)  

เนื่องจากการลงทุนใน CoCo Bond ถือเป็นการลงทุนที่ค่อนข้างซับซ้อน ผู้ลงทุนรายย่อยสามารถเข้าถึงได้ยาก ต่างจากหุ้นกู้บริษัทเอกชนทั่วไป จึงแนะนำลงทุนผ่านกองทุนรวมที่มีผู้เชี่ยวชาญคอยเลือกลงทุนในหุ้นกู้ของบริษัทผู้ออกที่ฐานะการเงินแข็งแกร่ง พร้อมทั้งเพิ่มโอกาสการลงทุนที่หลากหลาย กระจายไปในหลายประเทศทั่วโลก

 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์