จุดต่ำสุดไม่ใช่คำตอบ เล็งหาจังหวะเหมาะ กลับเข้าลงทุนสหรัฐ

จุดต่ำสุดไม่ใช่คำตอบ เล็งหาจังหวะเหมาะ กลับเข้าลงทุนสหรัฐ

ผมวิเคราะห์การลงทุนที่จีนเมื่อฉบับที่แล้ว ฉบับนี้ผมขยับมาสหรัฐ ที่กำลังตกอยู่ในสปอตไลท์ตอนนี้ หลายคนวิตกว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะถดถอยถึงขั้นวิกฤติ

แต่ผมมองว่ารอบนี้แตกต่างจากรอบโควิดและรอบวิกฤตเศรษฐกิจ subprime crisis เพราะ 2 เหตุการณ์นี้เรียกว่า ‘Shock’ ส่วนใหญ่ไม่ได้คาดคิด เหตุการณ์เกิดฉับพลัน ตั้งตัวไม่ทัน มารอบนี้ เศรษฐกิจสหรัฐค่อยๆ ชะลอตัว อย่างค่อยเป็นค่อยไป บริษัทและผู้บริโภคยังพอมีเวลาเตรียมตัวตั้งรับ เห็นได้จากภาคสินค้าฟุ่มเฟือยเริ่มปรับตัวรับความต้องการจากผู้บริโภคที่ลดลง ปรับตัวลดราคาสินค้า ขายสินค้าคงคลังออกยอมเสียมาร์จิ้นเพื่อแลกกับกระแสเงินสด

อัตราการว่างงานสหรัฐยังยังต่ำที่  3.7% อย่างไรก็ตามเห็นชัดเจนว่า FED เต็มใจที่จะเสียสละการเติบโตทางเศรษฐกิจเพื่อแลกกับเสถียรภาพของราคา (price stability) ด้านนักลงทุน คำถามในใจนักลงทุนคือ เมื่อไหร่จะถึงจุดต่ำสุด และถึงช่วงเวลาของการกลับเข้าไปลงทุนสหรัฐได้ 

 

บางคนเข้าใจไปว่า ต้องรอให้เฟดขึ้นดอกเบี้ยให้สุดก่อน ผลกระทบจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยจึงเกิดขึ้น เศรษฐกิจชะลอตัวถึงจุดต่ำสุด ถึงจะเป็นจังหวะกลับเข้าลงทุนได้ แต่อันที่จริงไม่ใช่อย่างนั้นครับ เราไม่ควรรอผลลัพธ์ เพราะการ “รอ” อาจ “พลาด” โอกาสการลงทุนได้ ยุทธศาสตร์การลงทุนของเราที่อยากแนะนำคือ จับตาผลกระทบของอัตราดอกเบี้ย FED ซึ่งถูกปรับให้สูงขึ้นรวดเร็วและรุนแรงอย่างเมื่อเทียบกับช่วงต้นปีซึ่งคาดว่าจะเกินกว่า 4% ภายในสิ้นปีนี้ ต่อกำไรของบริษัทสหรัฐและvaluations ของบริษัทเหล่านี้

ปัจจัยและตัวเลขที่น่าจับตาที่พอจะเป็นดัชนีบ่งบอกได้ อยู่ที่ 2 ตัวเลขสำคัญ คือ 1. ตัวเลข CPI (Consumer Price Index หรือ ดัชนีราคาผู้บริโภค)  และ 2. รายได้บริษัทจดทะเบียน

 

 

จับตาดูว่า CPI ยังจะขึ้นรุนแรงอยู่ไหม CPI เดือนก.ค. ที่เคยพุ่งขึ้น 8.5% เดือนส.ค. 8.3% (ลดลงเล็กน้อย) ตลาดคาดว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% เพื่อคุมเงินเฟ้อต่อ ในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย.นี้ จึงมีความหวังกันว่า หลังเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยแรงจะส่งผลให้ CPI จะปรับตัวลดลงเร็วเกินคาดจากภาวะเศรษฐกิจสหรัฐที่จะชะลอตัวลงต่อ รวมถึงโอกาสที่ FED ปรับขึ้นอัตราอัตราดอกเบี้ยมากเกินไปซึ่งอาจจะทำให้เกิดการกลับด้านโยบายการเงินเร็วกว่าคาด           

 ด้านรายได้ของบริษัทจดทะเบียน หลายบริษัทเริ่มลดการจ้างงานและปรับลดต้นทุนการดำเนินงานลง สะท้อนว่าบริษัทเริ่มเห็นความต้องการสินค้าลดลงแล้ว ไม่มีใครรู้ และบอกได้ รายได้บริษัทจะลดลงไปถึงจุดไหน และเมื่อไหร่ แต่ปัจจุบัน P/E ล่วงหน้า 12 เดือนสำหรับ S&P 500 คือ 16.8 เท่า อัตราส่วน P/E นี้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี (18.6 เท่า) และต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปี (17.0 เท่า) ไปแล้ว

ซึ่งตรงนี้ เราจะไม่แนะนำให้รอแต่จุดต่ำสุดเพราะ 1.) ไม่มีใครรู้ว่าจุดต่ำสุดอยู่ที่ไหน 2.) เพราะจุดต่ำสุดเกิดขึ้นระหว่างทาง ไม่ได้รับประกันว่าจะเกิดขึ้นเกิดเมื่อเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยสู่ระดับสูงสุด และอาจจะไม่ได้เกิดเมื่อรายได้บริษัทจดทะเบียนปรับตัวถึงจุดต่ำสุด เราจึงต้องจับตาตัวเลขสำคัญเหล่านี้และวิเคราะห์ปัจจัยแวดล้อมไปพร้อมกัน เพิ่มเติมคือ จังหวะที่จะกลับเข้าไปลงทุน

เราจะติดตามดู Index Fund ของ S&P500 หรือ Nasdaq เพราะ index เหล่านี้มีความกระจายตัวหลากหลายอยู่ในตัวอยู่แล้ว และเป็นหุ้นที่ใหญ่ เป็นผู้นำในแต่ละ sector ทนแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจได้เยอะกว่า และค่าธรรมเนียมของกองทุนประเภทนี้ค่อนข้างต่ำ สิ่งสำคัญคือ ‘ราคาที่เราจะจ่ายเพื่อลงทุนนั้น Valuation มันต้องใช่’ เพราะว่าถึงแม้บริษัทจะดีแค่ไหน ถ้าซื้อในเวลาที่แพงเกินไป ก็กลายเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าครับ