Exchange/Broker/Dealer คืออะไร และแตกต่างกันอย่างไร

Exchange/Broker/Dealer คืออะไร และแตกต่างกันอย่างไร

หากจะให้พูดถึงการลงทุนที่กำลังเข้ามาเป็นกระแสหลัก “สินทรัพย์ดิจิทัล” คงเป็นชื่อแรกที่นักลงทุนหลายๆ ท่านนึกถึง ด้วยความโดดเด่นเฉพาะตัวที่สามารถ โอน โยกย้าย ทำธุรกรรมในหลายรูปแบบ ได้อย่างอิสระ และรวดเร็วโดยไม่จำเป็นต้องผ่านตัวกลางใดๆ ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลได้รับการจับตามองอย่างมาก

ส่งผลให้เกิดการแข่งขันกันอย่างดุเดือดในอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัล จึงทำให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (“สำนักงาน ก.ล.ต.”) จำเป็นต้องมีมาตรการกำกับดูแลเพื่อจำกัดความเสี่ยงของนักลงทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล โดยสำหรับตัวกลางที่เป็นผู้ให้บริการเกี่ยวกับการซื้อ ขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล มีใบอนุญาตหลักๆ ดังนี้

1) ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) หรือที่เรียกว่า “กระดานเทรด เป็นศูนย์กลางหรือเครือข่ายในการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล โดยการจับคู่หรือหาคู่สัญญาให้ หรือการจัดระบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ที่ต้องการจะซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล สามารถทำความตกลงหรือจับคู่กันได้โดยทำเป็นทางค้าปกติ

ตัวอย่างกระดานเทรดในต่างประเทศและในประเทศไทยทั่วไปที่เรารู้จักกันดี เช่น Coinbase, FTX หรือ ERX ซึ่งทำหน้าที่เสมือนเป็นตัวกลางที่ให้สมาชิกเข้าไปทำการเสนอซื้อหรือเสนอขายสินทรัพย์ดิจิทัลระหว่างกันตามตกลง โดยมีการเก็บค่าธรรมเนียมในการซื้อขายซึ่งคล้ายกับตลาดซื้อขายของอุปโภคบริโภค

2) นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Broker) เป็นผู้ให้บริการที่มีลักษณะเป็นนายหน้าหรือตัวแทน เพื่อซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลให้แก่บุคคลอื่น เป็นทางค้าปกติและได้รับค่าธรรมเนียมหรือค่าตอบแทน โดยอาจจะส่งคำสั่งไปยังศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัลก็ได้ ซึ่งจะแตกต่างกับศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล เนื่องจากไม่ได้เป็นการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลระหว่างกันภายในแพลตฟอร์มของศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล แต่จะเป็นการที่นายหน้าส่งคำสั่งซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลหรือเงินสดของสมาชิกเพื่อสร้างธุรกรรมกับคู่ค้าหรือบุคคลอื่น และเนื่องจากสินทรัพย์ดิจิทัลมีสภาพคล่องที่สูงและเป็นสากลจึงทำให้สามารถเชื่อมต่อกับคู่ค้าหรือบุคคลอื่นได้ทั่วทุกมุมโลก

กล่าวคือนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการรับส่งคำสั่งซื้อ-ขายหรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลตามการสั่งซื้อของสมาชิก ซึ่งการดำเนินธุรกิจในรูปแบบนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล จะมีความยืดหยุ่นที่สูงกว่าศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล เนื่องจากนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไม่จำเป็นต้องซื้อขายภายในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลเพียงแพลตฟอร์มเดียว แต่สามารถเลือกนำคำสั่งซื้อไปยังคู่ค้า ซึ่งรวมถึงศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นๆ ได้อย่างอิสระ ทั้งนี้ ในการคัดเลือกศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อมาให้บริการกับสมาชิก จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของสำนักงาน ก.ล.ต. ด้วย

3) ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Dealer) เป็นผู้ให้บริการหรือแสดงความพร้อมในการให้บริการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลในนามของตนเองเป็นทางค้าปกติ โดยกระทำนอกศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล

หากให้อธิบายง่ายๆ คือการตั้งราคาซื้อขายต่อรอง โดยทำธุรกรรมผ่าน ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล หากผู้ซื้อต้องการซื้อสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัลจะเสนอราคาขายสินทรัพย์ดิจิทัลแก่ผู้ซื้อ โดยหากตกลงราคากันได้ ก็สามารถทำการแลกเปลี่ยนกันได้ตามราคาที่ตกลงกัน ซึ่งการให้บริการในรูปแบบผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัลจะมีความยืดหยุ่นมากกว่าการให้บริการในรูปแบบอื่นทั้งในแง่ของราคาขาย และ Volume การซื้อขายที่ไม่จำเป็นต้องรอจับคู่กันในตลาด หรือหากให้อธิบายง่ายๆก็คือการซื้อขายกันนอกกระดานเทรดนั่นเอง

โดยจะเห็นได้ว่ารูปแบบการให้บริการซื้อ-ขาย แลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลในปัจจุบันมีความหลากหลาย และมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ตามความนิยมของอุตสาหกรรมที่คาดว่ากำลังได้รับความสนใจจากทั้งนักลงทุนหน้าใหม่ และหน้าเก่า ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นได้อีกประมาณกว่า 500 ล้านคน ในปี 2030

 ทั้งนี้ตามรายงานของ HSBS Global Research โดย Alex Krüger นักเศรษฐศาสตร์ และนักวิเคราะห์ระดับมหภาค ระบุว่านักลงทุนหน้าใหม่ส่วนมากจะมาจากทวีปเอเชีย และแอฟริกาซึ่งถือว่าเป็นตลาดเกิดใหม่ที่มีทรัพยากร และมีแนวโน้มการเติบโตที่สูง (Emerging Market) อีกทั้งยังมีจำนวนประชากรค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศในทวีปอื่นๆ จึงมองว่าอาจเป็นปัจจัยที่ช่วยผลักดันให้มีการถือครองคริปโทฯ สูงขึ้น หลังจากก่อนหน้านี้ที่นักลงทุนที่ขับเคลื่อนตลาด และลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลส่วนใหญ่จะมาจากทวีปยุโรป และอเมริกา

โดยปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจการซื้อ-ขาย แลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล จากสำนักงานก.ล.ต. ทั้งแบบศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัลแล้วกว่า 20 บริษัท เพื่อให้นักลงทุนได้มีทางเลือกหลากหลายตามความต้องการ ช่วยพัฒนาสังคมการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างยั่งยืน