แนวโน้มของเศรษฐกิจไทยและผลกระทบต่อตลาดหุ้นในปี 2565

แนวโน้มของเศรษฐกิจไทยและผลกระทบต่อตลาดหุ้นในปี 2565

ท่ามกลางความกังวลต่าง ๆ ในปี 2565 ที่กดดันตลาดหุ้น ทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ แต่ทว่า เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มในการฟื้นตัวได้ดีจากฐานที่ต่ำในปี 2564 และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวหลังจากที่มีการกระจายวัคซีนได้ครอบคลุมมากขึ้น โดยปี 2565 ยังคาดว่ายังจะเป็นปีที่ดีของการลงทุนในตลาดหุ้นและสามารถคาดหวังผลตอบแทนที่เป็นบวกได้

 ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ค่อนข้างแตกต่างจากปี 2564 ที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบรุนแรงจากไวรัส Covid-19 สายพันธุ์ Delta ทำให้รัฐบาลใช้มาตรการ Lockdown ถึง 2 ครั้ง รวมถึงอัตราการฉีดวัคซีนของไทยก็ยังไม่ครอบคลุม ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ แม้ว่าจะมีฐานการเติบโตของ GDP ที่ต่ำมากในปี 2563 แต่ตัวเลขการเติบโตของ GDP ในปี 2564 ก็เติบโตเพียง 1.6% 

ในทางกลับกันกิจกรรมทางเศรษฐกิจในปี2565 มีแนวโน้มจะฟื้นตัวได้ดีมากขึ้นจากอัตราการกระจายวัคซีนที่เร่งตัวขึ้น โดยอัตราการฉีดวัคซีนของไทยในปัจจุบันอยู่ในระดับที่ดีมากเมื่อเทียบกับหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก

รวมถึงคาดว่าภาคการท่องเที่ยวจะเริ่มฟื้นตัวช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจตั้งแต่ครึ่งปีหลังเป็นต้นไป ขณะเดียวกัน ปัจจัยทางเศรษฐกิจยังเป็นแรงสนับสนุนให้นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ให้เข้าลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงในปีนี้ อาทิเช่น อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่ยังอยู่ในระดับที่ต่ำมาก อีกทั้งสภาพคล่องในระบบการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง รวมไปถึงกระแสเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติที่จะไหลเข้ามาในกลุ่มประเทศ Emerging มากขึ้น เนื่องจากอัตราการเติบโตของประเทศกลุ่ม Developed ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายก่อนประเทศกลุ่ม Emerging

อย่างไรก็ตาม ในปี 2565 ยังมีปัจจัยเสี่ยงบางเรื่องที่จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ได้แก่ ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัญหาหลักมาจากระดับน้ำมันดิบคงคลังที่น้อยกว่าระดับปกติ กำลังการผลิตสำรองของ OPEC+ ที่อยู่ในระดับต่ำ การลดการลงทุนของบริษัทผลิตและสำรวจปิโตรเลียมในช่วงที่ผ่านมา และ Geopolitical Risk ของกลุ่มประเทศตะวันออกกลางและปัญหารัสเซีย-ยูเครน (ซึ่งปัญหายูเครน หากเกิดสงครามและไม่ขยายวงกว้าง คาดว่าจะมีผลกระทบกับตลาดหุ้นในระยะสั้นเท่านั้น

แต่จะส่งผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์มากกว่า) ส่งผลให้ Supply ของน้ำมันไม่เพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งหากราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นเกิน 110 เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล คาดว่าจะเริ่มส่งผลกระทบอย่างชัดเจนต่อระบบเศรษฐกิจในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่นำเข้าน้ำมันจำนวนมาก อีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยง คือ การทำ Quantitative Tightening ของ Fed ซึ่งสร้างแรงกดดันต่อตลาดหุ้นทั่วโลก

แต่ผลกระทบจาก Quantitative Tightening ต่อตลาดหุ้นไทยคาดว่าจะไม่รุนแรงเหมือนในปี 2561 ที่เศรษฐกิจโลกถูกกระทบจากปัญหาสงครามการค้าของสหรัฐฯและจีนในสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ เนื่องจากในปี 2565 นี้ สภาพคล่องภายในตลาดยังอยู่ในระดับที่สูงและดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับที่ต่ำมาก และคาดว่าศักยภาพในการเติบโตของกำไรของบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทยจะเป็นปัจจัยหลักที่ดึงเงินลงทุนให้เข้ามาในตลาดหุ้นมากขึ้น

นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อยังเป็นอีกปัจจัยเสี่ยงที่มีโอกาสกดดันศักยภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยอัตราเงินเฟ้อมีโอกาสปรับตัวขึ้นสูงในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 จากฐานที่ต่ำ ราคาเชื้อเพลิง ราคาเนื้อสัตว์ที่สูงขึ้น และปัญหา Supply Shortage อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อของไทยจะไม่สูงเหมือนอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ เนื่องจากเศรษฐกิจของสหรัฐฯมีการเติบโตมาต่อเนื่องและมีปัญหา Cost Push Inflation

ในเกือบทุกส่วนของขั้นตอนการผลิต และปัจจัยเสี่ยงสุดท้ายคือการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 กลายพันธุ์หรือโรคระบาดใหม่ ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นนอกเหนือจาก Covid-19 สายพันธุ์ Omicron ที่ถึงแม้จะมีความสามารถในการแพร่ได้เร็วขึ้น แต่มีความรุนแรงที่น้อยกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ ประกอบกับอัตราการฉีดวัคซีนของประเทศไทยที่รวดเร็วกว่าหลาย ๆ ประเทศในกลุ่มประเทศ Emerging ทำให้สถานการณ์ไม่น่ากังวลเหมือนช่วงปี 2565

  ผลตอบแทนของตลาดหุ้นมีความสัมพันธ์กับการเติบโตของเศรษฐกิจหรือผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนอย่างชัดเจนในตลาดหุ้นทั่วโลก โดย GDP ของสหรัฐฯและเวียดนาม ปรับตัวสูงขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวทำจุดสูงสุดใหม่ด้วย สำหรับประเทศไทย GDP ยังไม่ได้ปรับตัวขึ้นไปทำจุดสูงสุดใหม่ เนื่องจากปัญหาภาคการท่องเที่ยว ทำให้ SET Index ยังไม่ปรับตัวขึ้นไปทำจุดสูงสุดใหม่เช่นกัน

ทั้งนี้ หาก GDP และผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในปี 2565 และ 2566 มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ GDP และผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนเป็นจุดสูงสุดใหม่ในปี 2566 ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยไม่มีการปรับตัวขึ้นมาก ก็เชื่อว่า SET Index ยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นจนสร้างจุดสูงสุดใหม่ในปลายปี 2565 หรือในปี 2566 ซึ่งจะทำให้การลงทุนในตลาดหุ้นไทยยังมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่เป็นบวกได้ในระยะ 1-2 ปีข้างหน้านี้