'ส.อ.ท.' ชงประกาศภาวะฉุกเฉิน สกัดสินค้านำเข้าชิงส่วนแบ่งตลาดไทย

'ส.อ.ท.' ชงประกาศภาวะฉุกเฉิน สกัดสินค้านำเข้าชิงส่วนแบ่งตลาดไทย

'ส.อ.ท.' แนะทางรอด "เอสเอ็มอี "ชงรัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินสินค้านำเข้าไม่ได้รับอนุญาตจากต่างประเทศ ที่มาแย่งส่วนแบ่งตลาดในประเทศไทย

KEY

POINTS

  • การผลิตยานยนต์ลดลงต่อเนื่อง มาจากการหดตัวของการบริโภคภายในประเทศ ทั้งปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ผู้บริโภคระวังในการจับจ่ายใช้สอย 
  • "เอสเอ็มอี" กังวลนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ที่จะกระทบต่อต้นทุนการผลิต ขณะที่การสิ้นสุดมาตรการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลของภาครัฐ ส่งผลต่อต้นทุนด้วย
  • ภาครัฐควรจะต้องประกาศสินค้านำเข้าโดยไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นภาวะฉุกเฉิน และรีบเร่งแก้ไข ไม่อย่างนั้นภาคการผลิตโดยเฉพาะเอสเอ็มอีจะไปไม่ไหว

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากตัวเลขดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมีนาคม 2567 ของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) อยู่ที่ระดับ 104.06 หดตัวร้อยละ 5.13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 โดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 62.39% ส่งผลให้ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ไตรมาสแรกของปี 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 100.85 หดตัวเฉลี่ย 3.65% และอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 60.45%

ทั้งนี้ สาเหตุหลักมาจากการผลิตยานยนต์ลดลงต่อเนื่อง จากการหดตัวของการบริโภคภายในประเทศ เนื่องจากปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย ประกอบกับการส่งออกลดลงเกิดจากความต้องการสินค้าในประเทศคู่ค้าในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย) ปรับตัวลดลง 

อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว ส่งผลให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องขยายตัว เช่น อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมการกลั่นปิโตรเลียม รวมถึงการเร่งใช้งบประมาณปี 2567 ของรัฐบาล คาดว่าจะส่งผลบวกให้ดัชนี MPI หลังจากนี้ปรับตัวดีขึ้น 

ในขณะที่ผลการสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนเมษายน 2567 อยู่ที่ระดับ 90.3 ปรับตัวลดลงจาก 92.4 ในเดือนมีนาคม 2567 เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของดัชนีฯ พบว่า ปรับตัวลดลงทุกองค์ประกอบ ทั้งยอดขายโดยรวม คำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ

ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลงเป็นผลมาจากการชะลอตัวของอุปสงค์ในประเทศ อาทิ สินค้ายานยนต์ เฟอร์นิเจอร์ สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอน

ส่งผลให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่าย ผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอีมีความกังวลต่อนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันเท่ากันทั่วประเทศ ซึ่งจะกระทบต่อต้นทุนการผลิต ขณะที่การสิ้นสุด มาตรการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล ของภาครัฐ ส่งผลให้ต้นทุนด้านพลังงานและค่าขนส่งปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันปัญหาภัยแล้งที่ทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลกระทบต่อผลผลิตสินค้าเกษตรและทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำ

นายเกรียงไกร กล่าวว่า ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาทุ่มตลาดในประเทศไทยและอาเซียน รวมถึงปัญหาความไม่แน่นอนของ เศรษฐกิจโลก และผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางรุนแรงขึ้น ทั้งนี้ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังไม่คลี่คลาย ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานในตลาดโลก รวมถึงปัญหาความไม่สงบในประเทศเมียนมาที่ส่งผลกระทบต่อการค้าชายแดน จึงต้องอาศัยมีปัจจัยบวกจากการเบิกจ่ายงบประมาณ ปี 2567 จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง

โดยต้นทุนใหญ่ของเอสเอ็มอีคือ ค่าแรง หากปรับขึ้นตามเป้าจะเพิ่มต้นทุนไม่ต่ำกว่า 20% หากเป็นกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมที่ไม่ใช้แรงงานเข้มข้นจะมีต้นทุนระดับ 5-7% ส่วนค่าไฟ ถ้าเป็นอุตสาหกรรมหนักขนาดใหญ่ที่ใช้ไฟเยอะ เช่น โรงหล่อ โรงงานแก้ว เหล็ก เยื้อกระดาษ ต้นทุนก็จะขึ้นไปถึง 30-40% ถ้าใช้พลังงานน้อยก็จะกระทบราว 5-6% 

"เอสเอ็มอีต้องเผชิญกับความท้าทายหลายอย่าง โดยเฉพาะต้นทุน อีกทั้งจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่รัฐบาลประกาศก็น่ากลัว ทำให้กำลังซื้อลดลง เอสเอ็มอีก็ลำบาก นอกจากต้นทุนแล้วรัฐต้องรีบแก้ไข คือ สินค้านำเข้าทั้งถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมายมาแย่งตลาดในไทย" 

ทั้งนี้ ภาครัฐควรจะต้องประกาศให้สินค้านำเข้าโดยไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นภาวะฉุกเฉิน และรีบเร่งแก้ไข ไม่อย่างนั้นภาคการผลิตโดยเฉพาะเอสเอ็มอีจะไปไม่ไหว อีกทั้งที่ก่อนหน้านี้เอกชนได้ตรึงราคาสินค้าไว้ก็ต้องปรับขึ้นราคาสินค้า เพราะทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคอ่อนแอก็ทำให้ธุรกิจไทยไม่สามารถเอาตัวรอดได้ เพราะผู้บริโภคก็ไม่ซื้อสินค้า 

"ที่ผ่านมามีการปรับต้นทุน 10% ผู้ผลิตก็อาจจะปรับราคาสินค้า 5% เพราะยอดขายที่ลดลงก็ส่งผลให้มีการนำเข้าของสินค้าจากต่างประเทศมากขึ้น ของที่คนไทยผลิตก็ขายไม่ได้อีก ดังนั้น โดยรวมการขึ้นค่าแรงต้องดูความชัดเจนทุกด้าน ทั้งการตรึงราคาพลังงาน ภาคการผลิตก็ขึ้นไม่เหมือนกัน ใครที่ต้นทุนสูงกว่าก็ต้องค่อยๆ ขึ้น ยกเว้นแต่เป็นสินค้าที่หาทดแทนไม่ได้ อาจจะขึ้นได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย"