ฝุ่นพิษ PM2.5 ไม่ใช่ปัญหาของคนกรุง?

ฝุ่นพิษ PM2.5 ไม่ใช่ปัญหาของคนกรุง?

ฝุ่นพิษ PM2.5 ที่เป็นปัญหาเรื้อรังที่คนกรุงเทพฯ สูดเข้าปอดโดยเฉพาะในช่วงหน้าหนาวนั้นเทียบได้กับการสูบบุหรี่ 1,261 มวน

ผลการรวมข้อมูลของ Rocket Media Lab ซึ่งอ้างอิงข้อมูลสถิติจาก The World Their Quality Project และเทียบค่าสารพิษจากบุหรี่จาก CMU CCDC ทำให้คนกรุงเทพฯ เห็นชัดมากขึ้นว่า ตัวเองนั้นอยู่ในเมืองที่มีภาวะเป็นพิษทางอากาศมากเพียงใด

ข้อมูลเฉลี่ยจากตลอดปี 2564 พบว่า กรุงเทพฯ ของเรานั้น มีคุณภาพอากาศที่แย่มากในระดับสีแดง 12 วัน และมีคุณภาพอากาศที่แย่ที่จะกระทบต่อกลุ่มคนที่มีสัมผัสไวต่อมลพิษถึง 61 วัน คิดเป็น 20% ของทั้งปี พูดให้เข้าใจง่ายที่สุด ก็คือ ในทุกๆ รอบ 5 วัน คนไทยสูดฝุ่นพิษไปแล้ว 1 วัน

ปัญหาฝุ่นพิษนี้ไม่ใช่ปัญหาใหม่ แต่เป็นปัญหาที่เรื้อรังในเมืองใหญ่ทั่วโลก กรุงเทพฯ ที่ดูเหมือนเป็นเมืองแห่งมลพิษนั้นยังห่างไกลกับหลายร้อยเมืองทั่วโลกที่มีปัญหาฝุ่นพิษหนักหนาสาหัสอย่างยิ่ง หากนำตัวเลขจาก IQAir มาดูให้ละเอียดจะพบว่า

โฮตัน เมืองขนาดกลางทางตะวันตกของจีน คือเมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดของโลก ส่วนท็อป 10 ของเมืองที่มีฝุ่นพิษเฉลี่ยสูงสุดต่อปีที่เหลือนั้นล้วนอยู่ในอินเดีย แต่สิ่งที่น่าแปลกใจที่สุดก็คือ เมื่อเราเลื่อนไปดูเรื่อยๆ ถึง ท็อป 20 จนถึง ท็อป 100 ของเหล่าเมืองที่มีอากาศแย่สุด ส่วนมากก็ยังอยู่ในอินเดียและจีน จะมีประเทศอื่นเข้ามาประปราย เช่น ปากีสถาน บังกลาเทศ และไทย

ปาย เมืองท่องเที่ยวเล็กๆ ในแม่ฮ่องสอนของเราติดอยู่ในอันดับที่ 75 ขณะที่เชียงใหม่ที่คนบ่นกันนักหนาถึงฝุ่นในช่วงปลายหน้าหนาวนั้นอยู่ที่อันดับ 383 ขณะที่กรุงเทพฯ นั้นอยู่ที่ 809 จากจำนวนเมืองหลายพันเมืองทั่วโลก ทั้งหมดทั้งมวลนี้บ่งบอกให้เห็นว่าเมืองใหญ่ในประเทศไทยนั้นมีปัญหามลพิษ ซึ่งทุกคนก็ทราบดีแล้ว ทราบมานานแล้วด้วย

แต่สิ่งที่ทุกคนไม่ทราบก็คือ อากาศพิษที่เราสูดเข้าไปทุกวันนั้นเปรียบเทียบได้กับบุหรี่ถึง 1,261 มวนเลยหรือ? และสิ่งที่ทุกคนไม่ทราบก็คือ เมื่อไหร่ปัญหานี้จะหมดไป หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถทำอะไรได้หรือไม่ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในเมืองใหญ่ นอกจากการเอารถออกฉีดหรือติดตั้งสายฉีดละอองน้ำ

ปัญหามลพิษนี้แท้จริงแล้วเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ กรณีศึกษาจากรัฐบาลจีนกับการกำจัดมลพิษในเขตกรุงปักกิ่ง ระดับมลพิษรอบกรุงปักกิ่งนั้นลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อรัฐบาลจีนออกนโยบาย “ทำให้ฟ้ากลับมาสีฟ้าอีกครั้ง” และก็ทำได้จริง

รัฐบาลจีนทำให้ฟ้ากลับมาสีฟ้าอีกครั้ง โดยใช้ทั้งยาอ่อนยาแรง อาทิ การช่วยย้ายโรงงานออกจากบริเวณ​ การสนับสนุนและให้โทษโรงงานในการปรับปรุงระบบเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายอากาศเสีย การสนับสนุนให้ครัวเรือนใช้พลังงานสะอาดทดแทนถ่านหิน การจำกัดจำนวนรถยนต์ ยังไม่รวมถึงการลงทุนอย่างมหาศาลในโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาระบบรางเพื่อการเดินทางขนส่งในเมืองใหญ่ การปรับปรุงกฎเรื่องของน้ำมันและการปล่อยของเสียจากยานพาหนะ

ผลลัพธ์ก็อยู่ในระดับที่น่าพอใจ คืออากาศมีคุณภาพที่ดีขึ้นถึงแม้จะไม่สามารถเทียบเคียงกับสวิตเซอร์แลนด์ แต่ก็ดีขึ้นกว่าเมื่อวาน และนั่นคือหัวใจสำคัญของการแก้ปัญหา มันจะต้องดีขึ้นกว่าเมื่อวาน และดีขึ้นไปเรื่อยๆ

จะเห็นได้ว่า ปัญหามลพิษทางอากาศนั้นแท้จริงแล้วเป็นปัญหาที่แก้ไขได้และทางออกเพื่อบริหารจัดการก็มีให้เห็นเป็นตัวอย่างมากมาย สำคัญที่สุด ก็คือ เราเห็นว่าปัญหานี้เป็นปัญหาหรือไม่? และเรามีทัศนคติว่าปัญหานี้นั้นจัดการได้หรือไม่? เท่านั้นเอง