มุมมองจากอดีต .... ย้อนดูหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีปรับฐาน

มุมมองจากอดีต .... ย้อนดูหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีปรับฐาน

น่าจะนับเป็นช่วงเริ่มต้นปีที่เรียกได้ว่าไม่ค่อยสวยหรูนักสำหรับนักลงทุนกลุ่มเทคโนโลยีที่น่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นไม่น้อยในช่วงสองสามปีล่าสุด หลังจากปรับตัวลดลงต่อเนื่องภายใต้สภาพแวดล้อมที่ดูจะไม่เอื้ออำนวยนัก

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเงินเฟ้อที่ยังคงกดดัน ดอกเบี้ยอาจจะขึ้นเร็วกว่าที่คาดไว้ และสภาพคล่องที่อาจจะลดลงจากประเด็นเรื่องของการลดขนาดงบดุลของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่อาจจะเร็วกว่าคาด

โดยระหว่างที่เรายังน่าจะต้องรอความชัดเจนมากขึ้นจากธนาคารกลางสหรัฐฯ โดยเฉพาะการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ในวันที่ 25-26 มกราคมที่จะถึงนี้ เราลองมาย้อนดูการปรับฐานของหุ้นเทคโนโลยี โดยในที่นี้ขอใช้ดัชนี NASDAQ Composite เป็นตัวแทน ในการย้อนกลับไปดู

โดยข้อมูลในอดีตเหล่านี้อาจจะเป็นข้อมูลที่ช่วยให้นักลงทุนแต่ละท่านตัดสินใจการลงทุนที่มีอยู่ได้ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลดสัดส่วน ชะลอการลงทุน หรือแม้แต่สะสมการลงทุนเพิ่มเติม (คำนวณจาก Drawdown หรือ การขาดทุนสะสมที่เคยเกิดขึ้น วัดจากจุดสูงสุดก่อนหน้าการลงทุน ข้อมูลจาก Bloomberg)

ครั้งที่ 1 “Dot-com Bubble” ปรับฐาน 77.8% และกินเวลาต่อเนื่องจาก มี.ค. 2000 ถึง เม.ย. 2015

น่าจะเป็นการปรับฐานครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การลงทุนกับเรื่องของภาวะฟองสบู่ในหุ้นอินเทอร์เน็ต หรือ ที่เรารู้จักกันดีในชื่อ “Dot-com Bubble” ที่มาพร้อมกับความคาดหวังและตื่นตัวของอุตสาหกรรม Information Technology (IT) ที่คาดว่าจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงสังคม และทำกำไรอย่างก้าวกระโดด ทำให้นักลงทุนให้มูลค่าหุ้นในกลุ่มนี้สูงกว่าความเป็นจริง สะท้อนจากอัตราส่วน Forward P/E ที่ซื้อขายกันที่ระดับราวๆ 160 เท่า (เทียบกับในภาวะปรกติของดัชนีที่ 17-25 เท่า และเฉลี่ยเกิน 30 เท่า 

       ในช่วงหลังจากการแพร่ระบาด) ซึ่งระดับการซื้อขายเหล่านี้เป็นตัวสะท้อนมุมมองการเติบโตและความคาดหวังของนักลงทุนได้เป็นอย่างดี ทั้งอัตราการเติบโตและความต่อเนื่องของการเติบโตดังกล่าว เช่น หากผลประกอบการเติบโต 100% ระดับการซื้อขายก็จะลดลงมาอยู่ที่ 80 เท่า และหากยังเติบโตได้อีก 100% ก็จะลดลงมาอยู่ที่ 40 เท่าเป็นต้น

ซึ่งในท้ายที่สุดบริษัทส่วนใหญ่ก็ยังไม่สามารถตอบโจทย์ความคาดหวังดังกล่าวได้ ส่งผลให้เกิดการปรับฐานอย่างรุนแรงและกินเวลาต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนานถึง 15 ปี (ลองจินตนาการ เมื่อความคาดหวังหมดไป ต่อให้ผลประกอบการเท่าเดิม การจะกลับมาซื้อขายที่ระดับ P/E 20 เท่า ราคาหุ้นจะต้องลดลงเหลือเพียง 1/8 เท่านั้นโดยประมาณ)

ครั้งที่ 2 เศรษฐกิจชะลอตัว ปรับฐาน 18.2% เริ่มตั้งแต่ช่วง ก.ค 2015 ถึง ส.ค. 2016

การปรับฐานในช่วงปี 2015 ต่อเนื่องมาถึง 2016 กินระยะเวลาปีกว่าๆ เกิดจากหลากหลายสาเหตุประกอบกัน นำโดยการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่มีบทบาทต่อเศรษฐกิจโลกมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะนั้น ทำให้ความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกแพร่ออกไปในวงกว้าง โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็มีแนวโน้มชะลอตัวลงในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย

ส่วนหนึ่งอาจะเป็นผลมาจากการยุติโครงการ Quantitative Easing 3 ในเดือน ต.ค. 2014 ทำให้สภาพคล่องในตลาดการเงินลดลง ในขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอ สร้างความกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินฝืด (Deflation) และเศรษฐกิจถดถอย และส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องชะลอวัฏจักรขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ยไปก่อน โดยปรับขึ้นดอกเบี้ยเพียงครั้งเดียวก่อนจะหยุดไปตลอดปี 2016 และกลับมาขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งอย่างต่อเนื่องหลังจากนั้น เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวแล้ว ( Fed ขึ้นดอกเบี้ย 8 ครั้งในระหว่างปี 2017-2019)

ครั้งที่ 3 Trade War ปรับฐาน 23.6% เริ่มตั้งแต่ช่วง ก.ย. 2018 ถึง เม.ย. 2019

ปัญหา Trade War ระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่สร้างความกังวลให้กับนักลงทุนและก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างต่อตลาดหุ้นทั่วโลก เริ่มต้นขึ้นในช่วงต้นเดือน ก.ค. 2018 หลังจากสหรัฐฯ ปรับขึ้นภาษีนำเข้า 25% จากสินค้าจีนจำนวน 818 รายการรวมมูลค่ากว่า 34,000 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในขณะที่จีนก็ตอบโต้ด้วยการเก็บภาษีในทำนองเดียวกันและมูลค่าใกล้เคียงกัน ซึ่งแน่นอนว่าการก่อกำแพงภาษีใส่กันก่อให้เกิดต้นทุนทางการค้า และไม่ได้ส่งผลกระทบแค่สหรัฐฯ หรือ จีน แต่ส่งผลให้มูลค่าการค้าระหว่างประเทศทั่วโลกลดลงในภาพรวม และส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยความไม่แน่นอนจากปัจจัยดังกล่าวทำให้ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ปรับฐานรวมถึงหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีด้วย โดยรอบนี้ใช้ระยะเวลาราวๆ 8 เดือนก่อนจะฟื้นกลับมา

ครั้งที่ 4 COVID-19 ปรับฐาน 30.2% เริ่มตั้งแต่ช่วง กพ. ถึง มิ.ย. 2020

ครั้งล่าสุดกับการปรับฐานอย่างรุนแรง ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในรอบแรก ซึ่งมาพร้อมกับมาตรการที่เข้มงวดของภาครัฐฯ ในความพยายามที่จะควบคุมสถานะการณ์ ทำให้นักลงทุนเทขยายสินทรัพย์เสี่ยงและหันกลับไปถือสินทรัพย์ปลอดภัยออกมาอย่างมาก แต่หลังจากสถานะการณ์ในภาพรวมดีขึ้น หุ้นกลุ่มเทคโนโลนีก็ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว โดยช่วงเวลาที่ติดลบจากจุดสูงสุดกินระยะเวลาเพียงราวๆ 4 เดือน และกลับเป็นขาขึ้นอย่างเต็มตัว หลังจากหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีได้ประโยชน์อย่างมากจากสถานะการณ์ที่ส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป

ข้อมูลการปรับฐานในอดีตอาจจะไม่ได้บอกถึงอนาคต แต่ก็นับได้ว่าเป็นบทเรียนที่ดี โดยการปรับฐานเกิดจากปัจจัยหลากหลาย เช่น การให้มูลค่ามากเกินไป ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ รวมถึงเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่แทรกเข้ามา (Shock) ไม่ว่าจะเป็น Trade War หรือ การแพร่ระบาดของโรคติดต่อ ที่ไม่ได้เป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจโดยตรง ในขณะที่หากมีการปรับฐานเกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน ปัจจัยก็น่าจะเกิดมาจากเรื่องของพื้นฐานจากนโยบายการเงินและสภาพคล่องที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นหลัก แต่จะทำอย่างไรกับการลงทุนในหุ้นกลุ่มเทค กองทุน Thematic กลุ่มเติบโตไวต่างๆ ที่ทุกท่านถือครองอยู่นั้น หวังว่าเมื่อทบทวนบทเรียนครบแล้วน่าจะพอมีคำตอบในใจบ้างครับ

หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด